การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครภ์


1,698 ผู้ชม


เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความตื่นเต้น ยินดี แต่บางครั้งก็รู้สึกกังวลใจ เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง การได้เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพจะช่วยให้คุณแม่เข้าใจตนเอง และสร้างความมั่นใจในการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น           เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความตื่นเต้น ยินดี แต่บางครั้งก็รู้สึกกังวลใจ เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง การได้เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพจะช่วยให้คุณแม่เข้าใจตนเอง และสร้างความมั่นใจในการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น 

การฝากครรภ์การฝากครรภ์มีประโยชน์สำหรับคุณแม่มาก คุณแม่จะได้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเพื่อค้นหาความผิดปกติ ซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อให้ทราบว่าการตั้งครรภ์เป็นปกติหรือไม่ ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว และได้รับยาบำรุงร่างกาย หรือยาตามอาการที่แพทย์ตรวจพบ ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หรือมาก่อนนัดได้เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

อาการที่พบขณะตั้งครรภ์

  • คลื่นไส้ อาเจียน ที่เรียกกันว่าแพ้ท้อง พบได้ตั้งแต่ประจำเดือนเริ่มขาด ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง ไม่เคร่งเครียด และกังวลใจจนเกินไป ถ้ามีอาการมากควรปรึกษาแพทย์
  • ท้องอืด เนื่องจากกระเพาะอาหาร และลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก ของหมักดอง อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลม หรือแก๊สมาก
  • ท้องผูก พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เพราะการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ควรรับประทานอาหารที่มีกากใน เช่น ผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายบ้าง และขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ถ้าท้องผูกมากควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาระบายท้องรับประทานเอง
  • ปัสสาวะบ่อย เป็นเพราะมดลูกที่โตขึ้นไปกด และเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกบ่อย ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนาน เนื่องจากจะทำให้กระเพาะปัสสาวะ และกรวยไตอักเสบได้
  • ตกขาว พบได้ตลอดระยะตั้งครรภ์ เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น จึงขับมูกขาวออกมาก ถือเป็นเรื่องปกติ ควรรักษาความสะอาด แต่ถ้ามีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีอาการคันร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • เส้นเลือดขอด เกิดจากการที่มดลูกขยายใหญ่ขึ้น และไปกดการไหลกลับของเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนขา ทำให้เลือดมาคั่งอยู่ในบริเวณที่ต่ำกว่าตั้งแต่โคนขาลงมาจนถึงเท้า เมื่อเลือดคั่งอยู่นาน ทำให้เส้นเลือดโป่งพองขึ้น ควรนอนยกเท้าให้สูงกว่าลำตัวบ้าง ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง หรือนั่งห้อยเท้า ควรมีโต๊ะวางปลายเท้าให้สูง เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมง
  • ตะคริว มักเป็นที่ปลายเท้า และน่อง พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำ และจากการไหลเวียนของเลือดที่ขาช้าลง ควรนอนยกขาให้สูง นวด และใช้น้ำอุ่นประคบ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กุ้ง ปลาตัวเล็ก ๆ ปลากระป๋อง ผักใบเขียวจัด เป็นต้น
  • เด็กดิ้น คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ได้เป็นครั้งแรก เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน ความรู้สึกจะแผ่ว ๆ เหมือนปลาตอดเบา ๆ เมื่อใกล้คลอดเด็กในครรภ์โตขึ้นจะดิ้นแรง ถ้ารู้สึกลูกดิ้นน้อยลงควรพบแพทย์

การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์

  • อาหาร คุณแม่จะรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เมื่ออาการแพ้ท้องหายไป ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ ไม่ควรรับประทานอาหารพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน ไขมันมาเกินไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารดิบ ๆ สุก ๆ ของหมักดอง ผงชูรส ชา กาแฟ เหล้า และบุหรี่
  • การพักผ่อน ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียง่าย กลางคืนควรนอนหลับให้เต็มอิ่ม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง และควรหาเวลานอนพักในตอนบ่ายอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • การออกกำลังกาย ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดี ร่างกายแข็งแรง เช่น เดินเล่นในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ทำงานบ้านเบา ๆ บริหารร่างกายด้วยท่าง่าย ๆ ข้อควรระวัง คือ อย่าออกกำลังกายหักโหมจนร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือกระทบกระเทือนท้อง
  • การรักษาความสะอาดร่างกาย ระยะตั้งครรภ์จะรู้สึกร้อน และเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำให้ร่างกายสะอาดสดชื่น แต่ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ถ้าผิวแห้ตึงให้ใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำ
  • การดูแลปากและฟัน หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ถ้ามีปัญหาช่องปาก และฟันควรรีบพบทันตแพทย์
  • การดูแลเต้านม ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น เพื่อเตรียมสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ควรเปลี่ยนยกทรงให้มีขนาดพอเหมาะใส่สบาย คุณแม่บางคนอาจจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ไม่ต้องกังวลใจ เวลาอาบน้ำให้ล้างเต้านมด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรฟอกสบู่เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก อาจใช้โลชั่นทานวด เมื่อรู้สึกผิวแห้งตึง หรือคัน ถ้ามีปัญหาหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ก่อนที่จะคลอด มิฉะนั้นอาจจะมีอุปสรรคต่อการให้นมลูก
  • การมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติ แต่ควรงดเว้นใน 1 เดือน สุดท้ายก่อนคลอด ในรายที่เคยแท้ง ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ในรายที่มีปัญหาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลผู้ตรวจครรภ์

อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์

  • คลื่นไส้ อาเจียนมากว่าปกติ
  • ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว
  • ปัสสาวะขัดแสบ มีไข้สูง
  • ตกขาว มีกลิ่นเหม็น มีสีเขียวปนเหลือง คันช่องคลอด
  • บวมตาหน้า มือ และเท้า
  • ลูกดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกต อย่ารอจนลูกไม่ดิ้น
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • มีน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกทางช่องคลอด
  • ปวดท้อง หรือท้องแข็งเกร็งบ่อยมาก

เมื่อมีอาการเหล่านี้ หรืออาการที่คิดว่าผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ หากทิ้งไว้นานจะมีอันตรายต่อคุณแม่ และลูกที่อยู่ในครรภ์
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=117&sub_id=1&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด