ฟิงเกอร์ฟู้ด เมนูหยิบจับ


929 ผู้ชม


ใครว่าอาหารมีประโยชน์แต่เรื่องของสุขภาพอย่างเดียว อาหารแบบต่างๆ ยังช่วยเสริมพัฒนาการเจ้าตัวน้อยได้ด้วย อาหารฟิงเกอร์ฟู้ดช่วยเสริมพัฒนาการทั้งการใช้มือหยิบจับ ของและฝึกทักษะเกี่ยวกับการเคี้ยว กระตุ้นให้ฟันขึ้นได้ดีในเด็กวัย 8 เดือน         ใครว่าอาหารมีประโยชน์แต่เรื่องของสุขภาพอย่างเดียว อาหารแบบต่างๆ ยังช่วยเสริมพัฒนาการเจ้าตัวน้อยได้ด้วย อาหารฟิงเกอร์ฟู้ดช่วยเสริมพัฒนาการทั้งการใช้มือหยิบจับ ของและฝึกทักษะเกี่ยวกับการเคี้ยว กระตุ้นให้ฟันขึ้นได้ดีในเด็กวัย 8 เดือน 

แล้วฟิงเกอร์ฟูดมีแบบไหนบ้างนะ ถ้าทำเองจะยากมั้ย ทำจากอะไรได้บ้าง เรามีคำอธิบายและตัวอย่างฟิงเกอร์ฟูดง่ายๆ มาฝากกันค่ะ

ทำความรู้จักฟิงเกอร์ฟู้ด 3 แบบ

ฟิงเกอร์ฟู้ดเป็นอาหารที่ช่วยพัฒนาด้านการเคี้ยวกลืนของลูก เชื่อว่าแม่หลายคนคงรู้ประโยชน์ข้อนี้ดีอยู่แล้ว แต่ของกินประเภทนี้มีกี่แบบล่ะ อันนี้สิไม่รู้แน่ชัด มาทำความรู้จักฟิงเกอร์ฟูดแบบต่างๆ ของลูกเรากันดีกว่าค่ะ

1.ผลิตภัณฑ์จาก ข้าว แป้ง ธัญพืช

ในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย แครกเกอร์กรอบชนิดไม่เคลือบน้ำตาล ขนมปังขาไก่ ขนมปังกรอบ ขนมปังชุบไข่หั่นเป็นแท่ง ข้าวสวยปั้นเป็นก้อน มะกะโรนีรูปต่างๆ ที่ต้มสุกแล้ว ธัญพืชชนิดอัดแท่งที่ไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาลน้อยแต่ต้องไม่มีส่วนผสมของถั่ว

2.ผลิตภัณฑ์จาก ผัก ผลไม้

ผลไม้ ที่ต้มสุกชนิดต่างๆ ควรหั่นเป็นชิ้น หรือเป็นแท่ง เช่น มะละกอ มะม่วงสุก กล้วย แคนตาลูป ส้มตัดหรือแกะเป็นกลีบ อย่าลืมแกะเม็ดออกก่อนนะคะ อโวคาโดหั่นเป็นเสี้ยว บางชนิดไม่ต้องต้มถ้าเป็นผลไม้อบแห้ง เช่น พรุน แต่ต้องนำมาแช่น้ำสะอาดให้นุ่มก่อน ผลไม้ที่ไม่เหมาะสำหรับลูกเล็ก เช่น องุ่น มะเขือเทศลูกเล็ก หรือผลไม้ที่มีเมล็ด

ผัก ควรนำผักไปต้มสุกเสียก่อน เช่น แครอต มันฝรั่งบดอัดเป็นก้อน มันเทศหั่นเป็นแท่ง ฟักทองนึ่งปอกเปลือก ถั่วฝักยาวต้มแกะเอาเมล็ดออกก่อน เม็ดถั่วลันเตาบดด้วยส้อมหยาบๆปั้นเป็นก้อนเล็กๆ บรอกโคลีนึ่ง ดอกกะหล่ำปลีนึ่ง ควรตัดให้มีก้านด้วย จะได้ถือสะดวกขึ้น

3.ผลิตภัณฑ์ จาก นม และแหล่งโปรตีนต่างๆ

-ชีสชนิดนุ่ม หั่นเป็นแท่งหรือเป็นชิ้นเล็กๆ

-ถั่วแดง ถั่วเขียว ต้มสุกปั้นเป็นก้อนไม่เล็กจนเกินไป

-เต้าหู้แผ่น นำลงย่างในกระทะ แล้วหั่นตามยาวหรือตัดเป็นรูปต่างๆ ด้วยพิมพ์คุกกี้

-ปลาอบหั่นแท่ง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

-ไข่ขาวต้มหั่นเป็นเสี้ยว ถ้าลูกทานไข่แดงได้แล้วก็สามารถเสิร์ฟไข่แดงไปพร้อมกัน หรือทำเป็นไข่ตุ๋นที่ใส่น้ำน้อยๆ ตัดเป็นก้อนให้ลูกหยิบกิน

ไม่ว่าคุณจะเป็นแม่ที่ทำอาหารให้ลูกกินเองอยู่แล้วหรือไม่ ฟิงเกอร์ฟูดง่ายๆ ที่นำมาฝากกันนี้ ก็น่าจะทำให้คุณเตรียมเองได้ไม่ยาก ลองทำดูนะคะ

Finger Food…เลือกอย่างไรปลอดภัยกับลูก

ในยุคปัจจุบัน ของขบเคี้ยวมีมากมาย หลายอย่างเป็นฟิงเกอร์ฟูดที่เหมาะกับลูกอยู่เหมือนกัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับมื้ออาหารของลูก และยังสะดวกแม่ๆ ยุคใหม่อีกด้วย แต่ต้องเลือกกันซักหน่อยนะคะ เวลาที่แม่ๆ เลือกซื้อควรพิจารณาเกณฑ์ง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

1.ไม่มีเกลือโซเดียมสูง การเลี่ยงอาหารเค็มจะช่วยป้องกันไม่ให้บวมน้ำและป้องกันไม่ให้ไตทำงานหนัก เช่น กลุ่มอาหารทอดกรอบและใส่เกลือ ฯลฯ

2.ไม่ใส่สารกันบูด เป็นสารเคมีที่ใส่ในผลิตภัณฑ์ถนอมอาหารบางอย่างไม่ให้เสียง่าย ไม่ควรให้เด็กกิน เพื่อลดการทำงานของตับ

3. ไม่ใส่สีฉูดฉาด ควรเป็นสีจากธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เด็กได้รับสารตะกั่วหรือโลหะหนักในสีผสมอาหาร

4.ไม่มีรสหวาน เด็กเล็กลิ้นรับรสหวานดีอยู่แล้ว ไม่ควรเติมน้ำตาล ยกเว้น ความหวานธรรมชาติจากผลไม้ถ้าลูกกินอาหารหรือขนมหวานมากไป จะทำให้กินนมหรืออาหารหลักได้น้อยลงค่ะ

5.ไม่มีไขมันสูง อาหารทอดกรอบทำให้เด็กได้รับไขมันสูง อาจทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนหรือ น้ำหนักเกิน ถ้าอยากกินอาหารทอดควรทำเองดีกว่า เพราะเราสามารถควบคุมปริมาณน้ำมันได้

6.เลือกให้เหมาะกับวัย เด็ก 8 เดือนควรได้รับอาหารที่เตรียมจากธรรมชาติ หากไม่สะดวกควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เน้นการผลิตสำหรับเด็กเล็ก เช่น แครกเกอร์ผสมผักหรือไม่ใส่น้ำตาล ไก่สับอบกรอบ

7.ไม่ควรเลือกผักผลไม้ ที่แข็งเกินไป อาหารแข็งๆ ยังไม่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กวัยเบบี๋ เพราะอาจทำให้ติดคอลูก ควรเริ่มเมื่อลูกผ่านช่วง 8 เดือนไปก่อน

8.เลือกอาหารที่มีความเหนียวปานกลาง ความยืดหยุ่นช่วยกระตุ้นการเคี้ยวของลูก เช่น มักกะโรนีต้มสุก ฯลฯ

9.ควรจะละลายในปากได้ หากเป็นประเภทขนมปัง แครกเกอร์ เพื่อป้องกันอาหารติดคอ

10.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะกลม เล็กและแข็ง เช่น ถั่ว ลูกเกด ฯลฯ เพราะลูกอาจจะเผลอกลืนลงไปโดยที่ยังไม่ได้เคี้ยว อาจทำให้ติดคอ หรือหลอดลมได้ง่าย

 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=821&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด