เต้านมปกติ


983 ผู้ชม


เต้านมปกติ เต้านมในสตรีเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในการสร้างน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก น้ำนมจากเต้านมของมารดาที่ให้แก่ทารกของตัวเองจะมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าน้ำนมจากแหล่งอื่นๆ ในด้านของสารที่ให้ภูมิคุ้มกันต่อโรค ความสะอาด และความประหยัด         เต้านมปกติ เต้านมในสตรีเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในการสร้างน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก น้ำนมจากเต้านมของมารดาที่ให้แก่ทารกของตัวเองจะมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าน้ำนมจากแหล่งอื่นๆ ในด้านของสารที่ให้ภูมิคุ้มกันต่อโรค ความสะอาด และความประหยัด 

เต้านมแต่ละข้างจะประกอบไปด้วยหน่วยย่อยๆ 15-20 หน่วย เป็นเหมือนพูเล็กๆ เรียงตัวกันเป็นวง กระจายออกจากศูนย์กลาง แต่ละพูจะมีหน่วยขนาดเล็กๆ ย่อยลงไปอีกเป็นกระเปาะสำหรับสร้างน้ำนม โดยแต่ละหน่วยดังกล่าวมีท่อเชื่อมโยงถึงกัน และท่อจะเปิดรวมที่บริเวณหัวนม ในระหว่างหน่วยต่างๆ และท่อน้ำนมดังกล่าวจะมีไขมันแทรกอยู่โดยทั่วไปทั้งหมด ด้านหลังของเต้านมจะเป็นกล้ามเนื้อซึ่งคลุมกระดูกซี่โครงเอาไว้ และกล้ามเนื้อเหล่านี้ถือว่าไม่ใช่ส่วนของเต้านม

ลักษณะของเต้านมปกติ เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยต่อมและเนื้อเยื่อไขมันมากมายระหว่างชั้นของผิวหนัง และผนังช่องอก ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันนี่เองที่เป็นตัวกำหนดขนาด และรูปร่างของทรวงอก ขณะที่มีบุตร ต่อมดังกล่าวจะผลิตน้ำนมส่งผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม ดังนั้นช่วงที่ให้นมลูก ต่อมน้ำนม และท่อต่างๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เต้านมยังประกอบด้วยเส้นเลือด และน้ำเหลือง โดยน้ำเหลืองจะนำของเสียที่เต้านมขับออกไปยังเนื้อเยื่อขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วที่เรียกว่า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะทำหน้าที่กรอง และทำความสะอาดน้ำเหลือง

อิทธิพลของฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมในระหว่างเดือนอาจเกิดขึ้นได้ เพราะมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน ซึ่งในช่วงมีประจำเดือนเต้านมอาจตึงหรือเจ็บ ดังนั้นในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจหลังจากประจำเดือนหมดประมาณ 1 สัปดาห์ และเนื่องจากการคลำหรือตรวจด้วยตนเองจะต้องอาศัยความรู้สึก หรือประสบการณ์ ท่านที่เริ่มเข้าสู่วัยสาว จึงต้องฝึกตรวจเต้านมที่ปกติด้วยตนเองให้ชำนาญ เวลามีก้อนผิดปกติจะได้คลำพบได้โดยง่าย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมที่สามารถแก้ไขได้

  1. ใช้ฮอร์โมนทดแทนในการรักษาภายหลังวัยหมดประจำเดือน
  2. ใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเป็นระยะเวลานาน
  3. ไม่เคยให้นมบุตร
  4. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2-5 แก้วต่อวัน
  5. น้ำหนักตัวมากเกินไป โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน
  6. ขาดการออกกำลังกาย
  7. รับประทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

  1. เพศหญิง
  2. อายุ ความเสี่ยงมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
  3. มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
  4. หมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี
  5. การที่ไม่เคยมีบุตร
  6. มีบุตรภายหลังอายุ 30 ปี
  7. แม่ พี่น้อง หรือลูกสาวเคยเป็นมะเร็งเต้านม
  8. เคยตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในภาวะก่อนเป็นมะเร็งเต้านม
  9. ความผิดปกติของยีนที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมมาจากพ่อแม่
  10. เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงประวัติในครอบครัวเคยมีคนเป็นด้วย

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

ถ้ามีประจำเดือนมาเป็นปกติทุกเดือน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองหลังจากหมดประจำเดือนในแต่ละเดือน ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ให้ตรวจในวันแรกของทุกเดือน ส่วนผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ให้ตรวจในวันแรกที่เริ่มรับประทานยาแผงใหม่

การตรวจเต้านมควรทำระหว่างอาบน้ำในตอนเช้า เพราะก้อนเนื้อจะถูกตรวจพบได้ง่ายหากมือ และเต้านมยังเปียกอยู่ โดยใช้ฝ่ามือ 3 นิ้ว (ไม่ใช่ปลายนิ้ว) ของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำขึ้นลงหรือเป็นวงกลม ให้ทั่วทั้งเต้านม รักแร้ และตรวจหัวนมว่ามีของเหลวไหลออกมาหรือไม่

จากนั้นให้ตรวจเต้านมขณะยืนหรือนั่งหน้ากระจก ตรวจทั้งในขณะที่ยกแขนขึ้น และแนบข้างลำตัว มองดูการเปลี่ยนแปลงในขนาด และรูปร่าง ดูรอยบุ๋ม และความผิดปกติของหัวนม ต่อจากนั้นให้ตรวจเต้านมขณะที่นอนหงายกับพื้น วางหมอนใบเล็กๆ หรือผ้าเช็ดตัวหนุนไหล่ข้างที่จะตรวจ ใช้มือขวาตรวจเต้านมข้างซ้าย และใช้มือซ้ายตรวจเต้านมข้างขวา ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเองควรปรึกษาแพทย์

การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และเมื่อพบความผิดปกติใดๆ ควรรีบไปรับการตรวจเบื้องต้น หรือตรวจร่างกายกับแพทย์เป็นระยะ ในช่วงที่เหมาะสมกับวัย และประวัติความเสี่ยง จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก

ควรเริ่มตรวจเต้านมเมื่อใด?

  1. อายุระหว่าง 20-39 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ในช่วง 1 สัปดาห์ หลังจากหมดประจำเดือนในแต่ละเดือน
  2. อายุระหว่าง 20-39 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี หรือทุกปี หากต้องมีการตรวจมะเร็งปากมดลูก
  3. อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านม และตรวจแมมโมแกรม เป็นประจำทุกปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  4. สำหรับผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 35 ปี

ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=276&sub_id=4&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด