เหตุผลของเด็กก้าวร้าว


825 ผู้ชม


หลายวันก่อน อาจารย์สมัยมัธยมต้น ได้นัดศิษย์เก่า หลาย ๆ รุ่นให้มาพบปะสังสรรค์ เพื่อทำความรู้จักกัน หลังจากจบการศึกษาไปคนละกว่ายี่สิบปี         หลายวันก่อน อาจารย์สมัยมัธยมต้น ได้นัดศิษย์เก่า หลาย ๆ รุ่นให้มาพบปะสังสรรค์ เพื่อทำความรู้จักกัน หลังจากจบการศึกษาไปคนละกว่ายี่สิบปี 

ซึ่งแต่ละคนต่างก็แยกย้ายกันเติบโต และทำมาหากินกันคนละทิศละทาง จะมีบ้างก็บางคนที่จับกลุ่มกันเหนียวแน่น ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ พอพบกันก็คุยกันเรื่องเก่าๆ คืนนั้นก่อนแยกย้ายกัน ก็มีการนัดหมายว่าจะต้องมาเจอกันอีกครั้ง

 

หลังกลับจากงานวันนั้น ผมนั่งทบทวนถึงชีวิตสมัยขาสั้นเทียบกับสมัยนี้แล้ว แม้จะดุๆ เหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันมากเลยครับ วัยรุ่นสมัยผมตีกันชาวบ้านไม่ค่อยเดือดร้อน อย่างน้อยเราก็ตีกันในวงของเรา นักเรียนในโรงเรียนเดียวกัน ส่วนที่ไม่ได้ตีกับเขาก็จะมีความรู้ ในระดับรู้หลบเป็นปีกกันทุกคน คนที่ดูเป็นเด็กเรียนส่วนมากก็ได้รับการยกเว้นไม่มีใครไปทำอะไร

สมัยนี้ตีกันไม่รู้เรื่องรู้ราว ชาวบ้านชาวช่องเขาเดือดร้อนกันไปทั่ว เด็กเรียนที่ไม่รู้เรื่องราวก็พลอยเป็นเหยื่อไปด้วย บางทีทำตัวเหมือนโจรมากกว่านักเลง มีคนเคยถามผมว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เป็นอะไรกัน ก้าวร้าวเหลือเกิน แล้วจะมีทางป้องกันหรือไม่ ถ้าจะตอบตรงๆ ก็ตอบได้เลยครับว่าไม่รู้ แต่ถ้าให้สันนิษฐานผมว่าเป็นมาจากการเลี้ยงดู ที่กระบวนการบางอย่างซึ่งเคยมีในอดีตนั้นขาดหายไป ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถควบคุมบังคับความกร้าวและอะไรอีกหลายอย่างในตัวเองได้

 

กระบวนการที่หายไป ก็คือการฝึกการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์และการแสดงออก

 

สมัยก่อนเราจะหัดให้เด็กควบคุมเจ้าสองตัวนี้มาก แตกต่างจากในสมัยนี้ครับที่ยอมรับการแสดงออกมากขึ้นจนอาจจะมากไป

สมัยก่อนวันที่ไม่มีอารมณ์จะเรียนก็ต้องอยู่ในห้องเรียนจะออกนอกห้องไม่ได้ หรือหากออกได้ก็ต้องออกไปนอกโรงเรียนเลย ถ้าโชคไม่ดีเจออาจารย์ใหญ่ขับรถวนๆ แถวนั้น ก็เป็นอันเรียบร้อย อาจารย์ใหญ่โรงเรียนผมท่านชอบหนีโรงเรียน ไปขับรถตระเวนจับเด็กหนีโรงเรียน พอจับได้ อาจารย์จะใช้อาวุธประจำตัวอยู่ที่ท้ายรถสำเร็จโทษคล้ายในหนังฝรั่งที่พระเอกต้องมีปืนกระบอกโตๆ ไว้ท้ายรถ แต่ของอาจารย์ผมเป็นหวาย ขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือยาวกว่าหนึ่งช่วงแขน จับได้ที่ไหนโดนหวายตรงนั้น

 

หวายประจำโรงเรียนไม่รู้ใช้กันมาอีกนานแค่ไหน แต่ในสมัยผมนั้นเป็นที่ครั่นคร้ามของนักเรียนทั้งโรงเรียน โทษทัณฑ์สูงสุดประจำโรงเรียนก่อนไล่ออกจากโรงเรียน คือ การเฆี่ยนหน้าเสาธง จริงๆ การโดนหวายนาบก้นมันก็เจ็บเท่ากันทุกที่แหละครับ ผมเองก็เคยโดนหนึ่งที นึกขึ้นมายังแสบก้นอยู่เลย แต่การเฆี่ยนหน้าเสาธงดูจะต่างกันมาก

 

บรรยากาศไม่เหมือนการประจาน เพราะนักเรียนก็รู้ๆ กันว่าใครเป็นอย่างไร แต่บรรยากาศเหมือนเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์มากกว่า คิดดูสิครับร้องเพลงชาติต่อหน้าเสาธง สวดมนต์ก็ต่อหน้าเสาธง เสาธงจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความดีงามและความขลัง การโดนตีหน้าเสาธงจึงไม่ธรรมดา ที่แปลกคือนักเรียนไม่เคยประท้วงครู ไม่เคยถือป้ายขับไล่ ไม่เคยดักทำร้าย กลับรักและเคารพยำเกรง ไม่ได้หมายความว่าเด็กสมัยก่อนไม่มีปัญหาความก้าวร้าว แต่อย่างที่บอกว่ามีไม่บ่อยและไม่แรงเท่าสมัยนี้

 

ผมว่ามีหลายสิ่งที่เด็กสมัยก่อนได้เรียนมากกว่าเด็กสมัยนี้ เช่น

1. การบังคับ เด็กๆ สมัยก่อนจะถูกบังคับมากจนอาจจะมากเกินไป แต่ก็ทำให้หลายๆ คนรู้จักวิธีบังคับและสามารถใช้วิธีนั้นกับตัวเองในเรื่องที่จำเป็นต้องทำ

2. การควบคุม เด็กๆ ถูกควบคุมมากกว่าสมัยนี้อย่างเห็นได้ชัดกระดิกตัวไม่ค่อยได้ แต่ในที่สุดเมื่อเป็นอิสระจากการควบคุมของพ่อแม่ เด็กๆ กลับได้ทักษะในการควบคุมตัวเองติดมาด้วย

3. การอดกลั้น เด็ก ๆ ถูกห้ามไม่ให้แสดงความโกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ทั้งที่บางทีผู้ใหญ่ก็เป็นฝ่ายผิด แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ตอบโต้ ถูกหัดให้อดกลั้น จนข่มใจเป็น

4. ความอดทน เด็กๆ ถูกกดดันให้ทำเรื่องยากๆ งานหนักๆ สารพัดทั้งการบ้าน ทั้งงานฝีมือ พ่อแม่ก็เหงื่อตกไปด้วย เคี่ยวกรำกันไปนานๆความลำบากก็กลายเป็นเรื่องที่ทนได้

ส่วนครอบครัวสมัยนี้เริ่มให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ สี่ประการที่กล่าวมาน้อยลง หันไปเน้นที่การแสดงออก การอำนวยความสะดวก ขาดการปลูกฝังคุณลักษณะทั้งสี่ข้อ เป็นทั้งกับบ้านที่ยากจนพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูหรือบ้านที่ร่ำรวยแต่ไม่ยอมหาเวลาดูแลลูก ซึ่งคุณลักษณะทั้งสี่นี้มีประโยชน์มาก

 

คุณลักษณะทั้งสี่ประการมีฐานรากตัวเดียวกัน คือ control พูดให้ชัดๆ ก็คือ self-control เริ่มสร้างได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบครับ และต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ต้องมีการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ถ้าเป็นคนที่เคร่งครัด บังคับตนเองมากเกินไปก็ไม่ดี แต่ถ้าไม่มีเลยก็ไม่ดียิ่งกว่า บทเรียนบทแรกของ self-control คือ การคุมกับ อึ ฉี่ เป็นครั้งแรกที่เด็กๆ ได้รู้ว่าฉันคุมได้และทำตามที่สังคมต้องการได้ด้วย ก่อนหน้านี้อาจจะมีความรู้สึกนี้บ้างจากการยืนเป็นและเดินได้ ถ้าพูดได้เด็ก ๆ อาจจะบอกว่า

“ไชโย เดินได้แล้ว” “เย้ ฉี่ลงส้วมแล้ว เหมือนพ่อเลย ๆ”

 

บทเรียนที่ยากที่สุดของ self-control เห็นจะเป็นความดื้อครับ เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่าง “หนูอยาก” กับ “พ่อให้ไม่ได้” กลับไปดูคุณสมบัติสี่ข้อที่ว่าสิครับ ต้องใช้ชุดนั้นแหล่ะถึงจะจัดการปัญหานี้ได้ พอ “หนูอยาก” แต่ “พ่อไม่ให้” การอาละวาดก็เกิดขึ้น ตัวก้าวร้าวที่นอนสงบในร่างเด็กน้อย ก็ตื่นจากหลับลุกขึ้นควบคุมเจ้าตัวเล็ก ถ้าเราช่วยให้ลูกชนะตัวก้าวร้าวได้ มันก็จะแอบๆ ไปสักพักแล้วกลับมาใหม่ วันแล้ววันเล่าจนวันที่ลูกเป็นวัยรุ่นเจ้าตัวก้าวร้าวนี้จะโตเต็มที่ พร้อมๆ กับวัยฉกรรจ์ของลูก ยกนี้จะเป็นยกสุดท้าย ถ้าลูกชนะได้ตอนเป็นผู้ใหญ่ ตัวก้าวร้าวจะตัวเล็กกว่านี้ลูกจะชนะได้อีก

 

ถ้าตอนเล็กเตรียมลูกมาดีก็ไม่ต้องใช้พลังมาก แต่ถ้าเตรียมมาไม่ค่อยดี ก็ขอให้ The force be with you จะใช้ดาบเลเซอร์ หรือหวายอาญาสิทธิ ก็เลือกเอานะครับ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=779&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด