คำว่า "ไข้ทับระดู" เป็นคำที่ใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งมักเล่าขานกันในอดีตว่า ไข้ทับระดูเป็นไข้ที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิง บางคนเป็นแล้วอาจถึงกับเสียชีวิตได้
บางคนก็เรียกไข้ทับระดูในความหมายของการติดโรคผู้หญิงมา โดยที่สมัยก่อนยัง
ไม่มียาฆ่าเชื้อโรคที่ดีพอ เวลาที่ติดเชื้อที่รุนแรง ก็มักจะมีไข้และอาจรุนแรงถึงขั้น
เสียชีวิตได้
ผู้คนในสมัยก่อนยังพูดถึงไข้ทับระดูในลักษณะที่เสียชีวิตขณะฉีดยา ทำให้หลายคนไม่กล้าให้หมอฉีดยาขณะที่มีประจำเดือน เรื่องนี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นผลจาก
การฉีดยาเพนนิซิลินในสมัยนั้น ซึ่งปฏิกิริยาแพ้ยาเพนนิซิลลินสามารถพบได้บ่อย และมีความรุนแรงมาก ปัจจุบันการฉีดยาเพนนิซิลินลดน้อยไปมาก เนื่องจากมียาชนิดอื่นให้เลือกใช้อีกหลายชนิดและยาใหม่ๆ ก็มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะมีประจำเดือน
ระบบต่างๆ มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงหลายประการด้วยกันส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับของฮอร์โมนเพศหญิงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขณะมีประจำเดือนในส่วนของภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อ พบว่าขณะมีประจำเดือน ร่างกาย
มีภูมิต้านทานลดน้อยลง โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อง่ายกว่าปกติ จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ พบว่าการทำหน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่อสู้
เชื้อโรคจะลดน้อยลง สืบเนื่องมาจากผลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีโอกาสติดเชื้อในมดลูก และปีกมดลูกได้มากกว่าปกติ เกิดเป็นภาวะมดลูกอักเสบ และปีกมดลูกอักเสบ ในสมัยก่อนการเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องยากลำบาก สุขอนามัยส่วนตัวยังไม่ได้ดีพอ ไม่มีการใช้ผ้าอนามัยเหมือนในปัจจุบัน อาจจะใช้วัสดุที่ไม่สะอาด หรือใช้ผ้าเก่ามาซับเลือด แล้วนำมาซักใช้ใหม่อีก การอาบน้ำชำระล้างร่างกายก็นิยมลงไปอาบในแม่น้ำลำคลอง เวลาที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิด เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงทำให้โรคค่อนข้างรุนแรง เกิดเป็นไข้ทับระดูขึ้น
มดลูกอักเสบและปีกมดลูกอักเสบ
ปีกมดลูกอักเสบ หมายถึง การอักเสบของท่อรังไข่ ส่วนมดลูกอักเสบ หมายถึง
การอักเสบของเยื่อบุภายในโพรงมดลูก ทั้งสองโรคพบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์
(15-45 ปี) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านช่องคลอดเข้าไปทางปากมดลูก ขึ้นไปในโพรงมดลูก ทำให้เกิดโรคมดลูกอักเสบ และถ้าหากลุกลามต่อไปในท่อรังไข่ ก็
ทำให้กลายเป็นปีกมดลูกอักเสบ
ทั้งสองโรคนี้มักจะพบร่วมกันจนแยกจากกันไม่ออก และมักจะเรียกรวมๆ กันว่า
"อุ้งเชิงกรานอักเสบ"ซึ่งครอบคลุมถึงการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก ท่อรังไข่
รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องภายในอุ้งเชิงกราน โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิงที่มีสามีสำส่อนทางเพศ ชอบเที่ยวหญิงบริการ หรือนิยมมีเพศสัมพันธ์เสรี และมักพบภายหลังคลอดบุตร แท้งบุตร ขูดมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือในบางรายที่ชอบสวนล้างช่องคลอด
สาเหตุ
- เกิดจากเชื้อหนองใน หรือเชื้อคลามัยเดีย ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน มักตรวจพบเซลล์
เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลในต่อมเยื่อบุมดลูก ส่วนการติดเชื่อเรื้อรัง จะตรวจพบพลาสมาเซลล์ และ
ลิมโฟซัยท์ในเยื่อบุมดลูก - ในกรณีที่เป็นหลังคลอด มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยในช่องคลอด เช่น
เชื้อสเตรปโตค็อกคัส, สแตฟฟีโลค็อกคัส ภาวะเยื่อบุมดลูกอักเสบที่เกิดหลังคลอดพบได้บ่อยพอสมควรในเวชปฏิบัติ - ระหว่างคลอดมีปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อโรคเจริญขึ้นจนเป็นโรค เช่นภาวะโลหิตจาง ภาวะถุงน้ำแตกรั่วอยู่นาน การคลอดยาก การบาดเจ็บ ภาวะตกเลือดหลังคลอด เศษรกค้าง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อเป็นการป้องกันในเบื้องต้น
- บางรายเกิดจากการแปดเปื้อนเชื้อจากภายนอกช่องคลอด เข้าไปในช่องคลอด และมดลูก ทำให้เกิดมดลูกอักเสบได้ ในกลุ่มนี้มักเกิดมีอาการหลังคลอด 24 ชั่วโมง
- การทำแท้ง อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าในมดลูก เกิดการอักเสบขึ้นได้ เรียกว่าการแท้งติดเชื้อ
อาการ
อาการ มักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ตกขาวออกเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีประจำเดือนออกมาก และมีกลิ่นเหม็น
ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อหนองใน อาจมีอาการขัดเบา ปัสสาวะปวดแสบขัดร่วมด้วย ถ้าเป็นการติดเชื้อหลังคลอด มักเกิดหลังคลอด 24 ชั่วโมง น้ำคาวปลาอาจออกน้อย หรืออาจออกมาก และมีกลิ่นเหม็น ถ้าเกิดจากการทำแท้ง จะมีอาการแบบแท้งบุตรร่วมด้วย คือปวดบิดท้องเป็นพักๆ และมีเลือดออกจากช่องคลอดร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรค
จากประวัติอาการ แพทย์ตรวจพบผู้ป่วยมีไข้สูง กดเจ็บมากตรงบริเวณท้องน้อยทั้ง 2 ข้าง บางรายอาจเจ็บข้างเดียว อาจได้กลิ่นของตกขาว เลือดประจำเดือน หรือน้ำคาวปลา อาจตรวจพบอาการซีด หรือภาวะช็อก
กรณีผู้หญิงที่มีไข้สูง ปวด และกดเจ็บตรงท้องน้อย ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ นำหนองในช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อ รวมทั้งอาจพิจารณาทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น อัลตราซาวน์
ภาวะแทรกซ้อน
- อาจทำให้เกิดเป็นฝีในรังไข่ หรือท่อรังไข่ ซึ่งจะทำให้เป็นแผลเป็นจนกลายเป็นหมันได้
- มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก มากกว่าปกติ
- บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- เจ็บปวดเวลาร่วมเพศ
- ในบางรายเชื้อโรคอาจลุกลาม จนทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- ถ้ารุนแรงอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ ถึงกับเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากการทำแท้ง
การรักษา
- ผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่ก่อโรค ในรายที่เป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่สามารถครอบคลุมเชื้อหนองใน และเชื้อคลามีเดีย
- ให้การรักษาตามอาการ ให้น้ำเกลือ พิจารณาให้เลือดถ้าซีด
- ผู้ป่วยควรงดการร่วมเพศนาน 3-4 สัปดาห์
- ผู้ป่วยที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด ควรเอาห่วงออก และแนะนำให้คุมกำเนิดโดยวิธีอื่นแทน
- ถ้าเกิดจากเชื้อหนองใน ต้องรักษาสามีพร้อมกันไปด้วย
การป้องกัน
- ควรงดการร่วมเพศ หรือสวนล้างช่องคลอดเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ภายหลังการคลอดบุตรแท้งบุตร หรือ การขูดมดลูก
- สำหรับผู้ที่ไม่อยากได้บุตรในครรภ์ ไม่ควรทำแท้งกันเอง หรือใช้เครื่องมือสกปรกในการทำแท้ง เพราะ อาจติดเชื้อรุนแรงถึงตายได้ ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรง
- ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อหนองในจากสามี ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ก่อนที่จะลุกลามเป็นปีกมดลูกอักเสบ
ไข้ทับระดูที่เกิดจากสาเหตุอื่น
ไข้ทับระดูอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย และไทฟอยด์ เป็นต้น แต่บังเอิญมาประจวบเหมาะกับการมีประจำเดือนเข้า โดยไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับประจำเดือนแต่อย่างไร