เด็กอนุบาลเป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งพัฒนาการตามวัยที่สามารถทำอะไรเองได้มากขึ้นด้วย ทำให้ลูกวัยนี้ชอบท้าทาย ชอบแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าเจ้าตัวน้อยวัยนี้ของคุณยังไม่รู้จัก
เด็กอนุบาลเป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งพัฒนาการตามวัยที่สามารถทำอะไรเองได้มากขึ้นด้วย ทำให้ลูกวัยนี้ชอบท้าทาย ชอบแก้ปัญหาด้วยตัวเองค่ะ ดังนั้นถ้าเจ้าตัวน้อยวัยนี้ของคุณยังไม่รู้จักคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองละก็ นิ่งนอนใจไม่ได้นะคะ
ทำไมลูกยังแก้ปัญหาไม่เป็น
“คุณแม่คะ หยิบตุ๊กตาให้หนูหน่อย”
“คุณพ่อครับ ตัดกระดาษให้หน่อย”
“ไม่มีกรรไกรผมตัดไม่ได้”
“ของเล่นเต็มโต๊ะเลย หนูไม่มีที่วางหนังสือ”
ฯลฯ
คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินประโยคขอร้องแบบนี้จากลูกอยู่บ่อยๆ และถ้าท่านไหนทำตามที่ลูกร้องขอ รู้มั้ยค่ะว่านั่นจะยิ่งทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาค่ะ โดยเรื่องนี้ยังรวมไปถึงทักษะการช่วยเหลือตัวเองตามวัยด้วย
ซึ่งเด็กที่ขาดทักษะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ 4 สาเหตุหลัก คือ
1. พื้นอารมณ์ของเด็ก ที่จะมีการตอบสนองต่อคนหรือสถานการณ์แปลกใหม่แตกต่างกัน บางคนก็จะเข้าหา ในขณะที่เด็กบางคนก็จะรีรอเพื่อให้มั่นใจก่อนว่าปลอดภัยหรือไว้ใจได้
2. การเปิดโอกาสและการเป็นต้นแบบของผู้ใหญ่ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะบอกคำตอบลูกทันที ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดเอง ซึ่งจริงๆ แล้วโอกาสที่พ่อแม่จะกระตุ้นให้ลูกได้คิดเอง ทำเอง ควรเริ่มทำจากเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น เวลาที่ลูกวางของเล่นไว้เต็มโต๊ะ จนไม่เหลือพื้นที่จะวางของ แทนที่พ่อแม่จะช่วยหยิบของออกให้ ควรตั้งคำถามก่อนว่า “เราจะทำยังไงดี ถ้าอยากให้มีที่ไว้วางของ” คำถามประเภทนี้ก็จะช่วยให้ลูกได้ใช้ความคิดและรู้จักวิธีแก้ปัญหามากขึ้นค่ะ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเป็นต้นแบบที่ดีของผู้ใหญ่ เช่น พูดเชิงปรารภกับตัวเองเวลาต้องแก้ปัญหา “โอ้โฮ รกจังไม่มีที่วางของเลย แม่เก็บของที่ไม่ใช้ลงกล่องดีกว่า” เป็นต้น
3. ผู้ใหญ่ชอบห้าม หรือชอบช่วยเด็ก อย่าออกไปนอกบ้านนะลูก อย่าเล่นทรายนะมันสกปรก การห้ามหรือช่วยเด็กแบบนี้อาจเกิดจากความรัก ความเป็นห่วง แต่นั่นเป็นการปิดกั้นความคิดและการฝึกฝนการแก้ปัญหาของเด็กค่ะ
4. ขาดการเล่น เพราะขณะที่เล่นลูกจะได้สลองผิดลองถูกและแก้ปัญหา ซึ่งยุคปัจจุบันที่พ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญของการเล่น แต่กลับมุ่งเน้นการเรียนวิชาการ
พัฒนาการตามวัยกับการแก้ปัญหา
เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับ “ความกระหายที่จะเรียนรู้” ต่อให้เป็นเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์ประเภทรีรอที่จะทำก็ตาม แต่ถ้าเขามั่นใจว่าไว้ใจได้หรือปลอดภัย เขาก็จะพร้อมที่จะเรียนรู้ เผชิญปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ซึ่งความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองของเด็กแต่ละคน ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่พ่อแม่สอนลูกค่ะ เทคนิคที่ว่าก็เป็นการตั้งคำถามให้ลูกได้คิดเอง หรือฝึกการช่วยเหลือตัวเองตามวัยที่เหมาะสมนั้นเอง ซึ่งก็มีเด็กบางคนสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ตั้งแต่วัยก่อน 1 ขวบแล้วค่ะ
ถ้าเรื่องง่ายๆ ลูกก็ยังทำไม่ได้
มีพ่อแม่หลายคนที่บ่นว่าลูกทำอะไรไม่เป็นเลย ไม่รู้จักแก้ปัญหาแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการแกะถุงขนม การแต่งตัว การกินข้าว ก็จะเรียกหาแต่พ่อแม่ตลอด ไม่แม้แต่จะคิดหาวิธีในการทำด้วยตัวเองเลย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจเกิดจาก 3 ปัจจัยนี้ค่ะ
1. การพัฒนาด้านร่างกายไม่สมบรูณ์ ปกติแล้วเด็กจะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือที่ใช้ได้ดีตั้งแต่ 3 ขวบ แต่ถ้าเด็กวัย 3-6 ขวบ ยังใช้กล้ามเนื้อมือได้ไม่ดี อาจเกิดจากการไม่ได้ฝึก เช่น ช่วงวัยคลาน แล้วไม่ได้คลาน เพราะการคลานเป็นพัฒนาการทางธรรมชาติเพื่อเตรียมกล้ามเนื้อมือของเด็ก หรือวัยเด็กเล็ก เขาควรได้ใช้มือหยิบ จับ ปั้น หรือทำสิ่งต่าง ๆ แต่ไม่ได้ทำ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้พ่อแม่สามารถช่วยลูกได้ด้วยการส่งเสริม เช่น ปั้นแป้งโดว์ ประดิษฐ์สิ่งของ วาดรูป ต่อบล็อก ฉีกหรือตัดกระดาษ
2. พ่อแม่คอยช่วยเหลือตลอด ทักษะการช่วยเหลือตัวเองที่เด็กควรทำได้ตามวัย แต่กลับทำไม่ได้ มักมีสาเหตุมาจากการที่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือ เวลาที่เด็กกำลังช่วยเหลือตัวเองหรือแก้ปัญหาที่ท้าทายอยู่นั้น พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่คอยระวังไม่ให้เกิดอันตราย หากเขาร้องขอความช่วยเหลือ เราอาจให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือบางส่วนแล้วให้เขาลองทำต่อ
3.ตำหนิลูกมากเกินไป หรือให้ลูกลิ้มรสแต่ความล้มเหลว เด็กที่มักถูกตำหนิ หรือเด็กที่ทำสิ่งใดแล้วล้มเหลวบ่อยๆ จะเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง จนไม่อยากทำอะไรเอง ดังนั้นจึงไม่ควรหางานที่ยากเกินไปหรืองานที่ไม่สมวัยให้ลูกทำ
แก้ปัญหาไม่เป็น โตขึ้นอาจมีปัญหา
การที่ไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเองหรือเจออุปสรรคก็เรียกหาแต่พ่อแม่ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้รู้ว่าลูกไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ซึ่งถ้าไม่สนใจถึงปัญหาเรื่องนี้ คนที่ลำบากที่สุดก็คือตัวเด็กเองค่ะ
เพราะการที่ไม่เคยถูกฝึกทักษะการแก้ปัญหาตั้งแต่เล็กๆ โตขึ้นลูกก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่รู้จักการวางแผน ใช้อารมณ์และอำนาจในการตัดสินปัญหา ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาผิดๆ อาจใช้ความรุนแรง หรือหนีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเด็กๆ ไม่ได้รับการฝึกฝนให้แก้ปัญหาด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ เมื่อเติบใหญ่ในวันข้างหน้าก็อาจเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมในอนาคตได้ค่ะ
สอนลูกอย่างไร ให้รู้จักแก้ปัญหา
เด็กจะรู้วิธีแก้ปัญหาหรือไม่นั้น นอกจากจะเกิดขึ้นจากการอยากเรียนรู้ตามธรรมชาติแล้ว พ่อแม่ก็สามารถสอนลูกได้ดังนี้
เป็นต้นแบบที่ดี ต้นแบบคนสำคัญคงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูค่ะ เพราะเด็กๆ ก็จะดูวิธีการแก้ปัญหาจากต้นแบบนั่นเอง เช่น เวลาเจออุปสรรคพ่อแม่ต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ดี ไม่หนีปัญหา คิดว่าปัญหาเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย แต่ถ้าพ่อแม่เอาแต่บ่นเมื่อเจอปัญหา เด็กก็จะเลียนแบบสิ่งเหล่านั้นค่ะ
ให้โอกาสลูกได้ทำเอง เมื่อถึงวัยที่ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ควรปล่อยให้ลองทำเองบ้าง เช่น ให้กินข้าวเอง แต่งตัวเอง เป็นต้น
ให้ลูกเจออุปสรรคบ้าง ถ้าลูกต้องการให้หยิบของให้ ไม่ควรหยิบให้ลูกทันที แต่ควรใส่อุปสรรคด้วยการใช้คำถามให้ลูกได้คิด เช่น “ทำไมลูกถึงหยิบเองไม่ได้” เด็กก็จะได้คิดแล้วว่าเพราะว่ามันหนักหรือใหญ่เกินไป
หรือบางครอบครัวที่ชอบเล่นทำอาหารกับลูก เมื่อถึงเวลาที่ลูกเอาอาหารมาเสิร์ฟ ก็ไม่ควรชิมทันที แต่ควรตั้งคำถามให้คิด เช่น ถ้ากินแล้วไม่เค็มไป หรือหวานไป ต้องทำอย่างไร ซึ่งคำถามนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกใช้ความคิด ทำให้เกิดทักษะการแก้ปัญหาค่ะ
โรงเรียน คุณครู ผู้ช่วยเหลือเด็กๆ
คุณครูก็มีส่วนสำคัญในการสอนให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา เพียงแค่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดแก้ปัญหาเองบ้าง ด้วยการลดการออกคำสั่ง กระตุ้นให้เด็กคิด ด้วยการตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็กตอบ คือ อย่ามีคำตอบเดียวประเภทคำถามที่ให้ตอบแค่ใช่หรือไม่ใช่ ควรเป็นคำถามที่ให้ได้คิดเองมากขึ้น คุณครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ตกลงกติการะหว่างครูกับเด็กร่วมกัน เพราะถ้าเด็กได้ตั้งกฎกติกาเองแล้ว เด็กก็จะเคารพกฎและทำตาม เช่น ตกลงกันว่าจะทำอย่างไรเวลาเล่นของเล่นเสร็จค่ะ ตกลงกันว่ากิจกรรมนี้ใครจะเป็นคนทำอะไร อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้โรงเรียนควรมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมทำอาหาร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ (ทำความสะอาดโรงเรียน) ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่การทำกิจกรรมค่ะ ไม่ควรให้เด็กรอคำสั่งครูเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เด็กเป็นคนได้คิดวางแผนกิจกรรมเองด้วยค่ะ
เพียงแค่พ่อแม่วางเป้าในการเลี้ยงลูกให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเจออุปสรรคแค่ไหน ลูกก็จะผ่านมาได้ เพียงแค่... • ทำให้ลูกรู้สึกตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการที่เด็กรู้สึกว่า “หนูทำได้” โดยให้โอกาสลูกได้ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ควรทำได้ตามวัยด้วยตนเองค่ะ • มีค่านิยมที่ดี เช่น ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ แบ่งปัน เห็นอกเห็นใจ • มีความกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ และพัฒนาตนเอง มีทักษะสังคม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเพื่อน ได้ฝึกฝนการแก้ข้อขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ได้พัฒนาทักษะการดำรงชีวิตในสังคม |
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=867&sub_id=2&ref_main_id=2