Wart (หูด)
เกิดจาก papova virus ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ทำให้เกิดหูดชนิดต่าง ๆ ขึ้น การติดโรคเกิดจากการ
สัมผัสเชื้อโดยตรง พบว่าสองในสามของผู้ป่วยหูดหายไปได้เองภายใน 2 ปี
1. Common wart
เป็นเม็ดนูนแข็ง ผิวขรุขระอาจมีเม็ดเดียวหรือหลายเม็ดก็ได้ พบบ่อยบริเวณมือและเท้า การรักษามีหลายวิธี ได้แก่ การตัดออก การจี้ด้วยไฟฟ้า การจี้ด้วยน้ำแข็งแห้ง หรือไนโตรเจนเหลว การกัดด้วยยาซึ่งมีส่วนผสมของกรด salicylic และกรดแลคติค (Collomack, Duofilm) แต่ละวิธีได้ผลพอ ๆ กันคือประมาณร้อยละ 70
2. Plane wart
เป็นเม็ดเล็ก ๆ ผิวเรียบ มักอยู่กันเป็นกลุ่มที่หน้าผาก หลังมือ หน้าแข้ง การรักษามักไม่ค่อยจำเป็นเพราะหูดประเภทนี้หายเองได้ ในรายที่เป็นนานแล้วไม่หาย อาจจะลองให้ทา 0.05% retinoic acid cream วันละ 1 ครั้ง
3. Plantar wart
ลักษณะเป็นไตแข็งที่ฝ่าเท้าแยกยากจากตาปลา เมื่อใช้ใบมีดเฉือนหนังหนา ๆ ที่อยู่ส่วนบนออกถ้าเป็นหูดจะเห็นหัวของมันอยู่ใต้ และถ้าเฉือนลึกลงไปมักมีเลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ แต่
ถ้าเป็นตาปลาเมื่อเฉือนลงไปเรื่อย ๆ จะพบว่ามีแต่หนังที่หนาอย่างเดียวเท่านั้น
การรักษาไม่ควรใช้วิธีตัดออกหรือวิธีจี้ด้วยไฟฟ้า เพราะจะเกิดแผลเป็นที่ฝ่าเท้า ซึ่งทำให้เจ็บปวดมากเวลาเดิน วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือ การเฉือนหนังออกดังกล่าวข้างต้น เมื่อถึงจุดเลือดออกแล้วหยุดเฉือน ใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำยา phenol หรือกรด trichloracetic เข้มข้นป้ายที่หัวของหูดจนผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีขาว ทำเช่นนี้สัปดาห์ละครั้งจนเนื้อหูดหลุดออกหมด โดยเฉลี่ยต้องทำประมาณ 3-4 ครั้ง
4. Genital wart
เป็นติ่งเนื้อสีชมพูคล้ายหงอนไก่ เกิดขึ้นที่อวัยวะสืบพันธุ์หรือรอบทวารหนักติดต่อโดยเพศ
สัมพันธ์
การรักษาใช้ไม้ปลายแหลมจุ่ม 20% podophylline ทาที่ตัวหูดด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรใช้ไม้พันสำลี เพราะสำลีจะอมน้ำยาจนชุ่มทำให้ยาไหลลงมาถูกเนื้อดีที่อยู่รอบ ๆ หลังจากทายาไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง ให้ผู้ป่วยล้างบริเวณที่ทายาด้วยน้ำเปล่า หูดจะแห้งหลุดไปใน 3-4 วัน ถ้ายังมีหูดเหลืออยู่ก็ทายาซ้ำ ใหม่ได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในผู้ป่วยที่มีครรภ์ห้ามใช้ podophylline รักษาเพราะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ในกรณีนี่ควรใช้วิธีจี้ด้วยไฟฟ้าหรือไนโตรเจนเหลวแทน
Molluscum contagiosum (หูดข้าวสุก)
เป็นตุ่มแข็งเล็กสีขาว ตรงกลางมีตุ่มมีรอยบุ๋ม (central umbilication) เมื่อสะกิดหนังให้เปิดออกด้วยปลายเข็มแล้วบีบดูจะมีเนื้อสีขาว ๆ คล้ายข้าวสุกออกมา โรคนี้ติดต่อโดยสัมผัส พบที่ใบหน้าและลำตัวของเด็กหรือบริเวณอวัยวะเพศในผู้ใหญ่
การรักษาใช้เข็มสะกิดแล้วบีบเอาเนื้อหูดออก แล้วทาด้านในด้วยน้ำยา phenol 1% หรือกรด trichloracetic 30-50% การใช้ไฟฟ้าจี้ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/encyclopedia-10023.html