โรคจิตเภท


1,343 ผู้ชม


จิตใจมันไม่เป็นระบบ ไม่เป็นระเบียบ ก็เกิดอาการต่างๆ มากมายขึ้นมา ถึงให้คำนิยามหรือเรียกโรคนี้ว่า โรคจิตเภท ทั้งนี้ไม่ใช่ เพศชาย เพศหญิง แต่เป็น "เภท" ลักษณะของคนไข้แตกต่างกันได้หลายลักษณะ พบว่า บุคคลเร่ร่อนกว่าครึ่งจะเป็นกลุ่มโรคจิตเภทที่ขาดการดูแลรักษา และมีความเสื่อมจนในที่สุดออกไปเร่ร่อน มักจะเห็นภาพพะรุงพะรังของเสื้อผ้า หรือของอะไรที่แปลกๆ บางทีไปยืนอยู่ริมถนน หรือบางคนเอาอะไรแปลกๆมากิน โดยที่คนทั่วไปฟังแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียน
อาการหลักจริงๆ ของผู้ป่วยโรคจิตเภท เป็นความคิดที่ผิดปกติไป เริ่มต้นที่คนป่วยเป็นโรคจิตก่อน เช่น การเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เคยคิดแบบวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนไปคิดเป็นเชื่อไสยศาสตร์ เคยอารมณ์เย็น กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน มีลักษณะหลุดอออกจากโลกของความเป็นจริง เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน มีอาการหลงผิด และไม่ยอมรับความเจ็บป่วย สำหรับโรคจิตเภท ความคิดผิดปรกติจะเด่นชัด โดยเฉพาะพวกกลุ่มอาการที่หลงผิด ประสาทหลอน แต่ตัวอาการของโรคจิตเภท คนใกล้ชิดที่สังเกตเห็น เริ่มต้นอาจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ความสนใจในตัวเองลดน้อยลง แยกตัว เก็บตัว ความสนใจเรื่องความสะอาดลดน้อยลง หรือถ้าเป็นในคนที่อยู่ในวัยเรียน ความสนใจในการเรียนอาจจะลดลง ผลการเรียนตกต่ำลง แยกตัวมากขึ้น หรือถ้าอาการเป็นมากขึ้น ญาติอาจจะสังเกตเห็นว่า เริ่มพูดคนเดียว ทำท่าเหมือนพูดคุยกับใคร มีชี้มือชี้ไม้ มีนั่งยิ้มคนเดียว เอากระจกมาส่องทั้งวัน หรือมีท่าทีแบบหวาดระแวงหรือกลัว ปิดประตูบ้าน บอกว่ามีคนนู้นคนนี้จะมาทำอันตราย
ปัจจุบันมีการค้นพบว่า โรคจิตเภทเกิดจากการแปรปรวนของสารเคมีบางชนิดในระบบประสาท ซึ่งอาจเกิดขึ้นเอง โดยมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการมักจะเริ่มต้นตอนวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น โรคมักจะดำเนินไปอย่างเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเกิดปัญหาในการดูแลผู้ป่วยอย่างมาก สาเหตุมีหลายด้านประกอบกัน การเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก ทัศนคติพ่อแม่ ปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง แรงกดดันในวัยเด็ก การพบเรื่องของไวรัสหรือพิษต่างๆ ก็พบว่ามีหลักฐานอยู่เหมือนกันที่พบว่าจะเกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดแล้วยังพบว่ามีปัจจัยหลายๆ ด้านร่วมกันก็คือ เรื่องของสมอง เพราะว่าปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีผลกระทบต่อสมองก็ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองเป็นตัวทำให้เกิดโรค สารสื่อนำประสาทในสมอง ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ต้นกับเซลล์ปลาย หากสารเคมีในสมองมีปริมาณและสัดส่วนที่ผิดปรกติ โดยการจับ การรับจะเป็นในปริมาณที่ไม่สมดุลกัน บางอย่างมากเกินไป ทำให้การทำงานของสมองผิดปรกติหรือเปลี่ยนไปจากปรกติ ก็จะทำให้อาการเรื่องของความคิดหรือการรับรู้ผิดไป
การรักษาที่ได้ผลดี คือ การใช้ยา แพทย์จะให้ยารับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน บางรายอาจต้องรับประทานยาต่อไปอีกหลายปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด ญาติผู้ป่วยอาจต้องคอยดูแลเรื่องการรับประทานยาให้สม่ำเสมอ ยาต้านโรคจิตได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทได้มากทีเดียวในการลดอาการที่ป่วยอยู่ และช่วยให้กลับมาทำงานได้เกือบเหมือนเดิม แต่ยาก็ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยจิตเภทให้หายขาดได้ หรือไม่สามารถรับประกันได้ว่าอาการของโรคจะกำเริบกลับมาเป็นใหม่อีก พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยจิตเภทถ้าไม่ได้รับยาต่อเนื่องมักมีอาการกลับเป็นซ้ำของโรคอีก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่มักจะต้องใช้ยารักษาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ในช่วงแรกหลังจากที่ได้รับยาผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงนอน กระสับกระส่าย ปวดเมื่อย ตัวสั่น ตาพร่ามัว ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยยาอีกตัวหนึ่งที่แก้ผลข้างเคียงเหล่านี้
การฟื้นฟูสภาพจิตใจ เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเภทโดยที่ไม่ใช้ยา โดยจะเน้นในด้านการฝึกการเข้าสังคม การฝึกอาชีพเพื่อช่วยผู้ป่วยเอาชนะกับปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านของสังคมหรือหน้าที่การงาน ซึ่งโปรแกรมของการฟื้นฟุสภาพจิตใจนี้จะรวมถึงการให้คำปรึกษาในด้านอาชีพ การเข้าสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในด้านนี้หลังจากที่หายจากโรคและเริ่มออกไปใช้ชีวิตในสังคม ส่วนการทำจิตบำบัดเป็นการรักษาโดยใช้วิธีพูดคุยระหว่างผู้ป่วยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ในเรื่องปัญหา ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก ความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่เป็นความจริงกับที่ไม่ใช่ความจริง
คนที่เป็นโรคจิตที่อยู่ในเรือนจำ มีอยู่ประมาณ 1.4% แม้ว่าในงานวิจัยยังไม่สามารถเจาะลึกลงไปดูในพฤติกรรมคดีได้ทั้งหมดว่า ตอนที่กระทำความผิดนั้น เกี่ยวข้องกับโรคจิตด้วยหรือไม่ แต่มักเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติด ลำพังการเป็นโรคจิตอย่างเดียว จะไปก่อคดีต้องมีแนวความคิดที่หลงผิด ผิดปกติไป บวกกับประสบการณ์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งต่างๆ การใช้กลไกทางจิตเป็นการป้องกันตัวเอง แต่คนเราจะก่อคดีได้ มันต้องมีปัจจัยมากระตุ้น ผู้ป่วยที่ก่อคดีในโรงพยาบาลเกือบทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเสพติดเพื่อรักษาตัวเอง โดยเกิดจากประสบการณ์ของเขา เช่น ใช้สารเสพติดแล้วอาการนอนไม่หลับน้อยลง หรืออาการเครียดน้อยลง ก็เลยไปใช้เพื่อบำบัดตนเอง หรือใช้ไปจนติดแล้วทำให้การยับยั้งชั่งใจลดลง บวกเข้าไปกับอาการของโรค
ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ญาติต้องให้ความเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยมิได้มีเจตนาจะสร้างความเดือดร้อน ความรำคาญให้กับญาติ ควรให้อภัยและไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น พร้อมทั้งเสนอความช่วยเหลือแก่เขา ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก อันดับต่อไปคือ ให้การดูแลเรื่อง การกินยา การดูแลสุขภาพอนามัย การพาไปพบแพทย์ตามนัด และหากในระหว่างอยู่บ้าน ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้น ก็ให้ขอคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์ หรือพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้านเพื่อผู้ป่วยจะได้รับการดูแล ที่เหมาะสมต่อไป ควรช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง
ญาติควรช่วยพาผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาให้สม่ำเสมอ ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้การดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ญาติควรจะมาติดต่อกับแพทย์ เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบซึ่งญาติจะได้รับคำแนะนำเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย ถ้าพบความผิดปกติ เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะหรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ควรจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมาก ฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับบังคับมากเกินไป
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=679&sub_id=71&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด