โรคลมแดด


784 ผู้ชม


โรคลมแดด นับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนจัดกว่าทุกปี         โรคลมแดด นับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนจัดกว่าทุกปี 

ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหลายโรค โรคหนึ่งที่มีคนเป็นบ่อยช่วงหน้าร้อนคือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke)
โรคลมแดดเริ่มมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 จัดได้ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์อย่างแท้จริง เนื่องจากหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการลงได้อย่างมาก การป้องกันตัวเช่นหากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ทหารผู้ที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน, นักกีฬาสมัครเล่น และผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มเหล้าจัด ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งมียาที่มักเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอุณหพาต ได้แก่ แอมเฟตามีน, โคเคน และยาที่ออกฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก ได้แก่ ยาต้านซึมเศร้าชนิดไตรซัยคลิก, ยาต้านฮิสตามีน เป็นต้น

ลักษณะสำคัญของโรคลมแดด

  1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดดมักมาด้วยอาการสามอย่างคือ มีไข้สูง อุณหภูมิแกนสูงกว่า 40.5 องศาเซลเซียส ระบบประสาทกลางทำงานผิดปกติ และไร้เหงื่อ
  2. สมองท้ายซีรีเบลลัมเป็นสมองส่วนที่ไวต่อความร้อนมากที่สุด จึงอาจพบอาการโซเซได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ
  3. ความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ ที่อาจพบ ได้แก่ plantar responses, decorticate และ decerebrate posturing, hemiplegia, status epilepticus และหมดสติ
  4. สัญญาณสำคัญของโรคลมแดดคือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที

สาเหตุ

  1. เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไป ส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภุมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ
  2. เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และนักกรีฑา ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออก นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบมัยโอโกลบินในปัสสาวะด้วย

อาการ

  1. โรคฮีทสโตรกเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
  2. อาการที่เบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศรีษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน
  3. อาการเพิ่มเติม ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค
  4. เกิดการสะสมของสารไฟบริน จนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

การช่วยเหลือเบื้องต้น

  1. นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก
  2. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
  3. เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่แผนกฉุกเฉิน

  1. การกู้ชีพเบื้องต้น
  2. วิธีการลดอุณหภูมิกาย

การกู้ชีพเบื้องต้น

  1. ในเบื้องต้นต้องให้ความเอาใจใส่กับระบบทางเดินหายใจ และระบบการไหลเวียนโลหิต รวมทั้งให้ออกซิเจนตามความเหมาะสม
  2. ติดตามสัญญาณชีพอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครื่องวัดชีพจร และออกซิเจนในเลือดชนิดอัตโนมัติ และควรติดเครื่องตรวจวัดระบบไหลเวียนเลือดที่แม่นยำร่วมด้วย
  3. เปิดหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็ว แต่ต้องระวังการให้สารน้ำ โดยแนะนำให้เริ่มให้สารน้ำด้วยน้ำเกลือนอร์มัล หรือสารละลายริงเกอร์แลคเตท ประมาณ 250 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจ และหลอดเลือด ควรตรวจวัดด้วยความดันพัลโมนารีเว็ดจ์ เพื่อเป็นแนวทางในการให้สารน้ำ รวมทั้งใส่สายสวนปัสสาวะ
  4. ต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิแกนเป็นระยะๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การสอดปรอทวัดอุณภูมิกายทางทวารหนักชนิดอิเลกทรอนิกส์ การใช้เครื่องวัดอุณหภูมิที่เป็นแก้วอาจเป็นอันตรายในผู้ป่วยที่ชักหรือมีสภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้

