ทุกวันนี้ใครๆ ก็ลุ่มหลงกับเครือข่ายสังคมทางอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Network กันทั้งนั้น ใครไม่รู้จัก Social Media ประเภท facebook, twitter, Hi5 หรือแม้แต่ chat room ทั้งหลาย
ดูออกจะเชย และมีสิทธิ์โดนดูหมิ่นดูแคลนเอาง่ายๆ
บางคนลุ่มหลงถึงขนาดว่าจะไปกินข้าวนอกบ้าน ยังต้องถามใน facebook เพื่อขอความเห็นจากบรรดาเครือข่ายว่าควรจะไปกินที่ไหนดี
เครือข่ายสังคมเสมือนจริง (Virtual Social Network) กำลังมาแรง แถมหลายคนคิดว่ามันเป็นของจริง มันสามารถทดแทนเครือข่ายทางสังคมแบบเดิมๆ หรือแบบที่เราพบปะเห็นหน้าค่าตากันได้ และคิดว่ามันจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา
จึงเกิดคำถามว่ามันสามารถ “สร้างเครือข่ายทางสังคมที่มีคุณภาพ” ให้เราได้จริงหรือ จะเกิดอะไรขึ้น หากสังคมของเราในอนาคตจะเชื่อมต่อกันด้วยวิธีเพียงแค่การใช้เครือข่ายเสมือนจริงอย่างนี้ ไม่มีการไปมาหาสู่กัน ไม่ได้เห็นหน้าที่เต็มไปด้วยความสุขหรือทุกข์ของเพื่อน ไม่สามารถบีบมือแสดงความยินดีกับเพื่อน หรือโอบกอดเพื่อปลอบประโลมเพื่อนให้คลายทุกข์
เรากำลังใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเสมือนจริงเหล่านี้เกินความสามารถของมันหรือเปล่า คำถามเหล่านี้ น่าคิดครับ
ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้ ไม่ว่าใครจะขอให้เป็นสมาชิก facebook หรือ social Media ประเภทใดๆ ก็ตาม ผมไม่เคยตอบตกลง และไม่คิดว่ามันจะสามารถทดแทนการสร้างและรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในแบบเดิมๆ ได้
สำหรับผม มันเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง มันไม่สามารถที่จะทดแทนเครือข่ายทางสังคมแบบของจริงได้
และแม้จะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ก็ใช่ว่ามันจะทำงานได้สมบูรณ์ในทุกสถานการณ์ บางครั้งคนเราก็ต้องการสื่ออะไรที่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนกัน ซึ่ง Social Media ก็อาจใช้ไม่ได้
การสร้างเครือข่ายทางสังคมของมนุษย์ การสร้างความเป็นเพื่อนระหว่างกันของมนุษย์ ต้องการมากกว่าการเขียนข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดเพื่อบอกความเป็นไป มุมมอง หรือจุดยืนของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้
มีคนตั้งคำถามว่า การมี Internet การมี Social Media ทำให้มนุษย์รักกันมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้นจริงหรือ
คำตอบก็คือ มันทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกมากขึ้น รู้จักกันได้เยอะขึ้น ไวขึ้น แต่เป็นความรู้จักที่ฉาบฉวย ขาดความลึกซึ้ง ขาดทักษะในการรักษาและพัฒนาสัมพันธภาพ และมีโอกาสที่มันจะทำให้เรากลายเป็น “คนมีเพื่อนเยอะผู้โดดเดี่ยว” เพราะเรารู้จักและคบหากับคนจำนวนมากบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น
มิตรภาพแบบนี้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ของเราในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ยุคที่ต้องการความร่วมไม้ร่วมมือ ความเห็นอกเห็นใจ ความปรองดองมากกว่า ต้องการทักษะในการรักษา และการพัฒนาสัมพันธภาพที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม
และลูกหลานของเราก็ยิ่งจำเป็นจะต้องมีทักษะดังที่กล่าวมากกว่า เพราะโลกอนาคตของพวกเขาจะยิ่งซับซ้อนมากกว่าโลกในยุคของเรา
ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของเซลล์กระจกเงา ความรู้เกี่ยวกับการเกิดวงจรเซลล์สมองในสมองของเรา ทำให้เรารู้ว่าความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความปรองดอง ความร่วมไม้ร่วมมือกับผู้อื่น ความสามารถในการสร้างและแก้ไขปัญหาด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้โดยการเลียนแบบ (Imitative Learning) และการลองผิดลองถูก (Learning by Doing)
นั่นแปลว่าลูกหลานของเราจะต้องได้เห็นต้นแบบในการสร้างสัมพันธภาพของเรากับผู้อื่น นั่นแปลว่าลูกหลานของเราจะต้องได้มีโอกาส “ฝึกปฏิบัติ” เพื่อการสร้าง และแก้ปัญหาสัมพันธภาพ ตลอดจนสั่งสมทักษะและประสบการณ์ในการสร้างเครือข่ายทางสังคมของเขาเอง
สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไป และเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตของเขาในอนาคต Internet หรือ Social Media ไม่สามารถให้โอกาส หรือเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกหลานของเราได้อย่างแน่นอน
การสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เป็นจริง ที่สามารถพบปะพูดจากันได้ ที่สามารถจับต้องสัมผัสได้จริงๆ ของเรา จึงไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีเพื่อนที่อาศัยไหว้วานช่วยเหลือกันได้จริงๆ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นบทเรียนให้ลูกหลานของเราได้สัมผัส ลอกเลียน และสั่งสมเป็นประสบการณ์ได้อีกด้วย
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร มันเป็นธรรมชาติของสังคมไทยอยู่แล้ว สังคมของเราเป็นสังคมที่นับถือเครือญาติ ถึงไม่ใช่ญาติพอคบหาสนิทสนมกันนานเข้าก็นับถือกันเป็นลุงป้าน้าอากันได้ อาจจะมีช่วงหลังที่เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้น้อยลง แถมยังมีสื่ออื่นเข้ามาแทรก เราเลยละทิ้งค่านิยมที่ดีงามอันนี้ไป แต่มันก็สามารถพลิกฟื้นกลับขึ้นมาได้
ถ้าไม่อยากให้ลูกเติบโตเป็น “คนมีเพื่อนเยอะผู้โดดเดี่ยว” สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ การมีเพื่อนเยอะๆ การเปิดโอกาสให้ลูกของเราได้พบปะสังสรรค์กับครอบครัวเพื่อนๆ ของเรา และจะต้องไม่ลืมว่า Internet หรือ Social Media ไม่ใช่คำตอบสำหรับการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่มีคุณภาพสำหรับเราและลูกของเรา
เครือข่าย (ทางสังคม) ของพ่อแม่นั่นแหละ คือสิ่งที่จะช่วยสร้างเครือข่าย (ทางสังคม) ให้กับลูกในอนาคต
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=872&sub_id=2&ref_main_id=2