สุขภาพร่างกายของเรา เป็นสมบัติอันมีค่ามหาศาลยิ่งกว่ารถยนต์คันหรูที่บางคนดูแลเอาใจใส่ดียิ่งกว่าลูก ท่านใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของท่านบ้างหรือไม่ ?
การทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ของคนเปรียบเสมือนการทำงานของเครื่องจักรหรือรถยนต์ ที่ต้องได้รับการตรวจสภาพการใช้งานอย่างสม่ำเสมอว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายหรือไม่ เพื่อทำการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
การดำเนินชีวิตในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหามลพิษต่างๆ มากมาย ร่างกายได้รับสารพิษและเกิดการสะสมอยู่ในร่างกายโดยที่เราไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดโรคบางอย่างที่อาการยังไม่แสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อทราบก็สายเกินกว่าที่จะแก้ไข
ในแต่ละปี เราควรจัดเวลาให้ตัวเองในการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ ของร่างกายอย่างละเอียด การตรวจสุขภาพจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคบางโรคได้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น และยังช่วยให้ทราบถึงรอยโรค ก่อนที่จะลุกลาม ร้ายแรง จนยากจะเยียวยา หรือสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการตรวจสุขภาพ
รายการตรวจ | ประโยชน์จากการตรวจ | |
1. วัดความดันโลหิต ชีพจรและตรวจร่างกายโดยแพทย์ | PE | ระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไปว่า ลักษณะและอวัยวะต่างๆ เช่น หู คอ จมูก ปอด การเต้นของหัวใจปกติหรือไม่ |
2. ความผิดปกติของเม็ดเลือด เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด | CBC | เพื่อให้ทราบว่าเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ ปริมาณและชนิดของเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ อาจนำไปสู่การติดเชื้อ และเพื่อตรวจหาโรคมะเร็งในเม็ดเลือด |
3. ระดับน้ำตาลในเลือด | FBS | เพื่อตรวจหาความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย |
4. การทำงานของไต | BUN | เป็นการวัดระดับสารเคมีในเลือดเพื่อดูความสามารถของไตในการขับถ่ายของเสียและการตรวจหาภาวะไตเสื่อม ไตวาย |
5. การทำงานของตับ | SGOT & SGPT | เพื่อตรวจปริมาณเอนไซม์ในตับว่าผิดปกติหรือไม่ หากมีค่าสูงกว่าปกติ แสดงว่าอาจมีอาการตับอักเสบ |
6. การทำงานของตับอย่างละเอียด | Alkaline Phosphatase & Bilirubin | เพื่อตรวจหาความผิดปกติของตับ เช่น ดีซ่าน ท่อน้ำดีอุดตัน |
7. ไขมันโคเลสเตอรอล | Cholesterol | เพื่อตรวจระดับไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด ว่ามีปริมาณสูงเกินไปหรือไม่ หากระดับไขมันสูงจะทำให้หลอดเลือดอุดตัน เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพาต อัมพฤกษ์ |
8. ไขมันไตรกลีเซอไรด์ | Triglyceride | เพื่อตรวจหาไขมันในเส้นเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ |
9. กรดยูริกในเลือด | Uric Acid | เพื่อตรวจหาโรคเกาท์ ถ้าระดับกรดยูริกสูงกว่าปกติอาจก่อให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ |
10. ปัสสาวะ | Urine | เพื่อตรวจความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคไต ตลอดจนการตกค้างของสารเสพติด |
11. อุจจาระ | Stool Examination | เพื่อตรวจหาพยาธิชนิดต่างๆ และระบบขับถ่ายว่าผิดปกติหรือไม่ สังเกตได้จากอุจจาระที่มีเลือดปนออกมา อาจเกิดความผิดปกติของลำไส้ใหญ่หรือริดสีดวงทวาร |
12. เอกซเรย์ปอดและหัวใจ | Chest X-ray | เพื่อตรวจดูสภาพปอด เยื่อหุ้มปอดและหัวใจ และกระดูกช่องอก โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับสารพิษติดเชื้อ อาจทำให้ปอดผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุของวัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง |
13. คลื่นไฟฟ้าหัวใจ | EKG | เพื่อตรวจการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง เป็นต้น |
14. อัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน | Ultrasound Upper Abdomen | เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้องส่วนบนว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้แก่ ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไตและเส้นเลือดขนาดใหญ่ โดยใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเสียง |
15. เอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารส่วนต้น | Upper GI | การเอกซเรย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ว่ามีเนื้องอก การอักเสบหรือลักษณะความผิดปกติอื่นๆ |
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=612&sub_id=95&ref_main_id=2