วิธีการลดอุณหภูมิกาย

  1. เป้าหมายของการรักษาในเบื้องต้น คือการลดอุณหภูมิแกนกายอย่างรวดเร็วให้ลงมาที่ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการใช้วิธีทางกายภาพ การใช้ยาลดไข้มักจะไม่ได้ผล
  2. การแช่ผู้ป่วยลงในน้ำเย็นเป็นข้อห้ามสัมพัทธ์ หากผู้ป่วยต้องได้รับการช็อคหัวใจ หรือใส่เครื่องตรวจวัดระบบไหลเวียนเลือด
  3. ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลปกป้องทางเดินหายใจ ไม่ควรสวนล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำแข็ง การล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำผสมน้ำแข็งอาจทำได้อย่างปลอดภัยในผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมแล้ว
  4. การทำให้เย็นด้วยการล้างช่องเยื่อบุท้องด้วยน้ำแข็ง เป็นวิธีการที่มีประสิทธิผล และทำให้ส่วนกลางของร่างกายเย็นลงอย่างรวดเร็ว วิธีการลดอุณหภูมิกายดังกล่าว ควรหยุดเมื่ออุณหภูมิแกนซึ่งวัดทางทวารหนักลดลงถึง 40 องศาเซลเซียส เพราะหากยังคงดำเนินวิธีการทำให้เย็นต่อไปจนต่ำกว่าอุณหภูมิดังกล่าวนี้ มักทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำเกินไปได้ การล้างช่องเยื่อบุท้องด้วยน้ำแข็งก็มีข้อห้ามสัมพัทธ์ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือเคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
  5. การทำให้เย็นโดยอาศัยการระเหยของน้ำทำได้ด้วยการถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกให้หมด แล้วเช็ดตัวผู้ป่วยให้ทั่วด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือใช้กระบอกพ่นละอองน้ำ พรมให้ทั่วตัวผู้ป่วย ซึ่งอาจใช้กระบอกพลาสติก เช่นเดียวกับการพรมน้ำเสื้อผ้าเตรียมรีด ตั้งพัดลมให้เป่าที่ตัวผู้ป่วยโดยตรงตลอดเวลา อย่าปกคลุมตัวผู้ป่วยด้วยผ้าแล้วทำให้เปียก เนื่องจากจะขัดขวางการระเหยของน้ำจากผิวหนัง
  6. พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนเพียงสองอย่างเท่านั้นที่อาจเกิดได้จากการทำให้เย็น โดยอาศัยการระเหยของน้ำ คือการสั่น และไม่สามารถติดอิเลคโทรดที่ผิวหนังด้านหน้าของผู้ป่วยได้ อาการสั่นสามารถบำบัดได้ด้วยการให้ยาเบนโซไดอะซีปีนเข้าหลอดเลือดดำ และอิเลคโทรดสามารถติดที่ด้านหลังตัวผู้ป่วยได้

โรคและภาวะแทรกซ้อน

  1. แม้ในผู้ป่วยที่อายุน้อย และมีสุขภาพดีมาก่อนก็อาจพบภาวะหัวใจวาย, ปอดบวมน้ำ และการทรุดลงของระบบหัวใจ และหลอดเลือด ในทุกอายุการมีภาวะความดันโลหิตต่ำ, ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง และการลดลงของหทัยดัชนี บ่งชี้ถึงการพยากรณ์โรคที่แย่ ในกรณีดังกล่าวนี้ อาจมีความจำเป็นต้องใช้สายสวนหลอดเลือดใหญ่ เพื่อประเมินการให้สารน้ำอย่างเหมาะสม
  2. ความผิดปกติของตับ และไตอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคลมแดด อุณหภูมิที่สูงอาจก่อให้เกิดภยันตรายได้โดยตรง ก่อให้เกิดกสรตายของเซลล์ เป็นผลให้ตรวจพบการทำงานของตับผิดปกติได้ แต่มักไม่ใคร่พบว่าเป็นดีซ่าน การตรวจปัสสาวะมักพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะที่ตรวจพบได้ในกล้องจุลทรรศน์ พบโปรตีนในปัสสาวะได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนด้วยภาวะพร่องปริมาตร และมีปริมาณเลือดที่ไปสู่ไตลดลง อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกายมักแทรกซ้อนด้วยการสลายตัวของกล้ามเนื้อ บางครั้งมีภาวะมัยโอโกลบินในปัสสาวะอย่างมาก และมีภาวะไตวาย ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนี้อาจไม่ได้เกิด ในช่วงแรก แต่อาจพบได้ในหลายวันหลังจากการได้รับภยันตราย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดระดับครีอะตินีนฟอสโฟไคเนส และการตรวจหน้าที่ไต เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
  3. การตรวจสภาพการแข็งตัวของเลือดอาจพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ระดับโปรธรอมบินในเลือดต่ำ และระดับไฟบริโนเจนในเลือดสูง

ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=696&sub_id=95&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด