จะเลี้ยงลูกไปทางไหนกันดี?


928 ผู้ชม


สะกิดพ่อแม่ให้ทบทวนว่าที่ผ่านมาเราเลี้ยงลูกไปในทิศทางไหนกัน ถูกต้องเหมาะสมกับยุคสมัยในศตวรรษใหม่หรือเปล่านะ?         สะกิดพ่อแม่ให้ทบทวนว่าที่ผ่านมาเราเลี้ยงลูกไปในทิศทางไหนกัน ถูกต้องเหมาะสมกับยุคสมัยในศตวรรษใหม่หรือเปล่านะ? 

ผมเขียนบทความนี้จากแนวคิดของตนเอง ผสมกับความคิดของแพทย์รุ่นอาวุโสอีกหลายท่าน ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับว่า นี่เป็นความจริง หมอพูดก็ต้องเชื่อ หรือเป็นสูตรอันไม่อาจโต้แย้ง แต่อยากให้ลองผสมผสานกับความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่เองดู สำหรับในเมืองไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผมมองว่ามีอยู่ 2-3 อย่างที่เกี่ยวกับเด็กและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ

* ผมว่าเด็กที่ด้อยโอกาสหรือถูกกดขี่ทั้งหลาย กำลังได้ความเอาใจใส่จากสังคมดีขึ้น พ่อแม่ของเด็กปกติเองก็พยายามเอาใจใส่ลูกมากขึ้น เรื่องนี้น่ายินดีอย่างยิ่ง

* สังคมเรารับและเชื่อความเป็นฝรั่งอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น สินค้า วิทยาการ หรือแม้แต่วิถีชีวิต ลามมาถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ไทยด้วย

* การคิดอย่างเศรษฐศาสตร์เข้ามาซึมลึกในใจคนไทยมากเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคนในสาขาอาชีพหรือวงการใด ความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่ว่า จะทำอะไรก็ต่อ เมื่อคุ้มค่าเงินหรือมีกำไรที่สุด หรือเข้าใจความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็เป็นแต่ผู้ขายกับผู้ซื้อ (อย่างครูหรือหมอก็เป็นลูกจ้างของนักเรียนกับคนไข้ อะไรทำนองนี้) ขึ้นนำหน้าวิชาที่ได้เรียนมา หรือจริยธรรม วัฒนธรรมที่สั่งสมมาให้เป็นแบบคิด ปฏิบัติ มานับร้อยปี ซึ่งจะฝังรากเป็นวิธีคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับครอบครัวและสังคมที่คิดและเชื่ออย่างนี้ไปด้วย แต่เดี๋ยวก่อนครับ..ผมไม่ได้บอกว่า ฝรั่งหรือเศรษฐศาสตร์ไม่ดี เพียงแต่ผมไม่เชื่อว่า การที่เรารับมาใช้ตอนนี้นั้นพอดีและเหมาะสมกับการสร้างคนและชี้นำสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะในศตวรรษต่อไป (ไม่มีอะไรดีตลอดกาล) จะลองคิดย้อนเวลาเล่นๆ ว่า ตั้งแต่มีมนุษย์มาในโลก กระจายอยู่ตามทวีปโน้นทวีปนี้ ถ้าไม่นับความอยากมีไฟ (ไฟจริงๆ ครับ ไฟที่ให้ความสว่าง ทำอาหารให้สุก) ไว้ในครอบครอง

 ซึ่งสมัยก่อนคนยังจุดไฟเองไม่เป็นนั้น ศาสตร์แรกที่น่าจะนำชนบางกลุ่มบางเผ่าให้มีความเจริญมีอำนาจก็คือ เกษตรศาสตร์ ถัดมายังมียุคของศาสนา ลัทธิ ศิลปวัฒนธรรม จนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อหลายร้อยปีก่อน วิทยาศาสตร์ก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตคนอย่างมาก เบียดศาสตร์อื่นๆให้ตกขอบเป็นยุคๆ ไป แต่จากการสังเกตของผมเอง ผมคิดว่า เศรษฐศาสตร์กลับแซงเข้ามานำหน้าวิทยาศาสตร์อย่างมากในช่วงหลังๆ มานี้ ทั้งในแง่แนวคิดของชาวบ้านอย่างเราๆ หรือระดับการวิจัยที่เงินบอกแนวทางให้คนคิด จนหาคนทำวิจัยเล็กๆ ในโรงรถหลังบ้านไม่ได้อีกแล้ว ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่า สำหรับยุคถัดไปอีกสิบยี่สิบปี อะไรจะมาเหนือเศรษฐศาสตร์ แต่ที่อยากบอกก็คือ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน การเลี้ยงลูกจึงไม่น่าอยู่แค่ให้เขาเรียน จำมากๆ แต่น่าจะสอนให้เขาคิดวิเคราะห์ทุกวิชาที่เข้ามาเป็น แล้วก็สังเคราะห์ให้เป็นของตัวเอง

ทุกวันนี้เรามีพ่อแม่ "สมัยใหม่" ที่เลี้ยงลูกแบบฝรั่ง คือ ให้ลูกช่วยตัวเองเป็น เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดริเริ่ม มั่นใจในตัวเอง โดยมีสมมติฐานอยู่ว่า เด็กไทยสมัยก่อนขาดสิ่งเหล่านี้อย่างมาก ส่วนเด็กฝรั่งมีสิ่งเหล่านี้ ทำให้เขาก้าวหน้า ดังนั้นต้องเลี้ยงเด็กไทยให้เหมือนเขา แต่เท่าที่ตัวผมเองสังเกตผมว่า เด็กไทยบางส่วน เดี๋ยวนี้ถูกเลี้ยงให้แบบเกินความดีไปในเกือบทุกวัย ไม่น้อยที่แทบจะไม่เหลือความรู้สึกละอาย เคลือบแคลง หรือรู้สึกผิดกับตนเองเลย เด็กหลายคนเชื่อแต่ว่า การกระทำของตนล้วนเป็นสิทธิและเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องการการชี้แนะตักเตือน แต่กลับเริ่มขาดความพากเพียร ทำอะไรหน่อยก็เบื่อ ส่วนการหาเอกลักษณ์ในตอนวัยรุ่นนั้น ก็ดูเหมือนไม่สิ้นสุด ไม่ลงตัว แม้จะเข้าวัยผู้ใหญ่ (นาน) แล้ว ร้องรำทำเพลงได้คือกล้าแสดงออก? ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ ที่เชื่อว่าการส่งเสริมให้เด็กไปเต้นรำร้องเพลงบนเวทีต่างๆ ว่า เป็นการสร้างความเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออกของเด็กนั้น ผมมองว่า เราได้เด็กเก่งทางนี้ขึ้นอีกเยอะ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การเลียนแบบ แต่เราไม่ได้เด็กที่สามารถคิดและบอกออกมาเป็นว่าตัวเองคิดอะไร เวลาไปเรียนหนังสือไปประชุมที่เป็นเรื่องราวที่ไหนนั้น เด็กไทยก็ไม่มีความเห็นกับเรื่องอะไร (แต่เน้นออกมาบ่นลับหลัง) เหมือนเดิม

ความคิดสร้างสรรค์กลับถูกจำกัดอยู่แค่สิ่งที่เขามีขาย แม้แต่พ่อแม่ก็นึกทำของเล่นกับลูกเองไม่เป็นแล้ว อะไรก็ต้องซื้อเขา เราไม่ได้นำสิ่งที่เราได้ทดลองมาเป็นบันไดต่อไปให้สูง แต่หยุดเอาไว้แค่บริโภคสิ่งเหล่านั้น เรียกได้ว่า เด็กเก่งของเราคือ ตอบคำถามเก่ง แต่ไม่เก่งเรื่องตั้งคำถามต่อสิ่ง ที่ได้เรียน หรือได้รับรู้รอบตัว ทฤษฎีของ Heinz Kohut บรรยายว่า ความรู้สึกว่าตนเองมีค่ามาจากสองแหล่งใหญ่คือ มาจากที่พ่อแม่ส่งมาให้โดยตรง ที่เขาใช้ว่า พ่อแม่เหมือนกระจก ( mirroring) ไม่ใช่คอยสะท้อนให้เห็นดีเลว แต่ให้นึกภาพเด็กเล็กๆ ที่ไม่ว่าเด็กทำอะไร พ่อแม่ก็เออออตาม ซึ่งบางทีก็ลืมตัว จนลูกโตก็ยังทำเหมือนเก่า เพราะกลัวลูกเสียความรู้สึก เสียความมั่นใจ กับอีกแหล่งคือ มาจากการที่เด็กได้กระทำอะไรจริงๆ ตามแบบอย่างโดยเฉพาะเหมือนพ่อแม่ (idealized) ซึ่งเด็กก็จะภูมิใจ ถ้าเด็กได้จากแบบแรกเยอะ ไม่ได้แบบสอง เด็กก็จะมีแต่ "หลง" ตัวเอง (narcisissistic) หาใครแม้แต่พ่อแม่มาว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้ มามองอีกทีว่า การใช้เศรษฐศาสตร์ในบางมุมของคนไทย สร้างอะไรเป็นแง่ลบกับสังคมบ้าง
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=6&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด