การเสียชีวิตของนักกีฬาในสนามแข่งขัน (ตอนที่ 1


1,202 ผู้ชม


ท่านที่ได้ติดตามข่าวกีฬาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคงทราบดีว่า มีการเสียชีวิตของนักกีฬาเทนนิส ระดับเยาวชน          ท่านที่ได้ติดตามข่าวกีฬาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคงทราบดีว่า มีการเสียชีวิตของนักกีฬาเทนนิส ระดับเยาวชน 

ที่กำลังแข่งขันกันในรายการ "ดันลอป – ลอนเทนนิสพัฒนาฝีมือสร้างชื่อทีมชาติ รอบมาสเตอร์ ประจำปี 2552"
เกิดขึ้นในสนามของศูนย์พัฒนากีฬาเทนนิสแห่งชาติ เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 นับเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงกีฬาเทนนิส และวงการกีฬาอื่นๆ ที่เราอาจนำมาเป็นข้อคิดหรือเป็นบทเรียนได้ในหลายมุมมองด้วยกัน ซึ่งผมหวังว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงกีฬา ตั้งแต่นักกีฬา ผู้ตัดสิน ฝ่ายจัดการแข่งขัน สมาคมกีฬาต่างๆ ตลอดจนการกีฬาแห่งประเทศไทย น่าที่อาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นำมาทบทวนว่า ในปีใหม่ 2553 นี้ เราจะมีข้อแนะนำอะไร สำหรับการเตรียมเผชิญกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับการแข่งขันกีฬาอะไรก็ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังค่อนข้างมาก

สาเหตุการเสียชีวิต

ก่อนอื่นผม และทีมข่าวกีฬา นสพ.เดลินิวส์ต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของน้องนอร์ท วรปรัชญ์ ลิ่วศรีสกุล นักกีฬาเทนนิสวัย 15 ปี ผมได้มีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับบิดาของน้องนอร์ท คือ นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหืดหอบ ถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างกระทันหันว่าน่าจะเกิดจากเรื่องหัวใจเพราะหมดสติล้มลง ในขณะที่ที่กำลังแข่งขันในเซตที่สอง และขณะล้มลงหมดสตินั้นก็เป็นขณะที่กำลังเดินเพื่อที่จะทำการเสิร์ฟที่ท้ายคอร์ต ซึ่งน้องนอร์ทเป็นนักเทนนิสที่มีฝีมือ มีการฝึกซ้อมเป็นอย่างดีมาตลอด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นจากการที่หัวใจหยุดเต้นทันที ซึ่งในภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Sudden Cardiac Arrest ซึ่งต่อมาทำให้เกิดการเสียชีวิตที่เรียกว่าSudden Cardiac Deat

ในตำราแพทย์ของฟีฟ่า (Football Medicine Manual) ได้กล่าวถึงสาเหตุการเสียชีวิตในนักกีฬาทั่วๆ ไป ที่มีการฝึกซ้อมกันเป็นประจำว่าให้นึกถึงสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. นักกีฬาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี สาเหตุน่าจะเป็นจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัวขึ้น (Hypertrophic Cardiomyopathy) มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เมื่อออกแรงมากขึ้น การทำงานของหัวใจล้มเหลวลง ทำให้หัวใจไม่สามารถเต้นหรือบีบตัวได้ตามปกติ
  2. หากนักกีฬาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี สาเหตุน่าจะเป็นจากภาวะที่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน เมื่ออกแรงมากขึ้น หัวใจต้องทำงานมากขึ้นเพื่อนำเลือดที่มีสารอาหาร และอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจเองมีการตีบตัน ไม่สามารถนำสารอาหารหรืออ๊อกซิเจนมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ การทำงานของหัวใจก็จะล้มเหลวลงได้

สถิติในต่างประเทศ

สถิติการเสียชีวิตเช่นนี้มีรายงานเอาไว้ว่า อาจเกิดได้ 1 ใน 200,000 ราย ในกลุ่มของนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว สำหรับในสหรัฐอเมริกา 15 ปีที่แล้ว ได้มีการศึกษาในกรณีการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของนักกีฬาจำนวน 158 ราย อายุเฉลี่ย 17 ปี ผิวขาว 52% ผิวดำ 48% ส่วนใหญ่เล่นกีฬาบาสเก็ตบอล และอเมริกันฟุตบอล และมักจะเกิดขึ้นขณะทำการฝึกซ้อมช่วงระหว่าง 15.00 น. – 21.00 น. สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการที่หัวใจมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมีอยู่ 36% ซึ่งในกลุ่มที่เสียชีวิตนี้ พบว่ามีการตรวจร่างกาย (Medical Check-Up) ก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน (Pre – Participation) และพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจอยู่เพียง 3% เท่านั้น ซึ่งผู้ทำการวิจัยให้ความเห็นเป็นข้อสรุปว่าจะต้องมีการปรับปรุงการตรวจร่างกายก่อนเข้าร่วมแข่งขันให้มีความไวในการตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคหัวใจให้ได้ดีขึ้น

การศึกษาวิจัยในอิตาลีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

มีการศึกษาในนักกีฬาจำนวน 33,725 ราย ที่ได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ซักประวัติการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงในครอบครัว และมีการตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า Echo Cardiography การทำ exercise stress test (วิ่งสายพาน และทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) และการนำเครื่องบันทึกการทำงานของหัวใจติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง มีการติดตามผลอยู่ 7 ปี และพบว่ามีการเสียชีวิตจากเรื่องหัวใจอยู่ 49 ราย อายุเฉลี่ยประมาณ 23 ปี และสาเหตุส่วนใหญ่จะเป็นการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งแตกต่างกับที่พบในสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสถิติได้เท่ากับ 1.6 ใน 100,000 นักกีฬา เมื่อเทียบกับที่เกิดขึ้นในประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกีฬา เกิดเพียง 0.8 ใน 100,000 ราย

ต่อมาประเทศอิตาลีจึงได้ออกกฎหมายมาบังคับใช้ว่านักกีฬาที่ต้องเข้าแข่งขันกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการแข่งขัน (Competitive Sports) จะต้องผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียดปีละ 1 ครั้ง

สถิติ และกฎระเบียบในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ

สำหรับสถิติเกี่ยวกับการเสียชีวิตกระทันหันในประเทศไทย และมีการศึกษาวิจัยจนทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงด้วยการผ่าศพพิสูจน์ ผมไม่ทราบว่าจะหาข้อมูลจากที่ใด และสำหรับกฎระเบียบเกี่ยวกับการตรวจร่างกายทางการแพทย์ก่อนการแข่งขันของนักกีฬา (Pre – Participation Medical Check-Up) โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังมากๆ เท่าที่ผมทราบยังไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ เพราะแม้แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกก็เพิ่งจะมีการบังคับให้มีการตรวจอย่างจริงจังเมื่อฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมัน นักฟุตบอลที่เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องผ่านการตรวจจนแน่ใจว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอย่างกระทันหันในนักกีฬาที่ใช้แรงมากๆ

นักกีฬาทีมชาติที่เข้าแข่งขันซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และฝ่ายแพทย์คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะให้นักกีฬาทุกคนต้องผ่านการตรวจร่างกาย ก่อนเข้าสู่การแข่งขัน (Pre – Games หรือ Pre – Event medical Check – Up) ซึ่งก็ไม่ได้ตรวจหาโรคหัวใจด้วยการทำ Echocardiography (คลื่นเสียงความถี่สูง) ทุกราย ซึ่งหากเป็นกรณีที่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติมาแต่กำเนิดแล้ว การตรวจร่างกายทั่วๆ ไป ก็ไม่สามารถค้นพบความผิดปกติได้ ดังเช่นที่มีการวิจัยพบว่า การตรวจร่างกายทั่วๆ ไป จะสามารถพบความผิดปกติของโรคหัวใจได้เพียง 3% เท่านั้น

สำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาหนักๆ ที่ต้องใช้แรงมากๆ ในทุกประเทศทั่วโลกนอกจากประเทศอิตาลีที่กล่าวไว้ที่มีกฎหมายบังคับเรื่องการตรวจเช็คร่างกายก่อนการแข่งขัน ประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ไม่ได้มีกฎระเบียบให้นักกีฬาทุกคนต้องตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องความผิดปกติของหัวใจ เพราะส่วนใหญ่นักกีฬาเหล่านี้เล่นกีฬามานานพอสมควร และส่วนใหญ่มีความแข็งแรงมากกว่าคนปกติทั่วไปอยู่แล้ว และความผิดปกติเหล่านี้ก็มีสถิติที่เกิดขึ้นไม่มาก

ในสัปดาห์หน้าผมขอนำเสนอต่อเกี่ยวกับการจัดบริหารทางการแพทย์ฉุกเฉินในการจัดการแข่งขันกีฬา (Emergency Service Stand-By) หลายๆประเภทในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ สวัสดีครับ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=654&sub_id=95&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด