การเบ่งลูกให้ออกมาข้างนอกได้สำเร็จ ถือว่าสำคัญที่สุดของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และมีผลต่อคุณแม่และลูกในท้องมากทีเดียว หากคุณแม่เบ่งไม่เป็น เบ่งไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้คุณแม่หมดแรงเอาได้ง่ายๆ
เหนื่อยก็เหนื่อย เจ็บก็เจ็บ แต่ถ้าเบ่งเป็น เบ่งถูกวิธี เบ่งไม่กี่ทีก็ออกแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาเบ่งนานด้วย
หากแม่เบ่งไม่ออกซะที ก็ทำให้ลูกต้องติดค้างอยู่ระหว่างการคลอดนานเกินความจำเป็น เมื่อลูกติดค้างอยู่นานๆ เข้าจะเกิดอาการขาดออกซิเจนได้ง่าย ต้องช่วยคลอดโดยการใช้เครื่องดูดหรือใช้คีมช่วยคลอด ลูกเลยต้องเจ็บตัวเพราะแม่เบ่งไม่เป็น
ช่วงคลอดนี่แหละครับเป็นช่วงสำคัญที่สุดของการเป็นแม่ เป็นประสบการณ์ของแม่ทุกคนที่ยากจะลืมเลือน คุณแม่ต้องทำหน้าที่ของแม่ให้ดีที่สุดในช่วงนี้
อย่างนี้หรือที่เรียก "ลมเบ่ง"
เมื่อคุณแม่ผ่านการเจ็บครรภ์อันแสนยาวนาน...ในที่สุดปากมดลูกก็เปิดหมด หัวของลูกจะผ่านออกมาจากมดลูกเข้ามาสู่ช่องคลอดต่ำลงมาเรื่อยๆ คุณแม่จะปวดถ่วงลงมาที่ก้นเป็นอย่างมาก รู้สึกปวดเหมือนอยากจะถ่ายอุจจาระ อย่างนี้นี่เองล่ะครับที่เรียกกันว่า "มีลมเบ่ง"
การมีลมเบ่งก็คล้ายๆ กับเราอยากจะถ่ายอุจจาระ เพียงแต่ว่าก้อนที่ต้องเบ่งออกมามันก้อนใหญ่กว่ามากทีเดียว แถมต้องเบ่งออกมาทีเดียวให้หมดเสียด้วย จะเบ่งออกมาทีละนิดทีละหน่อยเหมือนอุจจาระก็ไม่ได้ ว่าที่คุณแม่หลายๆ คนที่ยังไม่มีประสบการณ์การคลอดมาก่อน ไม่รู้ว่าลมเบ่งเป็นยังไง ลองนึกภาพตอนท้องผูกมากๆ ต้องใช้กำลังภายในเยอะๆ ในการเบ่งมันออกมาดูนะครับ
สวนก่อนเบ่ง
เนื่องจากการมีลมเบ่งคล้ายๆ กับการปวดอุจจาระ ก่อนคลอด คุณหมอจึงต้องสวนอุจจาระให้คุณแม่ก่อน ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าสวนไปเพื่ออะไร...ถึงตอนเบ่งก็รู้เองล่ะครับ
ถ้าไม่สวนอุจจาระเสียก่อน ตอนเบ่งก็ต้องเบ่งเหมือนกำลังถ่ายอุจจาระ ถ้าอั้นไว้หลายวัน อึก็จะออกมาจนหมดไส้หมดพุงก่อนลูกจะคลอดออกมาด้วยซ้ำไป ทีนี้ก็เหม็นไปหมดทั้งห้องคลอดเลยสิครับ...สงสารคุณหมอจัง เพราะคุณหมอต้องนั่งรอทำคลอดอยู่ตรงระหว่างขา ประจัญหน้ากับช่องคลอดกับทวารหนัก หากเบ่งไปผายลมปู๊ดๆ ไปด้วย...หมอคงสลบไปก่อนที่จะได้ทำคลอดแน่เลย
การสวนอุจจาระก่อนช่วยให้คุณแม่มั่นใจในการเบ่งมากขึ้น เพราะคุณแม่บางคน ด้วยกลัวว่าจะเบ่งอุจจาระออกมาให้เป็นที่ขายหน้าคุณหมอ เลยขมิบเอาไว้ ไม่ยอมเบ่งให้เต็มที่ เลยเบ่งไม่ค่อยออก
นอกจากนั้นการสวนอุจจาระก่อนคลอดก็ยังทำให้สะอาด ดูดี ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนลูกเมื่อคลอดออกมา คงไม่น่าประทับใจเท่าไหร่นะครับที่เมื่อแม่หอมลูกเป็นครั้งแรก แล้วมีแต่กลิ่นเหม็นๆ ของอึคุณแม่เอง
ลมเบ่ง..มาแล้วจ้า
คุณแม่จะเริ่มมีลมเบ่งเมื่อปากมดลูกเปิดหมดเต็มที่ หัวของลูกผ่านออกมาจากมดลูกเข้าสู่ช่องคลอดต่ำลงเรื่อยๆ จนมาตุงอยู่ที่ปากช่องคลอดพอถึงตรงนี้ลมเบ่งจะมาของมันเองแหละครับ รับรองว่ามาแน่ ส่วนมากจะรู้สึกว่ามีลมเบ่งมาก่อนเวลา ตั้งแต่ปากมดลูกยังเปิดไม่หมดด้วยซ้ำไป
พอมีลมเบ่งคุณหมอ คุณพยาบาลจะย้ายคุณแม่จากห้องรอคลอดเข้าสู่ห้องคลอด...คราวนี้ถึงตอนที่คุณแม่จะได้แสดงฝีมือแล้วล่ะครับ
เตียงคลอดส่วนใหญ่จะจัดท่าให้คุณแม่นอนแยกขาออกจากกันวางอยู่บนขาหยั่ง ตอนนี้ไม่ต้องอายแล้ว คุณแม่ต้องแยกกว้างๆ เข้าไว้ ยิ่งแยกขาออกกว้างเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คลอดได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่หากคุณแม่หนีบขาสุดฤทธิ์สุดเดช ทางออกก็ยิ่งแคบ ก็เบ่งไม่ออกสิครับ แถมยังรู้สึกเจ็บมากขึ้นด้วย
ตอนนี้สำคัญ แม้จะเจ็บปวด แม้จะเหนื่อยแทบขาดใจ แต่แม่ทุกคนก็สามารถฝ่าฟัน ต่อสู้กับความเจ็บปวด พยายามเบ่งสุดแรงเกิด เพื่อให้ลูกได้เกิดออกมาดูโลกภายนอก...เหมือนกับรู้ว่าปลายทางของความเจ็บปวดนี้ ก็คือความปีติจากความเป็นแม่ ความปีติที่ได้เห็นลูกเป็นครั้งแรก มันดีใจจนลืมความเจ็บปวดที่เพิ่งผ่านมา
เขาเบ่งกันอย่างไร
ช่วงที่ปากมดลูกเปิดหมด มดลูกก็จะบีบรัดตัวถี่กระชั้นขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างที่มดลูกมีการบีบรัดตัว คุณแม่ก็จะมีลมเบ่ง พอมีลมเบ่ง ให้คุณแม่สูดหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ 2-3 ครั้ง พอมดลูกมีการบีบตัวเต็มที่ก็หายใจลึกๆ ยาวๆ เต็มที่เข้าปอด แล้วกลั้นลมหายใจไว้ ก้มหน้าลงคางชิดอก โน้มตัวไปข้างหน้า มือจับหลักข้างเตียงดึงเข้าหาตัว ออกแรงเบ่งให้แรง เบ่งทั้งหมดลงไปทางปากช่องคลอด ในขณะที่เบ่งก็พยายามเบ่งยาวๆ ยาวที่สุดเท่าที่ทำได้ หากเบ่งจนกลั้นหายใจไม่ไหวแล้ว แต่มดลูกยังคงแข็งอยู่ ให้หายใจเข้าออกเร็วๆ 2-3 ครั้ง แล้วเบ่งต่อ จนหมดแรงบีบของมดลูก...
ผ่านไปแล้วหนึ่งยก พอมดลูกคลายตัวคุณแม่ก็นอนพักเหนื่อยเอาแรง หายใจยาวๆ ลึก เก็บออกซิเจน เก็บพลังงานไว้สำหรับเบ่งยกต่อไป...ยกต่อไปต้องทำให้ดีขึ้น
ช่วงเบ่งคลอดคุณพยาบาลจะช่วยกันส่งเสียงเชียร์เบ่ง คอยให้จังหวะคุณแม่อยู่ ถ้าคุณแม่ไม่รู้จังหวะว่าจะเบ่งตอนไหน ก็คอยฟังเสียงเชียร์เบ่งก็ได้ คุณพยาบาลจะเอามือคอยจับดูว่ามดลูกแข็งตัวแล้วหรือยัง พอมดลูกแข็งเต็มที่ปั๊บ คุณพยาบาลก็จะให้สัญญาณทันที "เอ้า!...เบ่ง...อี้ด...ดดดด" "เบ่งเลยค่ะ...เบ่ง" "เบ่ง...อีกนิดนึง" เบ่งแต่ละครั้งหัวของลูกก็เลื่อนต่ำลงมาเรื่อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย ค่อยๆ โผล่พ้นออกมาจากปากช่องคลอด
ในขณะที่ปากช่องคลอดเริ่มขยาย คุณหมอก็จะตัดฝีเย็บเพื่อขยายให้ปากช่องคลอดกว้างขึ้น เพื่อให้ลูกสามารถผ่านออกมาได้ง่ายขึ้น ป้องกันไม่ให้ช่องคลอดยืดขยายมากเกินไป และป้องกันไม่ให้เกิดการฉีกขาดจนยากแก่การซ่อมแซมให้เหมือนเดิม
พอหัวของลูกโผล่หลุดพ้นช่องคลอดแล้ว ตอนนี้คุณแม่ควรหายใจยาวๆ หยุดเบ่งสักแป๊บนึง ให้เวลาคุณหมอได้ดูดน้ำเมือก น้ำคร่ำในปากในจมูกลูกออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นก็ได้แสดงฝีมืออีกรอบ เบ่งอีกครั้งเพื่อให้เด็กคลอดออกมาจนหมด...ตอนนี้แหละครับความเจ็บปวดทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง เบาสบายตัวเหมือนเพิ่งไปถ่ายอุจจาระออกมาใหม่ๆ
สิ่งที่พบได้บ่อยๆ ของคุณแม่ก็คือ การเกิดวงจร กลัว-เกร็ง-เจ็บ เมื่อเริ่มมอาการเจ็บครรภ์ คุณแม่หลายๆ คนจะกลัว เช่น กลัวเจ็บ กลัวว่าจะคลอดไม่ได้ ความกลัวจะทำให้คุณแม่รู้สึกเกร็ง กล้ามเนื้อต่างๆ ภายในอุ้งเชิงกรานเกิดการเกร็งตัว ทำให้ลูกคลอดผ่านออกมาได้ยากขึ้น ยิ่งเกร็งก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งเจ็บก็ยิ่งกลัว ยิ่งกลัวก็ยิ่งเกร็ง...เป็นวงจรไม่สิ้นสุด คุณแม่ควรทำใจให้สบายๆ คิดว่าเราจะได้เจอคนที่เราเฝ้ารอคอยมานานแสนนานในไม่กี่นาทีข้างหน้า ทำตัวให้สบาย ผ่อนคลายให้เต็มที่ จะสามารถผ่านพ้นการคลอดไปได้ไม่ยากนัก ยิ่งถ้าคุณแม่ได้รับการฝึกหัดเตรียมพร้อมมาก่อนก็ยิ่งทำได้ดีขึ้น
เบ่ง..ไม่เป็น
การ "เบ่งไม่เป็น" เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคุณแม่ท้องแรก...ก็ไม่เคยเบ่งอย่างนี้มาก่อนนี่คะ การเบ่งไม่ถูกวิธีจะทำให้เสียแรงไปเปล่าๆ รู้สึกเหนื่อยได้ง่าย ลูกก็ไม่ได้เคลื่อนตัวต่ำลงมาเลยจากการเบ่งที่ไม่ถูกวิธี คุณแม่ที่เบ่งไม่เป็นจะเบ่งสั้นๆ อึ๊ด..อึ๊ด..อึ๊ด..เบ่งๆ หยุดๆ เป็นช่วงๆ พอออกแรงเบ่งหัวเด็กก็ถูกดันออกมาที พอหยุดเบ่งก็ถอยกลับไปที่เดิม ผลุบๆ โผล่ๆ...ไม่ออกซะที...อย่างนี้เหนื่อยเปล่า!
ตอนคุณแม่เบ่งก็ต้องเดินลมปราณเป็นด้วยนะครับ..พูดเหมือนหนังกำลังภายในเลย เวลาเบ่งคุณแม่ต้องพยายามเบ่งลงไปทางก้น พยายามก้มหน้าคางชิดอกเข้าไว้ หากเบ่งผิดทิศตีกลับ เขาเรียกว่า "เบ่งขึ้นหน้า" สังเกตดูง่ายๆ ถ้าเบ่งแล้วแหงนหน้าขึ้นไปข้างบน เบ่งจนเลือดขึ้นหน้า หน้าดำหน้าแดง แรงเบ่งไม่ได้ออกทางช่องคลอดหรอกครับ...อย่างนี้ก็เหนื่อยเปล่า!
ตอนคุณแม่เบ่งต้องอั้นลมเบ่งเอาไว้ด้วยนะครับ...ตอนจะเบ่งต้องหายใจเข้าให้เต็มปอด อั้นลมหายใจไว้ หุบปากให้สนิท แล้วออกแรงเบ่งลงไปข้างล่าง พยายามอย่าให้มีเสียงเล็ดลอดออกมาทางปาก หากเบ่งไปอ้าปากร้องไป ก็จะไม่มีลมเบ่ง ลมเบ่งมันออกไปกับเสียงร้องของคุณแม่หมดแล้ว ดังนั้นคุณแม่ที่เบ่งไปร้องไป เบ่งไม่ออกหรอกครับ อันดับแรกต้องตั้งสติกันก่อน ตั้งใจเบ่ง อดทนกัดฟันอีกนิด...เจ็บแค่นี้แม่ทนด้าย...ยยย
ปกติถ้าเบ่งจังหวะดีๆ เบ่งประมาณ 4-5 ครั้ง ลูกก็คลอดแล้วล่ะครับ
นับจากวินาทีนี้เองที่ความเป็นแม่ได้เริ่มต้น เมื่อได้ยินเสียงลูกร้องเป็นครั้งแรก สีหน้าของคุณแม่ทุกคนก็เปี่ยมล้นไปด้วยความดีใจ สุขใจ ภูมิใจในสิ่งที่เราได้สร้าง ได้เบ่งออกมาได้ด้วยตัวเอง ถึงจะเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่าเมื่อแลกกับความเป็นแม่
หลายคนอาจจะร้องไห้น้ำตาไหลพราก ร้องไปเถอะครับ ไม่ต้องอาย ทุกคนต่างก็รับรู้ถึงความรู้สึกความดีใจที่คุณแม่ได้กลั่นออกมาเป็นหยดน้ำตาของความเป็นแม่...หยดนี้
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=805&sub_id=1&ref_main_id=2