ปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่ลูกเล็กๆ ค่อนข้างกังวลกันมากเมื่อลูกมีไข้สูงคือเรื่องลูกชัก เพราะการชักจากไข้สูง (Febrile Convulsion) มักพบได้ตั้งแต่ลูกอายุ 3 เดือนจนถึง 5 ปี แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี...
ปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่ลูกเล็กๆ ค่อนข้างกังวลกันมากเมื่อลูกมีไข้สูงคือเรื่องลูกชัก เพราะการชักจากไข้สูง (Febrile Convulsion) มักพบได้ตั้งแต่ลูกอายุ 3 เดือนจนถึง 5 ปี แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี เพราะสมองของเด็กยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นค่ะ
สัญญาณเตือนภัย
อาการชักมักจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อลูกไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส และมักจะเกิดขึ้นในวันแรก หรือวันที่ 2 ของการมีไข้ เด็กจะเริ่มมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น แล้วตามด้วยการกระตุกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1–3 นาที ช่วงนี้อาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก หรือริมฝีปากและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้ในรายที่ชักเป็นเวลานาน หลังจากหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับ หรือมีอาการสะลึมสะลือไปชั่วครู่
รับมือให้ทันท่วงที
เมื่อลูกมีอาการชัก คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบช่วยทำการปฐมพยาบาลลูก ดังนี้
1.จับลูกนอนหงาย และตะแคงศีรษะลูกไปด้านข้าง ให้ศีรษะอยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย เพื่อให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาได้สะดวก ป้องกันไม่ให้สำลักเข้าไปอุดตันในหลอดลม และควรระวังไม่ให้ลูกได้รับอันตรายอื่นๆ จากการตกหรือล้มในขณะชักด้วย
2.ถอดหรือคลายเสื้อผ้า รวมถึงผ้าห่มที่อาจทำให้ร่างกายลูกอึดอัดออก
3.ระวังอย่าให้ลูกกัดลิ้นตัวเอง โดยการสอดด้ามช้อนที่หุ้มด้วยผ้านุ่มๆ เข้าในช่องปากของลูก แต่ถ้าลูกกำลังเกร็งและกัดฟันแรงมาก อย่าใช้กำลังงัดปากลูกในทันที เพราะจะทำให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้
4. ไม่ควรเขย่าหรือตีเพื่อให้ลูกตื่นหรือรู้สึกตัว เพราะจะทำให้ลูกชักมากขึ้น
5.ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำอุ่น โปะไว้ตามข้อพับแขนขา และค่อยๆ เช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุ่นๆ โดยเช็ดในทิศทางที่ย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขน ให้ความร้อนสามารถระบายออกได้
6.ห้ามป้อนสิ่งใดเข้าทางปากลูกโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะอาจทำให้สำลักได้
7.เมื่ออาการชักสงบแล้ว จึงรีบพาลูกไปพบแพทย์ที่ใกล้บ้านที่สุด ส่วนใหญ่เด็กที่มีอาการชักจากไข้สูง มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทั่วไป เช่น ไข้หวัด คอหรือทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ส่วนสาเหตุที่รองลงมาได้แก่ บิด ลำไส้อักเสบ หลอดลมหรือปอดอักเสบ รวมถึงไข้ออกผื่นต่างๆ ด้วย
ดูแลต่อเนื่องหลังอาการชัก
เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายของลูกอย่างละเอียด โดยเฉพาะระบบประสาท และอาจจะต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเอ็กซเรย์เพิ่มเติม เพื่อจะได้ทราบสาเหตุและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง
กรณีเด็กที่ชักนานกว่า 15 นาที หรือตรวจพบอาการผิดปกติทางระบบประสาท ก็อาจจะต้องทำการตรวจน้ำไขสันหลัง หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งกรณีนี้คุณหมอมักจะแนะนำให้ลูกนอนโรงพยาบาลเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด
จากการศึกษาของหลายสถาบันต่างยืนยันตรงกันว่า เด็กที่ชักจากไข้สูงส่วนใหญ่มักไม่มีผลกระทบในอนาคตต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงสติปัญญาด้วย และมักไม่จำเป็นต้องกินยากันชักต่อเนื่อง เว้นแต่จะมีการชักซ้ำหรือมีความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันไม่ให้ลูกเกิดอาการชักซ้ำในครั้งต่อไป ซึ่งคุณหมอมักจะเน้นไม่ให้มีการชักซ้ำในระยะ 1-2 ปี
อยากจะย้ำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักวิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยมีไข้ และสามารถให้การดูแลไข้ได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเช็ดตัวลดไข้ เพราะเป็นวิธีการป้องกันการชักจากไข้สูงของลูกที่ดีที่สุด แต่เมื่อลูกเกิดอาการชัก ก็สามารถให้การช่วยเหลือลูกได้อย่างถูกต้องเช่นกัน
อย่าลืมว่า คุณพ่อคุณแม่นอกจากเป็นครูคนแรกของลูกแล้ว ต้องเป็นทั้งหมอและพยาบาลคนแรกของลูกด้วยเหมือนกัน
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=823&sub_id=2&ref_main_id=2