วัยหมดระดู หรือ วัยทอง (Menopause) เป็นวัยที่สิ้นสุดการมีระดูอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่สร้างฮอร์โมนลดลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสตรีทุกคน โดยส่วนใหญ่สตรีจะเข้าสู่วัยหมดระดูเมื่ออายุ 47–50 ปี
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในวัยหมดระดูสามารถแบ่งอย่างง่ายๆ ออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
- อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว (Hot Flashes) มักจะมีอาการร้อนซู่ขึ้นมาทันทีบริเวณหน้า ลำคอ และหน้าอก มักเกิดอาการอยู่นานประมาณ 3 – 5 นาที แล้วก็หายไป บางคนพบมีเหงื่อออกมากร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับตามมา
- อาการของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบ คันช่องคลอด ช่องคลอดแห้ง ทำให้เจ็บเวลามีการร่วมเพศ
- อาการช่องระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย
- การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เครียด กังวล เหนื่อย เพลีย หมดความต้องการทางเพศ เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง ในวัยหมดระดูผิวหนังจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง
- การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและข้อ พบว่า กำลังของกล้ามเนื้อลดลง มีอาการปวดตามข้อ
การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยหมดระดูช่วงหลัง มักเกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงทางกระดูก เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูจะมีการสูญเสียกระดูกมากขึ้น แต่ละคนจะมีอัตราการสูญเสียกระดูกที่เร็วช้าแตกต่างกันไป ประมาณ 1 ใน 3 จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว เกินกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว การสูญเสียกระดูกที่รวดเร็วในอัตรานี้อาจคงอยู่นาน 10–15 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง
- การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด พบว่าในวัยหมดระดูจะมีอุบัติการณ์และความชุกของโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น มีไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
ในปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกัน และรักษาอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน หรือผู้ที่อยู่ในวัยหมดระดูควรมีความรู้ และความเข้าใจในฮอร์โมนทดแทน และการปฏิบัติตัวในช่วงวัยหมดระดู เพื่อสามารถใช้ชีวิตในช่วงวัยหมดระดูได้อย่างมีความสุข และสุขภาพที่ดี
- ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการของวัยหมดระดู มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทาบริเวณผิวหนังชนิดแผ่นแปะ
- ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น
- ชนิดที่ใช้เป็นรอบๆ (Cyclic regimen) เป็นการให้เอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วัน หลังจะมีโปรเจสโตเจนร่วมด้วย จะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีระดูสม่ำเสมอ ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยน หรือวัยหมดระดูช่วงต้น
- ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen) เป็นการให้เอสโตรเจนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีระดู ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดระดูมานานมากกว่า1ปีขึ้นไป
- ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจน แต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูได้ ได้แก่
- Tibolone
- Raloxifene
- สารสกัดจากพืช (Phytoestrogen)
อาการข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทน
- เลือดออกทางช่องคลอด เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย และทำให้ไม่อยากใช้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนใหญ่พบได้ในช่วง 3 – 6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง แต่ถ้ามีเลือดออกปริมาณมากหรือเลือดออกนานเกิน 6 เดือนแรก ควรปรึกษาแพทย์
- อาการเจ็บคัดเต้านม พบในสตรีที่หมดระดูมานานได้มากกว่าสตรีที่หมดระดูไม่นานอาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น หลังจากนั้นอาการจะลดลงและหายไป อาการปวดศีรษะไมเกรน การให้ฮอร์โมนทดแทนชนิดต่อเนื่อง จะทำให้อาการนี้ลดลง แต่การให้ฮอร์โมนทดแทนชนิดเป็นรอบ อาจทำให้อาการดีเพิ่มขึ้นได้
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การให้ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในวัยหมดระดูนั้น สาเหตุหนึ่ง มาจากการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างอาหาร และการออกกำลังกาย รวมทั้งอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง
การปฏิบัติตัวในวัยหมดระดู
- ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และตรวจ Mammogram ในรายที่จำเป็น
- ตรวจร่างกาย และตรวจภายในประจำปี
- ปรึกษาแพทย์ และใช้ฮอร์โมนทดแทนในรายที่จำเป็น
สตรีทุกคนจะต้องผ่านเข้าสู่วัยหมดระดู เมื่อมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติตัวในวัยหมดระดูจะทำให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี สำหรับในผู้ที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ และควรติดตามผลการใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยการดูแลของแพทย์ เพื่อที่จะได้ใช้ฮอร์โมนทดแทนที่เหมาะสมในแต่ละคน
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=121&sub_id=5&ref_main_id=2