ควันบุหรี่มือสอง บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองของการเสียชีวิตทั่วโลก ปัจจุบันพบคนสูบบุหรี่ทั่วโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 650 ล้านคน
ในแต่ละปีมีคนไม่สูบบุหรี่หลายแสนคนต้องเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ควันบุหรี่ในบรรยากาศ หรือควันบุหรี่มือสอง เกิดขึ้นจากสองแหล่ง คือ ควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมา และควันบุหรี่ที่ลอยจากตอนปลายมวนบุหรี่ และทันทีที่บุหรี่ถูกจุดขึ้น การเผาไหม้ของมวนบุหรี่จะทำให้เกิดสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด เป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และกว่า 50 ชนิด ที่เป็นสารพิษที่วงการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
ในห้องที่มีผู้สูบบุหรี่ จะพบว่ามีควันบุหรี่เกิดขึ้นจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ ควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่สูดเข้าไปแล้วพ่นออกมา ซึ่งประกอบด้วยสารพิษต่างๆ เช่นเดียวกับที่ผู้สูบบุหรี่ได้รับ แต่จะมีความเข้มข้นของสารพิษลดลงเนื่องจากปอดของผู้สูบบุหรี่ได้ดูดซึมสารพิษบางส่วนไว้แล้ว ได้แก่ นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ ทาร์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ แอมโมเนีย เบนโซไพรีน แคดเมียม ฟอร์มอร์ลดีไฮด์ เป็นต้น อีกแหล่งหนึ่งเป็นควันบุหรี่จากปลายมวนบุหรี่ที่จุดทิ้งไว้ระหว่างสูบซึ่งจะมีความเข้มข้นของสารพิษมากขึ้น โดยพบว่า นิโคติน มีมากขึ้นเป็น 2 เท่า แอมโมเนีย มีมากขึ้นเป็น 73 เท่า คาร์บอนมอนอกไซด์ มีมากขึ้นเป็น 5 เท่า เบนโซไพรีน มีมากขึ้นเป็น 3 เท่า ทาร์ มีมากขึ้นเป็น 2 เท่า และแคดเมียม มากขึ้น 3 เท่า
ควันบุหรี่ภายในอาคารที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมา และจุดทิ้งไว้ระหว่างการสูบบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งกรุ๊ปเอ หรือชนิดที่ร้ายแรงที่สุด เนื่องจากประกอบด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าจากแหล่งมลพิษอื่นๆ ภายในอาคาร เมื่อผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายได้ไม่ได้สูบเองจึงเรียกว่าเป็นการสูบบุหรี่มือสอง ปริมาณควันบุหรี่ที่ผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับจะขึ้นกับจำนวนบุหรี่ที่มีการสูบในห้องนั้น ระยะเวลาที่อยู่ในห้องเดียวกัน ขนาดของห้องและการถ่ายเทอากาศของห้องนั้น
สารพิษที่พบในควันบุหรี่
สารพิษที่พบในควันบุหรี่ ล้วนส่งผลต่อร่างกายอย่างร้ายแรง
- นิโคติน มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดและทำให้เกิดโรคหัวใจ
- ทาร์ ประกอบด้วยสารหลายชนิด เป็นละอองเหลว เหนียว สีน้ำตาลคล้ายน้ำมันดิน สารก่อมะเร็งส่วนใหญ่จะอยู่ในสารทาร์นี้
- คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่พ่นออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ ก๊าซนี้จะขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง
- ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นก๊าซที่ทำลายเยื่อบุหลอดลม และถุงลม ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่ทำลายเยื่อบุหลอดลม และถุงลม ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง
- แอมโมเนีย มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
- ไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่ใช้เป็นยาเบื่อหนู
- สารกัมมันตภาพรังสีโพโลเนียม–210 เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง
- ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ เป็นสารที่ใช้ในการดองศพ
สถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสอง
- คนไม่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ได้รับควันบุหรี่มือสอง
- โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก และคนใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่ เสี่ยงต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองสูง ผู้ชายมีแนวโน้มได้รับควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้หญิง
- ปัจจัยที่ทำให้เด็กได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด คือ พ่อแม่ที่สูบบุหรี่ และฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวต่ำ
- ในผู้ใหญ่ ปัจจัยที่ทำให้ได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด คือ คนสูบบุหรี่ที่อยู่บ้านเดียวกัน และฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวต่ำ
- ประชากรทุกกลุ่มอายุมีโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองที่มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด
- คนที่อยู่ในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ จะได้รับควันบุหรี่มือสองในระดับต่ำที่สุด
- อัตราส่วนของบ้านที่มีคนสูบบุหรี่แต่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2539 เป็น 37% ในปี 2546 นั่นทำให้โอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองน้อยลง
- เป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า บ้านเป็นแหล่งสำคัญของควันบุหรี่มือสองในผู้ใหญ่ กลุ่มที่ทำงานในสถานบริการ เช่น บาร์ ยังเป็นแหล่งของควันบุหรี่มือสองในระดับสูงมาก
- จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลง กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน จะช่วยลดการได้รับควันบุหรี่มือสองลงได้ และช่วยป้องกันคนไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสองได้
ผลของควันบุหรี่มือสองต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับควันบุหรี่
- ผู้ใหญ่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน หรือที่ทำงาน วันละ 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-30 เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 จะมีอัตราการเป็นโรคมะเร็งที่ลำคอมากกว่าผู้ไม่ได้รับควันบุหรี่ 3 เท่า และเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งอื่นๆ มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า โดยควันบุหรี่มือสองก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเลือดหัวใจทันทีที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง
- หญิงมีครรภ์ และทารกที่ได้รับควันบุหรี่มืออย่างต่อเนื่อง จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ และคลอดบุตรได้ โดยอาจมีอาการครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด และเกิดอาการไหลตายในเด็กสูงขึ้น
- เด็กเล็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ และปลอดบวม สูงกว่าเด็กทั่วไป มีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลาง ในระยะยาว เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะมีพัฒนาการของปอดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
- ควันบุหรี่มือสองเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เมื่อคนไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เขาได้สูดดมสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกับคนสูบบุหรี่ และไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง แม้จะได้รับเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็เป็นอันตรายได้
- โดยเฉลี่ยแล้วเด็กๆ จะได้รับควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ วิธีเดียวที่จะปกป้องครอบครัวของคุณจากควันบุหรี่มือสองได้ คือ การเลิกสูบบุหรี่
มาตรการป้องกันควันบุหรี่มือสองที่บ้าน
- การได้รับควันบุหรี่มือสองที่บ้านเป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก
- ความตระหนักถึงผลกระทบของควันบุหรี่มือสองต่อสุขภาพของเด็กยังมีน้อยมาก
- มาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสองที่บ้านคือ พ่อแม่ และผู้ดูแลเด็กต้องเลิกสูบบุหรี่
- ทางเลือกอื่นคือ การห้ามสูบบุหรี่ในบ้านอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะขจัดควันบุหรี่มือสองได้อย่างมาก
- การลดควันบุหรี่มือสองโดยการห้ามสูบบุหรี่ในบ้านเพียงบางที่บางส่วนที่ห่างจากเด็ก ไม่ใช่วิธีป้องกันที่ดี
- มาตรการที่มุ่งที่การปรับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของตัวบุคคลหรือคนในบ้าน และลดการสูบบุหรี่ในบ้าน โดยไม่มีการห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน จะไม่มีผลกระทบต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน
- การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะลดโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองภายนอกบ้านของเด็ก
- ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า การห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงาน และภายในอาคารสาธารณะ จะเพิ่มโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองของเด็กที่บ้าน
- การห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงาน และภายในอาคารที่สาธารณะ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง และทำให้คนอยากเลิกสูบบุหรี่ นำไปสู่การลดควันบุหรี่มือสองที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำไปพร้อมกับการให้ความรู้ถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง
- การช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ทั้งระดับชุมชน และส่วนบุคคล ร่วมกับการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดควันบุหรี่มือสองที่บ้าน
ควันบุหรี่มือสอง ตัวการเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ
ปัจจุบันพบว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่กลับไปสูบใหม่ แหล่งควันบุหรี่มือสองที่สำคัญที่สุดคือ ในอาคาร และในบ้าน จากรายงานวิจัยในประเทศตุรกี ทำการศึกษาผู้ที่มารับการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่ 169 คน โดยให้เข้าโปรแกรมเลิกบุหรี่ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้ยาช่วยอดบุหรี่จนเลิกบุหรี่ได้ ในการติดตามผลการรักษาต่อมาพบว่า 68 คนเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ในขณะที่ 101 คนกลับไปสูบใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่กลับไปสูบใหม่ แหล่งควันบุหรี่มือสองที่สำคัญที่สุดคือ ในอาคารและในบ้าน และหากมีภรรยาที่สูบบุหรี่ในบ้าน โอกาสที่จะเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้จะเพิ่มขึ้น 2.8 เท่า ผู้วิจัยเสนอให้ผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเลิกสูบบุหรี่หลีกเลี่ยงการที่จะได้รับคว�
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=691&sub_id=95&ref_main_id=2