ไข้หวัดนกโผล่อีก1สายพันธ์ นักวิชาการย้ำ ไม่กลายพันธ์


795 ผู้ชม



นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส แถลงผลการศึกษาถอดรหัสพันธุกรรม ของเชื้อไข้หวัดนกในการระบาดครั้งที่ 4 ในไทยว่า จากการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดนกH5N1 ในรอบที่ 4 ที่พบเชื้อ ที่ จ.พิจิตร และ จ.นครพนม พบว่า เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่พบใน จ.พิจิตร เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2547 

“ขณะที่ไวรัสเชื้อไข้หวัดนก ที่ จ.นครพนมเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเดียวกับไวรัสเชื้อไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของจีน เป็นการพบสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในไทย แต่ ยืนยันว่าทั้ง 2 สายพันธุ์แม้มีการเปลี่ยนแปลงรหัสทางพันธุกรรมไปบ้าง ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของเชื้อไวรัส แต่ยังไม่มีนัยที่เป็นจุดสำคัญที่เป็นอันตรายนำไปสู่การติดต่อจากคนสู่คน และทั้ง 2 สายพันธุ์มีความรุนแรงใกล้เคียงกัน หากมีการผสมข้ามสายพันธุ์ก็จะไม่ส่งผลให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น”

นายแพทย์ยงกล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547 ที่พบเชื้อไข้หวัดนกครั้งแรก   จนถึงปัจจุบันมีการเก็บตัวอย่างเชื้อมาถอดรหัสไปแล้วกว่า 200 สายพันธุ์ หรือกว่า 13,600 ตัวอักษร เมื่อเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีนัยสำคัญที่เป็นการระบาดจากคนสู่คน แต่เพื่อความปลอดภัยก็ต้องติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสอยู่เสมอ หากพบว่ามีการกลายพันธุ์แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้เมื่อใด ก็ต้องรีบแจ้งเตือน และยับยั้งโรคให้ได้

“สิ่งที่เป็นกังวลคือการกลายพันธุ์อย่างเฉียบ พลัน ที่เป็นการผสมกันระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ กับเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งส่วนนี้ต้องมีการป้องกัน โดยรณรงค์ให้บุคลากรด้านการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาสมัคร ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อไม่ให้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการผสมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่”

สำหรับเชื้อไข้หวัดนกทั่วโลกขณะนี้มี 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ชิงไห่ ที่ประเทศจีน, สายพันธุ์ไทย-เวียดนาม, สายพันธุ์อินโดนีเซีย และสายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน จากการที่ไทยพบเชื้อไข้หวัดนก 2 สายพันธุ์แล้วขณะนี้ คือสายพันธุ์ไทย-เวียดนาม และสายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

นายแพทย์ยงกล่าวว่า ในอนาคตหากไทยต้องการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกสำหรับคนอย่างจริงจัง ก็ต้องผลิตจากเชื้อตรงกับสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศให้มากที่สุด ถ้าจะให้ได้ผลต้องเป็นวัคซีนที่นำทั้ง 2 สายพันธุ์มาผสมกัน ผลิตเป็นวัคซีนตัวเดียว แต่หากพบสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติม ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน และปัจจุบันมีการใช้ยาทามิฟลูสำหรับรักษาคนไข้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเชื้อไวรัสดื้อยาขึ้นได้ แต่ขณะนี้ยังไม่พบการดื้อยา

นายพรชัย ชำนาญพูด ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การสุ่ม ตัวอย่างตรวจหาเชื้อในสัตว์ปีกที่ผ่านมาทำตามมาตรฐานสากล จึงมั่นใจได้ว่าการสุ่มตรวจหาเชื้อของไทยครอบคลุมพอ ขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควรสำหรับการผลิตวัคซีนไข้หวัดนก ที่จะนำมาใช้กับสัตว์ปีก คาดว่าเดือน ก.พ. 2550 จะผลิตตัววัคซีนออกมาได้ จากนั้นต้องมีการทดลองใช้กับสัตว์ปีกทดลองในห้องปฏิบัติการ จนแน่ใจว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตออกมาใช้ หากมีนโยบายนำวัคซีนไข้หวัดนกมาใช้ในสัตว์ปีก สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติจะผลิตวัคซีนได้ทันที 100 ล้านโดส ภายใน 10 วัน

นายสัตวแพทย์ทวีศักดิ์ ส่งเสริม อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การพบเชื้อไข้หวัดนกที่ จ.พิจิตร เป็นเชื้อ สายพันธุ์เดิมที่เกิดขึ้นในไทย จนมองว่าเป็นเชื้อประจำถิ่นนั้น เชื่อว่าเกิดจากการวนเวียนของเชื้อ ที่ติดจากสัตว์ปีกตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่งต่อๆกันไป ทำให้เชื้อยังคงอยู่ในไทย โดยทั่วไปเชื้อจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิไม่สูง เช่นในน้ำจะอยู่ได้ นาน  1  สัปดาห์ กรณีที่กังวลว่าเชื้ออยู่ในน้ำจะติดมาสู่คน มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ขณะเดียวกัน ประเทศจีนได้ยืนยันเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ว่า พบโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ระบาดรอบใหม่ในฟาร์มเลี้ยงเป็ดแห่งหนึ่งในเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ทางภาคตะวันออก ทำให้เป็ดล้มตายกว่า 1,800 ตัว และระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. รัฐบาลจีนต้องฆ่าเป็ดในฟาร์มดังกล่าว 217,000 ตัว เพื่อยับยั้งการระบาด จากสถิติของจีนมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกแล้ว 21 คน เสียชีวิตแล้ว 14 คน.
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article600.html

อัพเดทล่าสุด