เมื่อกล่าวถึงโรคในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือคนในวันทองด้วยแล้ว ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง โดยสาเหตุหลักอันหนึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งมีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง...
ดังนั้นการแนะนำให้ทานแคลเซียมเสริมในผู้สูงอายุจึงนับว่าเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งได้ แต่ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถละเลยในผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานอย่างหนักมาตลอดชีวิต นั้นคือภาวะข้อเสื่อม (Deterioration of Joints) ซึ่งเป็นภาวะที่ข้อต่อโดยเฉพาะข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งต้องรองรับน้ำหนักมากที่สุดเสื่อมสภาพไป ทำให้เยื่อเมือกหล่อเลี้ยงข้อต่อ (Synovial Fluid) ลดน้อยลง เกิดการเสียดสีของกระดูกในขณะที่มีการเคลื่อนไหว
ระบบโครงสร้างร่างกาย (Skeleton Structure) ของมนุษย์เรานั้น ประกอบด้วยกระดูกแข็ง (Bones) ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียม และฟอสฟอรัสเป็นแกนหลัก โดยส่วนปลายกระดูก หรือบริเวณข้อต่อจะมีส่วนที่เรียกว่าปลายกระดูก (Cartilages) ครอบอยู่ ซึ่งกระดูกอ่อนส่วนนี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นเกราะป้องกันการเสียดสีของกระดูกแข็งเวลามีการเคลื่อนไหวของร่างกาย และบริเวณข้อต่อนี้เองจะมีเอ็นยึดกระดูก (Tendons) ที่ทำหน้าที่ยึดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้เนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อกระดูกดังกล่าว ยังสามารถสร้างเยื่อเมือกหล่อเลี้ยงข่อต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการเสียดสีกันทั้งของกระดูกแข็ง และกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่ออีกทางหนึ่งด้วย
ปัญหาเรื่องข้อเสื่อมนี้ ในทางการแพทย์พบว่าเป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อยมาในผู้สูงอายุทีผ่านการทำงานมาอย่างหนัก ทั้งเพศชาย และเพศหญิง และจะก่อให้เกิดภาวะกระดูกแข็ง แตกหักง่าย หรือเดินไปไหนมาไหนลำบาก เกิดภาวะข้อแข็ง เกร็ง และปวดข้อย่างรุนแรงตามมา ในปัจจุบันพบว่ามีการใช้ยาในการรักษาภาวะข้อเสื่อมนี้เป็นจำนวนมากรองจากยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) โดยเฉพาะยาแก้อักเสบในกลุ่ม NSAIDs (Non-Steroid Anti-inflammatory Drugs) ซึ่งส่วนมากเป็นการรักษาอาการปวดที่ปลายเหตุเสียมากกว่า และมักจะมีผลเสียในการก่อให้เกิดปัญหาเรื่องแผลในกระเพาะอาหารตามมา
ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเรื่องข้อเสื่อมนี้คือ การป้องกันหรือชะลดไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวนี้ให้นานที่สุด โดยข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุของข้อต่อ และระบบโครงสร้างของร่างกายเราให้ใช้งานได้เนิ่นนานขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
- หมั่นออกกำลังกายในลักษณะการยืดเส้นยืดสาย พร้อมการฝึกสมาธิ หรือลมปราณควบคู่กันไป เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การรำมวนจีน การฝึกโยคะ ฯลฯ เพื่อเป็นการบริหารข้อต่อให้ใช้งานที่ไม่หนักแต่ใช้สม่ำเสมอ เพื่อให้มีเยื่อเมือกหล่อเลี้ยงข้อต่อตลอดไป และป้องกันไม่ให้ข้อยึดติดกัน
- ฝึกท่าทางการนั่ง การยืน การเดิน ให้ถูกสุขลักษณะที่ดี คือ ไม่ให้ข้อส่วนใดส่วนหนึ่งแบกรับน้ำหนักมากเกินไป การยืนตรง การนั่งหลังตรงไม่นั่งหลังงอ การยกของหนักด้วยท่าที่ถูกต้อง ห้ามใช้หลังรับน้ำหนักในการยกเป็นอันขาด การใช้ที่นอนที่นุ่มจนเกินไปอาจทำให้กระดูกสันหลังงอ แลรับน้ำหนักมากไปจนเกิดอาการปวดหลัง และกลายเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้ร่างกายโภชนาเกินจนอ้วนได้ จะเป็นภาระกับกระดูกหัวเข่าทั้งสองข้างที่ต้องแบกรับน้ำหนักร่างกาย
- งด หรือลดการบริโภคแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพของกระดูก และข้อต่อในระยะยาว หรือแม้กระทั่งการใช้ยาบางประเภท เช่น Steroids ซึ่งมีผลให้ข้อเสื่อม และกระดูกผุได้ หากจำเป็นต้องใช้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีส่วนในการเสริมสร้าง และซ่อมแซมกระดูกอ่อนที่ข้อต่อ คือ Glucosamine Sulfate และ Chondroitin Sulfate ร่วมกัน เพื่อร่างกายนำไปใช้ในการสร้างโปรตีน คอลลาเจน (Collagen) สำหรับกระดูกอ่อน และเอ็น รวมถึงกระตุ้นการสร้างเยื่อเมือกหล่อเลี้ยงข้อต่อ
พึงระลึกเสมอว่าข้อต่อที่ขาดปลายกระดูกอ่อน และเยื่อเมือกหล่อเลี้ยงนั้นย่อมไม่สามารถใช้งาน หรือเคลื่อนตัวได้อย่างง่ายดาย ยิ่งถ้าเกิดการอักเสบ และปวดบวมด้วยแล้ว ประสิทธิภาพของร่างกาย และสุขภาพของคุณคงจะถดถอยลงไปมาก ส่งผลให้การดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน การใช้ความคิดความอ่าน และสมาธิได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นบริหารข้อวันละนิด จะมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายของคุณไปได้อีกนาน
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=617&sub_id=6&ref_main_id=2