เรียนรู้ด้วยมือ ตา และปาก


719 ผู้ชม


ตั้งแต่ลูกเริ่มเอื้อมมือคว้าได้ เดี๋ยวนี้เจออะไรเป็นต้องคว้าเข้าปากทุกที นี่แหละพัฒนาการขึ้นสำคัญของหนูน้อยที่พ่อกับแม่ต้องเรียนรู้ และส่งเสริม...         ตั้งแต่ลูกเริ่มเอื้อมมือคว้าได้ เดี๋ยวนี้เจออะไรเป็นต้องคว้าเข้าปากทุกที นี่แหละพัฒนาการขึ้นสำคัญของหนูน้อยที่พ่อกับแม่ต้องเรียนรู้ และส่งเสริม... 

หยิบเข้าปาก...เรื่องเรียนรู้ของวัยเบบี๋

ถ้าเห็นลูกวัย 6 เดือนที่เริ่มนั่งทรงตัวได้ดี แล้วเอื้อมคว้าของเข้าปาก...อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าลูกหิวเชียวนะคะ เพราะนั่นคือพัฒนาการในการเรียนรู้ ด้วยการสำรวจสิ่งใหม่ๆ รอบตัว

เพราะเด็กขวบปีแรกเรียนรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นชิมรส และมือสัมผัส ดังนั้นเรื่องหยิบของเข้าปากจึงแสดงถึงพัฒนาการของลูก คือ

* ประสานประสาทสัมผัสจาก 3 อวัยวะ คือ มือ ตา และปาก ด้วยการแยกแยะรายละเอียด กะระยะได้แม่นยำ และจับได้มั่นคงขึ้น

* การที่ลูกนั่งได้แล้ว จะทำให้ลูกมีมุมมองที่กว้างไกล เห็นสิ่งต่างๆ ได้หลากหลายขึ้นด้วย

* เมื่อเด็กเรียนรู้รสชาติและผิวสัมผัสได้มากขึ้น ก็จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งของแบบไหนที่สามารถเอาเข้าปากได้นั่นเอง

สมองคือจุดเชื่อมโยง

ขณะที่เด็กสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยการใช้มือ ตา ปาก นั้น สมองแต่ละส่วนก็ต้องทำงานไปพร้อมกันเพื่อชื่อมโยงอวัยวะดังนี้

* พาไรทัลโลบ (Parietal Lobe) จะควบคุมการใช้มือและตา

* เซลล์ประสาทประสานงาน (Associative Neuron) จะคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่ง

* เท็มโพรัลโลบ (Temporal Lobe) และมอเตอร์คอเท็กซ์ (Motor Cortex) จะทำงานเป็นคู่หูกัน เมื่อลูกมีการเคลื่อนไหว

ยิ่งเมื่อลูกหยิบจับสิ่งของบ่อยๆ สมองก็จะพัฒนาและทำงานได้ดีมากขึ้น ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และเก็บบันทึกจดจำไว้เป็นประสบการณ์ต่อไปในระยะยาวค่ะ

เมื่อเด็กใช้มือ ตา ปาก ทำงานประสานกันมากขึ้น เซลล์ประสาทประสานงาน (Associative Neuron) ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่ง ก็ทำหน้าที่ควบคู่ไปด้วย

หนูเรียนรู้ด้วยมือ ตา ปาก

คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกด้วยมือ ตา ปาก ได้อย่างสนุกและปลอดภัยดังนี้ค่ะ

สนุกเรียนรู้

* มีเวลาเล่นกับลูกให้มากขึ้น และทุกครั้งที่เล่นควรปล่อยให้เขาได้หยิบจับของเล่นที่เขาสนใจด้วยตัวเอง

* ให้ลูกได้หยิบจับสิ่งของบ่อยๆ เพื่อฝึกความแม่นยำให้ลูกมากขึ้น

* หาของที่ให้ลูกสามารถหยิบจับได้ถนัดมือ เพื่อฝึกกำ คว้าจับ หรือเอาเข้าปากค่ะ

* ควรเลือกของเล่นที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปทรง ขนาด และพื้นผิวสัมผัส เช่น ของเล่นนุ่มนิ่มบ้าง แข็งบ้าง จับแล้วรู้สึกเย็นหรืออุ่นแตกต่างกันไป ยิ่งมีเสียงหรือมีสีสดใส จะช่วยกระตุ้นความสนใจและสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายให้ลูกได้

* หยิบของเล่นให้ลูกมองตาม เพื่อคว้าจับ ช่วยให้การทำงานของมือและตาพัฒนามากขึ้น

* การยัดเยียดของเล่นให้ลูกอาจทำให้ลูกมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ เพราะเด็กบางคนอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ยังปรับตัวไม่ได้และไม่กล้า ควรให้เขาค่อยๆ ลองสัมผัส หรือสร้างความคุ้นเคยด้วยตัวเอง จะทำให้เขากล้าเล่นมากขึ้นค่ะ

* อาหารเสริมของลูกวัยนี้ เช่น finger food หรือขนมปังแท่ง จะช่วยฝึกการใช้มือ ตา และปากของลูกได้อีกทาง

สนุกปลอดภัย

* หมั่นทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ เพื่อให้ลูกหยิบจับและเอาเข้าปากได้อย่างปลอดภัยทุกครั้ง

* เลือกของเล่นหรือสิ่งของที่ปลอดภัย ไม่มีเหลี่ยมแหลมคม ชิ้นไม่เล็กหรือมีชิ้นส่วนที่หลุดง่าย เพราะอาจทำให้สำลักหรือติดคอได้

* สีของของเล่นต้องปลอดภัยสำหรับเด็ก

* วางสิ่งของที่เป็นอันตรายให้พ้นมือลูก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเอื้อมไปหยิบจับเอาเข้าปาก

* ถ้าเห็นว่าของในมือลูกอาจเป็นอันตราย อย่าเพิ่งตะโกนห้ามหรือแย่งสิ่งของออกจากมือลูกทันที เพราะจะส่งผลให้ลูกตกใจ ร้องไห้ และหมดความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นไปเลยค่ะ ควรใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ แล้วดึงของออกจะดีกว่าค่ะ

คุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลว่าลูกจะติดพฤติกรรมเอาของเข้าปาก เพราะนี่เป็นธรรมชาติของเด็กขวบปีแรก เมื่อเขาโตขึ้นการหยิบจับเอาของเข้าปากจะค่อยๆ ลดหายไป เพราะเขารู้จักเล่นสำรวจ และเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยวิธีอื่นๆ แทนค่ะ

 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=824&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด