ตัวแค่นี้เครียดเป็นด้วยเหรอ? เด็กวัยอนุบาลก็เกิดความเครียดได้เหมือนกันครับ ซึ่งความเครียด หากปลอ่ยไว้อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้... เรามารู้จัก รู้ทัน พร้อมทั้งป้องกันความเครียดในเด็กกันครับ
ความเครียดเกิดจาก...สาเหตุที่ทำให้เด็กก่อนวัยเรียน (3-6 ขวบ) เครียด มี 2 ปัจจัย
1. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในครอบครัว
- คุณพ่อคุณแม่ที่มักทะเลาะกัน และใช้ความรุนแรง พอเด็กรู้เด็กเห็นก็จะเครียด เกิดความกังวล กลัวคุณพ่อคุณแม่ทิ้งเขาไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มักคิดว่าไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้วเด็กเครียด เด็กกังวลครับ
- การมีน้องใหม่ เมื่อมีน้องเกิดมาอีกหนึ่งคน ผู้ใหญ่และคนในครอบครัวจะหันไปให้ความสนใจน้องมากกว่าพี่ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้รับการดูแลอย่างดี ป้อนข้าว อาบน้ำให้ แต่พอมีน้องอีกคนก็จ้างพี่เลี้ยงมาดูแลเขาแทน กรณีนี้ทำให้เด็กเครียดได้ครับ
- การเปลี่ยนแปลงหรือแยกจาก เช่น เปลี่ยนพี่เลี้ยงที่เคยเลี้ยงเขามานาน หรือคุณปู่คุณย่าที่เคยดูแลเขาอย่างใกล้ชิดเสียชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น เปลี่ยนห้องนอน เด็กก็เครียดได้เหมือนกันครับ
2. เกิดจากตัวเด็ก
- เมื่อเด็กเจ็บป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล ผ่าตัด ให้ยาแรงๆ
- การเปลี่ยนแปลงพัฒนาการตามวัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกตของเด็ก เช่น ช่วงแรกๆ ที่เด็กต้องเข้าโรงเรียน ทำให้ต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ ห่างจากคนที่เขารัก ห่างบ้าน ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ที่โรงเรียน เพื่อนใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่
- จากพันธุกรรมและพื้นฐานอารมณ์ เด็กบางคนจะเกิดความเครียดได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมของลูกครับ ซึ่งเด็กที่เข้าข่ายเครียดง่ายมักจะมีนิสัย ขี้อาย ขี้กลัว ไม่ค่อยเข้าสังคม
อาการ...เด็กเครียด!
เป็นที่น่าตกใจครับว่า ส่วนใหญ่ตัวคุณพ่อคุณแม่มักไม่รู้ว่าเด็กกำลังเครียด ซึ่งผมมีวิธีการสังเกตดังนี้ครับ
- เมื่อเด็กเกิดความเครียด ส่วนใหญ่จะแสดงอาการทางกายออกมาให้เห็น เช่น เด็กจะมีพฤติกรรมถดถอย เพื่อเรียกร้องความสนใจ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามาโอ๋ เข้ามาสนใจเป็นพิเศษ เขาจะขี้อ้อน เข้ามานัวเนียคุณพ่อคุณแม่ จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ พอเกิดความเครียดกลับทำไม่ได้ หรือจากที่เคยเดินได้เอง แต่กลับไม่ยอมเดิน ต้องให้คุณพ่อคุณแม่อุ้ม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นเด็กต้องแสดงออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หลายๆ ครั้ง จึงจะบอกได้แน่ชัดว่าเด็กเครียดจริง
- เด็กบางคน เมื่อเครียดก็จะปวดท้อง ปวดหัว หรืออาเจียน ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน เพราะเด็กไม่อยากไปโรงเรียน
- นอกจากนี้ เราสามารถสังเกตว่าเด็กเครียดหรือไม่ จากสีหน้าที่แสดงออกครับ เช่น การที่เด็กทำหน้านิ่วคิ้วขมวดครับ
- ความเครียดของเด็กบางคนจะส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน คือ เข้านอนยากขึ้น ฝันร้ายบ่อยๆ หรือติดคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
- ส่วนพฤติกรรมทางภาษาที่จะบ่งบอกว่าเด็กเครียดมีบ้าง แต่ไม่บ่อย เด็กมักจะพูดกับคุณพ่อคุณแม่ว่า ไม่ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือกลัว แทนที่จะพูดว่าตนเองเครียดออกมาตรงๆ เหมือนกับผู้ใหญ่ที่รู้ว่าตนเองเครียด เพราะพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กยังไม่ดีพอ และยังไม่รู้ว่าอาการที่กำลังเผชิญอยู่คือความเครียด
เครียด..ส่งผลกับพัฒนาการ
- พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เด็กที่เครียดมักไม่ร่าเริงแจ่มใส เวลาเข้าสังคมจะขาดทักษะการปฏิสัมพันธ์ ไม่เล่นกับเพื่อน ไม่สุงสิงกับใคร พอไปเล่นกับเพื่อน เพื่อนไม่ยอมเล่นด้วย จึงหงุดหงิดใส่เพื่อน ทำให้ทะเลาะกัน
- พัฒนาการด้านการเรียนรู้ เด็กจะเรียนรู้ได้ดีทั้งในและนอกห้องเรียนมักจะมีบุคลิกที่ร่าเริงแจ่มใส ชอบที่จะได้ออกไปสำรวจ ทดลอง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่สำหรับเด็กที่เครียดจะไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว หรือมีน้อยครับ คือเรียนรู้ได้น้อย และไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
- พัฒนาการด้านร่างกาย ซึ่งเป็นผลทางอ้อมครับ เพราะเด็กไม่ค่อยได้ออกกำลังในการปีนป่าย วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง
- พัฒนาการทางภาษา ซึ่งเป็นผลทางอ้อมเช่นเดียวกันครับ คือ เด็กไม่ค่อยได้คุยกับเพื่อน ทำให้พัฒนาการทางภาษามีน้อย
รู้ทัน ...เครียดในเด็ก
คุณพ่อคุณแม่มีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้ลูกหายจากความเครียด โดยการหาสาเหตุว่าเด็กเครียดเพราะอะไร เช่น
- หากเด็กเครียดจากการมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหันกลับมาให้ความสนใจ เคยดูแลเขาอย่างไร ก็ต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่พอมีลูกคนที่สองแล้ว ก็ไปให้ความสนใจมากเสียจนลืมลูกคนแรก
- เวลาที่คุณพ่อคุณแม่มีปากเสียงกัน ไม่ควรให้ลูกเห็น หรือถ้าลูกเห็นแล้วก็อธิบายให้เขาฟังว่า การที่พ่อแม่เสียงดังใส่กัน พ่อแม่ไม่ได้โกรธกัน พ่อแม่ยังรักกันเหมือนเดิม แล้วยังรักลูกเหมือนเดิม แต่ที่ดีที่สุดก็อย่าทะเลาะกันให้ลูกเห็นจะดีกว่าครับ
- ถ้าเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ เช่น เด็กเครียดเพราะพี่เลี้ยงที่ดูแลเขามาหลายปี ที่เขาผูกพันแยกไปมีครอบครัว เมื่อเด็กรู้ก็จะเครียด คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยประคับประคอง หาสิ่งทดแทน โดยการเข้ามาดูแลเขามากขึ้นกว่าปกติ ให้เวลากับลูกมากขึ้นครับ
- ก่อนลูกเข้าโรงเรียน เตรียมความพร้อมด้วยการพูดคุยกับลูกเรื่องโรงเรียน พาไปดูโรงเรียนก่อน โดยมีคุณพ่อคุณแม่อยู่เป็นเพื่อน จนเด็กคุ้นเคยกับสถานที่
- สำหรับวิธีการแก้เครียดโดยให้เด็กทำกิจกรรม เช่น ฝึกการหายใจ มักไม่ค่อยได้ผล และทำได้ยาก เพราะเด็กเล็กเกินไป ไม่เข้าใจคำสั่ง หนำซ้ำเด็กบางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเครียด
คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเกี่ยวกับความเครียดของเด็กกันมากขึ้นแล้วนะครับ อย่าลืมนำไปใช้ในการดูแลเจ้าตัวเล็ก เพื่อทั้งผู้ปกครองและเด็กจะได้ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดี เป็นครอบครัวไม่เครียดงครับ
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1067&sub_id=2&ref_main_id=2