วิธีเสริมกำลังใจ ในยามที่เราเป็นทุกข์


816 ผู้ชม


ในยุคสมัยปัจจุบัน ความเป็นอยู่มีความแตกต่างจากอดีตไม่น้อย แม้ว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าของสิ่งอำนวยความสะดวก และการแพทย์มากมาย ช่วยให้เราอยู่สุขสบายมากขึ้น แต่หลาย ๆ ท่านกลับมีความสุขใจน้อยลง แม้ว่าเขาจะมีทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็ตาม เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ บทความดี ๆ จาก กรมสุขภาพจิตครับ 
ในประเทศไทย โรคเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ โรคขาดกำลังใจ ดูว่าจะมีสถิติสูงเพิ่มขึ้นควบคู่กันไป โดยเฉพาะในช่วงน้ำมันแพง สินค้าปรับราคา เศรษฐกิจชะลอตัว ขาดดุลการค้า เหตุการณ์ตึงเครียด 3 จังหวัดภาคใต้ ภาวะหลังสึนามิ ซึ่งจะคงอยู่กับชาวไทยไปอีกระยะหนึ่ง
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นเรื่องของร่างกายที่พอเข้าใจกันไม่ยากนัก การไปพบแพทย์โรคหัวใจ การตรวจสอบสมรรถภาพหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจและฉีดสี ใส่บอลลูน ใส่ใยเหล็ก (Stent) เข้าขยายหลอด
โลหิต เป็นวิธีที่ได้ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ไปแล้วจำนวนมาก 
เรื่องของ โรคขาดกำลังใจ จะเข้าใจยากกว่า เนื่องจากจับต้องได้ไม่ง่ายนักและปรับปรุงแก้ไขได้ยากเช่นเดียวกัน เมื่อเราได้ยินคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานปรารภว่า ไม่ค่อยมีกำลังใจจะทำอะไรเลย เราจะช่วยเขาได้อย่างไร
มนุษย์เราทุกคนเมื่อเกิดมาย่อมต้องการความรัก ความอบอุ่น ความสุขสมหวัง ความสำเร็จ ความร่ำรวย ตลอดจนร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มิใช่ว่าจะประสบความสุขสมหวังเสมอไป บางครั้งอาจจะต้องประสบกับความผิดหวังในสิ่งที่พึงปรารถนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม บางคนก็สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ก็มีหลายรายที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามที่คาดหวังไว้ ผู้ที่ขาดกำลังใจนั้นมักจะมีความรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หดหู่ เซื่องซึม ไม่กระตือรือร้นจะทำกิจกรรมใดๆ 
ข้อมูลจากข่าวสารกรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475 แนะนำว่า ขอให้ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะโรคขาดกำลังใจหรือผู้ใกล้ชิดพยายามค้นหา ใคร่ครวญ ตรึกตรอง พินิจพิจารณาถึงสาเหตุแห่งความผิดหวังหรือความล้มเหลว ซึ่งอาจจะประเมินสาเหตุสำคัญต่างๆ ได้ดังนี้
ด้านร่างกาย อาจเป็นเพราะสุขภาพร่างกายอ่อนแอ มีโรคเรื้อรัง มีสิ่งแวดล้อมหรือการปฏิบัติที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ ก็ควรหาทางปรับปรุงแก้ไขหรือคิดในเชิงบวกให้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ 
สาเหตุทางด้านจิตใจ อาจแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.สามารถรู้ตัวปัญหา และรู้ว่าปัญหานั้นมีสาเหตุจากอะไรได้แต่ไม่สามารถขจัดหรือแก้ไขปัญหานั้นได้ จึงเกิดการไม่สบายใจหรือไม่ได้สิ่งที่พึงปรารถนา 2.บางคนไม่รู้ตัว ไม่รู้สาเหตุ เงินทองมีพอใช้ ตำแหน่งหน้าที่การงานดี แต่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือความเปล่าเปลี่ยว ท้อแท้ อ้างว้างอยู่ภายในโดยไม่ทราบสาเหตุ
ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาหัวหน้าลูกน้อง ปัญหาเพื่อนฝูง ระหว่างคนต่อคน หรือระหว่างคนต่อหลายคน ทำให้เกิดความท้อแท้ได้ 
โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ แนะนำวิธีที่จะทำให้เกิดกำลังใจไว้ 8 ประการคือ
1.ก่อนอื่นต้องพยายามหาสาเหตุเสียก่อนว่า การที่เราไม่มีกำลังใจนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วพยายามหาทางปรับปรุงแก้ไขและยอมรับเสีย
2.อย่าคิดหรืออย่ามองว่าตัวเองเป็นคนมีปัญหาไร้ความสามารถ คนอื่นที่เขามีปัญหาไร้ความสามารถมากกว่าเราก็ยังมีควรพยายามตั้งใจกระทำใหม่
3.อย่ามัวหมกมุ่นอยู่คนเดียว ลองพูดคุยกับผู้ที่เราไว้ใจหรือเชื่อถือ อย่างน้อยก็เป็นการระบายความอัดอั้นตันใจของเราได้ และเราอาจจะได้รับคำแนะนำ ชี้แนะ จากเขาผู้นั้นได้
4.มองโลกในแง่ดี พยายามทำจิตใจให้สดชื่น อะไรต่างๆ ก็จะดูดีขึ้น
5.อ่านหนังสือดีๆ อาจจะได้รับความรู้ สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และยังทำให้เราเกิดความเพลิดเพลินอีกด้วย
6.ออกกำลังกายตามที่ท่านชอบและถนัด ซึ่งอาจจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
7.พยายามอย่าปล่อยให้มีเวลาว่างมากเกินไป ควรหางานอดิเรกทำ เช่น หัดทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย ทำสวนครัว ฯลฯ เพราะเราอาจจะสนุกไปกับงานเหล่านั้น
8.เมื่อตื่นนอน ควรรีบลุกจากที่นอนทันที ควรมีแผนการทำงานของแต่ละวันและทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง ตั้งใจที่จะกระทำกิจกรรมต่างๆ อย่างจริงจัง
จากวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะทำให้ท่านที่ขาดกำลังใจกลับมามีกำลังใจขึ้นใหม่ ซึ่งจะส่งผลทำให้ชีวิตของท่านมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article575.html

อัพเดทล่าสุด