สร้างแรงจูงใจใฝ่รู้


883 ผู้ชม


         " ทำไมซนอย่างนี้ อยู่เฉยๆ บ้างไม่ได้รึไง!" เสียงคุณแม่แหวทะลุอากาศขึ้นมาในยามเช้าวันเสาร์อันเงียบสงบ เมื่อเจ้าอ๊อบแอ๊บแอบไปหยิบไข่ในตู้เย็นมาทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (ตามความคิดของอ๊อบแอ๊บ) แต่เผลอทำหลุดมือ ไข่แตกโพละ! ไปพร้อมกับอารมณ์ของแม่ที่แตกกระเจิงตามไปด้วย 

เฮ้อ...จะให้อ๊อบแอ๊บตอบยังไงดี ว่าทำไมถึงซนอย่างนี้


อะฮั้นตอบแทนให้ดีกว่าค่ะ เพราะอ๊อบแอ๊บเองก็คงไม่รู้ตัวเหมือนกัน ว่าที่ซนอย่างนี้ก็เพราะเขาเพิ่งจะอายุ 7 ขวบอยู่ในช่วงวัยที่มีพลังงานเหลือเฟือ อยากรู้อยากเห็น และกระตือรือร้นที่จะหาประสบการณ์ใหม่ๆ โลกทั้งใบช่างเย้ายวนให้ออกค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่สงสัย การเล่นและประสบการณ์ในแต่ละวัน เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเขา เด็กๆ กำลังเรียนรู้โลกจากสิ่งรอบตัว จากทุกสิ่งที่มองเห็น ได้ยิน สัมผัส ชิมรส ดมกลิ่น หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือ ทำโลกทั้งใบให้กลายเป็นห้องเรียน ใส่ใจกับสิ่งที่เขาทำ ตอบในสิ่งที่เขาถาม และช่วยเขาค้นคว้าในสิ่งที่เขาสนใจ


ช่วงวัยนี้ล่ะค่ะเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังสร้างทัศนคติต่อการเรียนรู้ ซึ่งจะติดตัวไปจนตลอดชีวิต ถ้าเด็กๆ ถูกห้ามว่า "อย่า..." หรือ บอกให้ "ระวัง" อยู่เสมอๆ มันสร้างทัศนคติที่เป็นคนขี้ระแวง ขลาดกลัวต่อการเรียนรู้ ตรงกันข้ามกับเด็กที่ได้รับอิสระตามสมควร จะเป็นคนที่มีความสุข และมีกำลังใจในการเรียนรู้


ก่อนจะห้ามลูกทำอะไร ลองถามตัวเองว่า มันจะเป็นอะไรไปเล่า ถ้าเขาจะสกปรกเลอะเทอะ เสียงดังหรือทำอะไรแผลงๆ ไปบ้าง ถ้ามันปลอดภัย และไม่รบกวนผู้อื่นก็ปล่อยให้เขาได้ตั้งคำถาม ทดลอง ค้นคว้า มันก็เป็นวิธีที่เขาจะเรียนรู้โลกนะคะ 
เพื่อความเข้าใจในตัวลูก เรามาดูกันไปทีละขั้นตอนเลยดีกว่าว่า เด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการอย่างไร และพ่อแม่จะส่งเสริมลูกให้เป็นคนใฝ่รู้ได้อย่างไร


วัย 7 ขวบ


ลูกเข้าสู่วัยประถมแล้วนะคะ เป็นวัยที่กระตือรือร้นและสนใจทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว มีความสามารถทางร่างกายเพิ่มขึ้น เดินเหิน ตีลังกาได้คล่องขึ้น ไม่ค่อยหกล้มหรืองุ่มง่ามอย่างเด็กวัยอนุบาล สามารถใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น แขน ขา นิ้ว ประสานร่วมกับความสามารถของประสาทตาได้ดีขึ้น เขาจึงเริ่มเล่นกีฬาต่างๆ ได้ดี วัยนี้จึงสนใจเล่นกีฬาเป็นพิเศษ (นึกถึงเวลาที่ลูกรบเร้าให้พาไปว่ายน้ำ ขอออกไปเตะฟุตบอลที่สวนท้ายหมู่บ้าน หรือชวนเราตีแบดฯ นั่นแหละค่ะ)


ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้กล้ามเนื้อมือทำงานอดิเรกได้มากมาย เช่น งานฝีมือ หรือหัดต่อส่วนประกอบต่างๆ เด็กผู้ชายอาจจะชอบต่อบล็อก เลโก้ โมเดลเครื่องบิน รถจำลอง เด็กผู้หญิงอาจจะชอบปั้นแป้งขนมปังหรือปั้นดินน้ำมัน วาดภาพ ระบายสีตุ๊กตากระดาษ ร้อยสร้อยลูกปัด พับกระดาษ และหัดปักผ้าแบบง่ายๆ ถ้าปล่อยให้ทำตามชอบใจชอบจะเล่นได้นานเป็นชั่วโมงๆ เลยทีเดียวค่ะ และในระหว่างที่เล่น เด็กๆ ก็จะได้พัฒนาทักษะความคิดและจินตนาการและฝึกสมาธิให้จดจ่อไปกับสิ่งที่ทำด้วย


พ่ออาจจะชวนลูกชายต่อโมเดลเครื่องบิน แม่อาจจะชวนลูกสาวปักผ้า (หรือถ้านึกไม่ออกว่าจะชวนลูกทำกิจกรรมอะไร คุณ"น้ำสีฟ้า"กระซิบมาว่า จะลองหาไอเดียจากคอลัมน์ บ่ายวันเสาร์ ก็ได้ ไม่สงวนสิทธิ์)


และถึงแม้ว่าลูกจะยังไม่มายุ่งวุ่นวายกับเรามากนัก พ่อแม่ก็ควรจะแสดงความสนอกสนใจในสิ่งที่เขาทำด้วย เช่น ตั้งใจฟังการซ้อมดนตรี อ่านผลงานของเขา ชื่นชมกับตุ๊กตาดินน้ำมันที่ลูกปั้นมาให้ดู เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่ากิจกรรมของเขาสำคัญแล้วเขาก็พยายามมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นแรงจูงใจในวัยนี้ก็คือ ความปรารถนาจะเป็นที่ยอมรับ ทำให้ผู้อื่นพอใจ โดยเฉพาะถ้าคนนั้นเป็นพ่อและแม่ค่ะ


วัย 8 ขวบ


เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจ กล้าเผชิญหน้า โลกที่เปิดกว้างรออยู่นอกบ้านจึงเชื้อเชิญให้เด็ก 8ขวบออกค้นหา ประกอบกับร่างกายเมแข็งแรง ประสาทมือและตาสัมพันธ์กันมากขึ้น เขาจึงพร้อมจะพุ่งออกไปสู่กิจกรรมต่างๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เตะบอลก็แล้ว อ่านการ์ตูนก็แล้ว ยังอยากออกไปขี่จักรยานอีก คนที่เหนื่อยก็คือพ่อแม่นั้นแหละค่ะ ที่ต้องคอยไล่ตามรถจักรไอน้ำขบวนนี้ให้ทัน


ถ้าลูกอยู่ในวัยนี้ พ่อแม่ต้องพร้อมเล่นและลุยไปด้วยเพราะเขาเรียกร้องเวลาจากพ่อแม่เป็นพิเศษ เดี๋ยวชวนเล่นชวนคุย ชวนทำโน่นทำนี่ เพราะเขาอยากรู้ อยากฟัง อยากทำ อยากเข้าร่วม อยาก...ไปหมด พ่อแม่ไม่อาจนั่งดูเฉยๆ ได้เหมือตอน 7 ขวบ แต่ต้องลงมือทำไปกับเขาด้วย ถ้าลูกมีการบ้าน หรือรายงานยาวเหยียด ก็เอาตรงนั้นแหละมาชวนเขาคิด ชวนเขาค้น ชวนคุย ชวนเขาเขียน ก็จะทำให้งานนั้นน่าเพลิดเพลินยิ่งขึ้น หรือจะชวนลูกทำกับข้าว พับผ้า ล้างรถก็น่าสนุก แถมได้มีเวลาคุยกันกะหนุงกะหนิงตามประสาแม่-ลูก หรือ พ่อ-ลูกอีกต่างหาก


ในวัยขนาดนี้คำพูด ความคิด และการกระทำของพ่อแม่ส่งผลอย่างยิ่งต่อความรู้สึกของเด็กๆ เราสามารถถือโอกาสตอนนี้ ป้อนข้อมูลเกี่ยวกับ ทัศนคติและแนวคิดที่ไม่หนักหนาเกินไปให้เขา เพราะเด็กๆ พร้อมรับและทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น


วัย 9 ขวบ


ถึงเวลาที่เขาอยากจะอยู่เงียบๆ คนเดียว ใช้ความคิดและจินตนาการเอง พอคิดและสงสัยก็อยากลอง อยากทำโน่นทำนี่เขาจะช่างสังเกตละเอียดละออ มีคำถามยุบยิบมากมายมาให้พ่อแม่ปวดหัว


นักวิจัยจากสถาบันจิเชลล์บอกว่า เป็นช่วงวัยที่ดีที่สุดในการเติมเต็มฐานทางการเรียนรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะต้องหา กิจกรรมมายัดให้เต็ม เอี้ยดนะคะ แต่ควรหากิจกรรมที่กระตุ้นจินตนาการ และเว้นวรรคให้เขาหยุดคิดบ้างว่า ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะเป็นวัยที่เริ่มคิดซับซ้อนขึ้น มีเหตุผลขึ้น แล้วก็อยากจะพัฒนาฝีมือตัวเองด้วย เขาอยากจะทำอะไรให้ได้ดีเพื่อความพอใจของตัวเอง มากกว่าเพื่อคำชมอย่างที่แล้ว ๆ มา


วัยนี้ พ่อแม่จะไม่ต้องยุ่งกับเขามาก แค่เฝ้าสังเกตและส่งเสริมวัย 9 ขวบอยู่ห่างๆ เพราะการเข้าไปวุ่ยวายมากเกิน บางทีก็เป็นการบิดเบือน หรือสร้างกรอบให้กับจินตนาการของเด็กๆ โดยไม่ตั้งใจ หาสมดุลระหว่างการใช้เวลาเล่นและคุยกับเขา และเวลาอิสระ ที่เขาสามารถไปเล่นกับเพื่อน หรือเล่นคนเดียวด้วยค่ะ


เด็กวัย 7-9 ขวบ กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างบุคลิกภาพและความคิดอ่าน ถ้าขาดแรงสนับสนุนที่เหมาะสม ก็จะทำให้ความสนใจใคร่รู้ และความคิดสร้างสรรค์ในตัวเด็ก ค่อยๆ หดหายไป พ่อแม่ควรเป็นคนที่สร้างแรงจูงใจให้ลูกอย่างสม่ำเสมอลูกวัยนี้ยังอยากอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ จะเรียก จะชวนทำอะไรเขานึกสนุกทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว จะลงมือสอนลูกเองก็ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนอกจากจะได้สายสัมพันธ์ พ่อแม่ลูกเป็นของแถมแล้ว โบนัสพิเศษก็คือ จะได้สังเกตความสนใจของลูกไปด้วย กิจกรรมที่เขาสนใจ และทำได้ดี อาจจะกลายเป็นความสามารถพิเศษ หรือแม้แต่อาชีพขึ้นมาในวันข้างหน้า

 


หาเวลาพาเขาไปสัมผัสกับประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น พาไปสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ งานแสดงศิลปะ คอนเสิร์ต หรือพา ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยให้เขาตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง


แต่ก็อย่าเอาจริงเอาจังจนกลายเป็นการบังคับนะคะ เด็กที่ถูกยัดเยียดตารางแน่นเอี้ยด ให้ทำโน่นทำนี่มากเกินไป กลับกลายเป็นคนเครียดและขยาด ต่อการเรียนรู้ในที่สุด อย่าลืมว่ากิจกรรมสำหรับเด็กๆ ยังเป็นแค่การเล่นเพื่อความพอใจ และสร้างทักษะในสังคมมากกว่าอย่างอื่น พ่อแม่ที่คาดหวังสูงเกินไป จะทำลายความสนุกทั้งของตัวเองและของลูกด้วย


จะทำอะไร ได้ผลสำเร็จแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับว่า เขา "รัก" และ"สนุก" กับการเรียนรู้ เป็นเบื้องต้นก่อนหรือไม่นะคะ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=707&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด