สอนลูกสยบอารมณ์ร้าย


846 ผู้ชม


คนเราพอเกิดอารมณ์แล้ว ถ้าเผลอ อารมณ์จะขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งทนไม่ไหวก็จะตอบโต้ออกมาเป็นความก้าวร้าว         คนเราพอเกิดอารมณ์แล้ว ถ้าเผลอ อารมณ์จะขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งทนไม่ไหวก็จะตอบโต้ออกมาเป็นความก้าวร้าว 

อย่าปล่อยให้อารมณ์ลูกตอบโต้ออกมาเป็นความก้าวร้าว

คนเราพอเกิดอารมณ์แล้ว ถ้าเผลอ อารมณ์จะขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งทนไม่ไหวก็จะตอบโต้ออกมาเป็นความก้าวร้าว

ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ ใครๆ ก็คงไม่ชอบอารมณ์ร้ายกันหรอกนะคะ แต่ไม่ทราบว่าทำไมถึงได้มีข่าวแทบทุกวัน ประเภทเหยียบเท้ากันแล้วยิงกันตาย ขับรถไม่หลีกกันก็ยิงกันอีก เดี๋ยวอกหักก็กระโดดตึกตาย หรือไม่ไปฆ่าเขาตาย..

มันน่าเสียดายที่ความสูญเสียใหญ่หลวงเหล่านี้เกิดจากสาเหตุเล็กๆ ที่น่าจะมีทางออกหรือผ่านไปด้วยดีได้ภเลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมคนเราถึงได้คิดสั้นหรือวู่วามเช่นนั้นภเรื่องนี้ภคุณหมอพนม เกตุมานภจิตแพทย์วัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช บอกเล่าไว้ในรายการวิทยุรักลูก ว่า คนบางคนขาดทักษะในการจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตัวเอง เพราะไม่ได้รับการฝึกมาตั้งแต่เด็ก

คุณหมอย้อนไปพูดถึงอารมณ์ในวัยเด็กของคนเราให้ฟังว่า

"เด็กเล็กๆ ยังไม่ค่อยรู้จักอารมณ์เท่าไร แต่ก็แสดงอารมณ์ออกมาให้เห็น ขึ้นอยู่ว่าอารมณ์นั้นเป็นประเภทใด เช่น กลัว เด็กจะแสดงออกทางสีหน้าหวาดหวั่น หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัว พอเด็กโตขึ้น ก็จะค่อยๆ สังเกตอารมณ์ตัวเองได้ สังเกตความคิด การกระทำของตัวเองได้ แยกแยะได้แล้วว่าเป็นอารมณ์แบบไหน พอถึงวัยประถมก็พอจะเริ่มสอนได้แล้วว่าเขาจะรู้อารมณ์ตัวเองได้อย่างไร"

นี่คือธรรมชาติของอารมณ์ที่พัฒนาตามวัย ซึ่งคุณหมอบอกว่าพ่อแม่เป็นคนสำคัญมากในการดูแลเรื่องอารมณ์ของลูก พ่อแม่ต้องยอมรับปฏิกิริยาทางอารมณ์ของเด็ก ต้องอยู่ตรงกลางๆ ถ้าเลี้ยงลูกให้เก็บอารมณ์มากเกินไป ลูกก็จะกลายเป็นเด็กเก็บกดไป คุณหมอยกตัวอย่าง

"เช่นถ้าลูกมีความกลัว เราก็ปล่อยให้เขาแสดงอารมณ์ได้ แต่ต้องสามารถบอกความกลัวนั้นกับผู้ใหญ่ได้ แล้วคลี่คลายความกลัวนั้นได้

"ดีกว่าจะห้ามเด็กแสดงความกลัว หรือโกรธออกมาเลย เช่น ห้ามร้องไห้ภ"หยุดนะ ถ้าไม่หยุดร้องไห้จะตี"ภเด็กจะเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ให้แสดงอารมณ์ ก็จะเก็บไว้จนกระทั่งเด็กอาจปฏิเสธไปเลยว่าตัวเองไม่มีอารมณ์ด้านลบ จริงๆ มันเก็บอยู่ใต้จิตสำนึกลึกๆ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอันตราย มันเก็บสะสม พอถึงจุดหนึ่งจะระเบิดออกมา ซึ่งบางทีผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเรื่องนิดเดียวออกมาเป็นอารมณ์มากมาย จริงๆ มันไปสะกิดเอาสิ่งที่เขาเก็บไว้เยอะๆ เข้า เหมือนลูกโป่งที่อัดลมมากๆ พอเอาเข็มไปสะกิดก็ระเบิดโป้ง"

นอกจากเด็กจะเก็บกด เด็กยังเกิดการเรียนรู้ว่าบ้านนี้ หรือในสังคมนี้แสดงอารมณ์ไม่ได้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของบ้านหรือสังคม อาจจะดูดีภายนอก ดูเหมือนเป็นเด็กเก็บอารมณ์ได้ดี แต่มันเก็บสะสม และไม่ได้เป็นการสอนให้เด็กจัดการกับอารมณ์

คุณหมอสรุปว่า การสอนให้เด็กรู้จักจัดการกับอารมณ์ตัวเองจึงไม่ใช่สอนให้เก็บหรือควบคุมอารมณ์มาก ควรเป็นทางสายกลางๆ มากกว่า บางสถานการณ์ให้รู้จักเก็บอารมณ์ บางสถานการณ์ก็ให้มีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม สามารถที่จะเล่า ระบาย หรือแสดงออกได้ระดับหนึ่ง และต้องมีวิธีจัดการให้มันคลี่คลาย ลงท้ายอารมณ์กลับมาสงบ ไม่มีการตกค้างหรือเก็บกดไว้และแนะวิธีช่วยลูกให้รู้จักคลี่คลายอารมณ์ โดยพ่อแม่หมั่นพูดคุยกับลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

"ในเด็กนักเรียนมักมีปัญหากับเพื่อน ถูกแกล้ง ถูกแหย่ ถูกล้อบ้าง เด็กรู้สึกอาย โกรธ ตรงนี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเด็ก ให้เขาได้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่โรงเรียน ตอนไหนที่มีเหตุการณ์อย่างนี้ เราก็ถามเขาว่า เขารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร ถ้าเขาสามารถเล่า หรือระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก บ่อยๆ เข้าเขาก็จะรู้จักอารมณ์ตัวเอง เห็นความเชื่อมโยงของเหตุการณ์กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เพื่อนมาแหย่ให้โกรธ แล้วเราอาจจะถามว่าเขามีอาการอย่างไรบ้าง เช่น หูอื้อ ตาลาย มือไม้สั่น อย่างนี้ก็เป็นการสอนให้เขาเห็นปฏิกิริยาของอารมณ์โกรธว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง"

หรือบางเหตุการณ์ที่ทำให้ลูกเกิดอารมณ์อาจจะสัมพันธ์กับความคิดของเขาเอง เช่น เด็กบางคนจะรู้สึกเดือดร้อนเรื่องรูปร่างอ้วน ผอม เตี้ย หรือเรื่องพ่อแม่ อย่างนี้คุณหมอบอกว่าก็ต้องคุยกับลูกว่าเขาคิดอย่างไรบ้างกับการที่เพื่อนล้อ บางคนคิดว่าที่เพื่อนล้อนั้นเป็นการว่าหรือตำหนิตัวเขา เราจะต้องทำให้เขาเห็นความเชื่อมโยงของความคิดกับความรู้สึก โดยคุยกันต่อว่าเขาตอบโต้เพื่อนอย่างไร บางคนก็บอกว่า เตะเลย ด่ากลับไป เราก็ถามต่อว่าแล้วผลเป็นอย่างไร ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้เรียนรู้ถึงวิธีจัดการกับอารมณ์ โดยเราชวนให้เขาหาวิธีแสดงออกที่ดีกว่า หรือแนะเขาตอนท้ายว่าควรทำอย่างไร หรือน่าจะลองทำอย่างไรดู

"หรือบางทีเปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียว เช่น เราบอกเด็กว่า"ภที่เพื่อนเขาล้อเราแสดงว่าเขาสนใจเรา เราก็ต้องสนใจเขาด้วย แต่เราไม่ล้อเขากลับก็แล้วกัน เพราะถ้าล้อเขากลับ เขาก็จะโกรธแล้วล้อเราอีก "วิธีการแบบนี้คุณหมอบอกว่าไม่เพียงทำให้เกิดทักษะในการแก้ไขอารมณ์ ในที่สุดเด็กก็จะเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหา แก้ไขความคิดไปพร้อมๆ กัน

เหตุการณ์ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการจัดการกับอารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่น่าเสียดายที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีโอกาสสนใจเท่าไร ไม่มีโอกาสคุยกับเด็ก ไม่รู้ความเป็นไปของเขา เลยไม่มีโอกาสที่จะสอนเรื่องอารมณ์ภหรืออย่างน้อยก็อาจเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านมาสอนก็ได้ อย่างพี่น้องชอบทะเลาะกัน เป็นสถานการณ์ที่สามารถหยิบยกมาคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกเรื่องอารมณ์ได้มาก สะกิดเตือนให้ลูกรู้อารมณ์ตัวเอง ว่ากำลังโกรธ น้อยใจ หรือเสียใจ ทำนองนี้ พอลูกรู้อารมณ์ตัวเองได้บ่อยๆ ต่อไปพอเริ่มเกิดอารมณ์โกรธ เขาจะควบคุมมันได้

"คนเราพอเกิดอารมณ์แล้ว ถ้าเผลอ อารมณ์จะขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งทนไม่ไหวก็จะตอบโต้ออกมาเป็นความก้าวร้าวทางร่างกาย แต่ถ้าเขาเริ่มเท่าทันอารมณ์ตั้งแต่ยังไม่มาก แล้วหาทางคลี่คลาย เช่น รู้ว่าถ้าอยู่ตรงนั้นต่อจะโมโหยิ่งขึ้น ก็จะขอเวลานอก แยกจากกันสักครู่แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ ก็จะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ไม่ออกมาเป็นปฏิกิริยารุนแรงต่อกัน"

การฝึกตามว่ามานี้ ในที่สุดลูกก็จะมีความสามารถในการรู้จักอารมณ์ตัวเองในสถานการณ์อื่นๆ ที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วยได้

สุดท้ายคุณหมอบอกเคล็ดลับสำคัญที่ใช้ฝึกลูกให้มีทักษะในการจัดการอารมณ์ตัวเอง ไม่ลึกลับอะไรนักหรอกค่ะ ก็เหมือนกับหลายๆ เรื่อง คือพ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อมเด็กต้องเป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วย เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ต้องมีอารมณ์ที่สงบ มีสติในการไตร่ตรอง ไม่ตีโพยตีพาย เป็นการสอนลูกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการถ่ายทอดโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าพ่อแม่เป็นคนโวยวาย เด็กก็จะเป็นคนโวยวายด้วย

เห็นมั้ยล่ะค่ะว่า เรื่องอะไรๆ ท้ายสุดพ่อแม่นั่นแหละสำคัญกว่าใครเพื่อน
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=744&sub_id=3&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด