สัญชาตญาณแม่ โดย สลิล ล่ำซำ


6,873 ผู้ชม


การเยี่ยมเยียนคุณแม่ลูก 2 ในบ่ายวันหนึ่ง         การเยี่ยมเยียนคุณแม่ลูก 2 ในบ่ายวันหนึ่ง 
 "ตอนท้องกลัวอ้วนมาก เลยออกกำลังกายหนักกว่าที่ควร คือว่ายน้ำจนถึงวัน คลอดเลยค่ะ ปรากฏว่าลูกต้องผ่าคลอดออกมาและต้องคลอดก่อนกำหนดคือคลอดตอน 8 เดือนเพราะว่าน้ำคร่ำน้อยมาก คงเป็นเพราะพักผ่อนน้อยด้วยและออกกำลังกายมากด้วยมั้ง จนหมอบอกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องให้คลอดแล้วท้องเล็กขนาดที่ว่าตอนที่ท้องได้ 6 เดือนมีคน มาถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะมีลูกคะ หมอบอกว่าให้คลอดแล้วออกมาโตข้างนอกดีกว่า แต่พอลูก คลอดออกมาก็ไม่ได้ตัวเล็กเลยนะคะ เพราะหนักตั้ง 2,900 กรัมและแข็งแรงดี"
 
 
 
สำเร็จการศึกษาจาก การบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้าน MBA ก่อนที่ จะกลับมาเมืองไทยเพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งเศรษฐกรประจำสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง กระทรวงการคลัง หลังจากที่เริ่มชีวิตการทำงานได้ประมาณ 1 ปี คุณน้ำก็ตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์กับ คุณสาระ ล่ำซำ นักธุรกิจตระกูลใหญ่ของเมืองไทย และเพียงไม่นานก็เริ่มต้นบทแรกของ ชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ด้วยการตั้งครรภ์ "น้องนิ่ม" ลูกสาวคนโตได้สมความตั้งใจคุณน้ำเล่าว่า...
หลังจากที่คลอดน้องนิ่ม-ลูกสาวคนโตและพักฟื้นจากการคลอดแล้ว คุณน้ำก็กลับไปทำงานตามปกติ โดยพาลูกไปฝากคุณยายเลี้ยงและมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือดูแลอีกแรงหนึ่ง... หอบหิ้วกันไปและกลับเช่นนี้ทุกวันทำงาน...เหมือนคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานอีกหลายต่อหลายครอบครัว จนเวลาผ่านไปได้ราว 6 เดือน-เมื่อน้องนิ่มมีอายุได้เกือบ 10 เดือน-ก็เกิด เหตุการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต...
"เย็นวันนั้น น้ำกลับมารับลูกตามปกติ แล้วคุณแม่ก็มาเล่าว่า..เนี่ย วันนี้น้องนิ่ม ยิ้มแล้วนะ เราก็รู้สึกว่า โอ๊ย..ตายแล้ว ทำไมเราไม่มีโอกาสได้เห็นเวลาลูกทำอะไรได้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ได้ ทำไมเราไม่ได้เป็นคนแรกที่เห็น ทำไมคนอื่นได้เห็น ทำไมพี่เลี้ยงเขาถึง ได้เห็น..เราอยากจะเป็นคนเห็น เป็นคนชื่นชมพัฒนาการของลูกและอยากจะมีเวลาให้ลูกมากกว่านี้ คิดดูสิคะ เลิกงาน 4 โมงครึ่ง กลับถึงบ้านแม่ 5 โมง ก็ต้องหอบลูกตุเลงตุเลงกลับถึงบ้านตัวเองตอน 6 โมง อยู่ด้วยกันแป๊บเดียวลูกก็หลับแล้ว ไม่มีเวลาให้กันเลย แล้วยังจะต้องเลือกด้วยว่าจะให้เวลากับสามีหรือให้เวลากับลูกอีก ทีนี้ก็เลยเกิดความคิดว่า ถ้าเราลาออกจากงานแล้ว ช่วงกลางวันเราก็ให้เวลา กับลูกได้เต็มที่พอช่วงเย็นก็มีเวลาให้กับสามี เสาร์-อาทิตย์ก็เป็นเวลาของครอบครัวอย่างเต็มที่ หลังจากที่คิดสะระตะ บวก ลบ คูณ หารทั้งข้อดี ข้อเสีย ก็สรุปกับตัวเองอีกครั้งว่า ถ้าเราลาออก ลูกมีความสุข สามีมีความสุข เท่ากับคน 2 คนมีความสุข แต่ถ้าเราทำงาน เรามีความสุข เท่ากับคน 1 คนมีความสุข เราก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น 2 คนมีความสุขไม่ ดีกว่าหรือ เมื่อมามีลูกอีกคนก็กลายเป็น 3 คนมีความสุข แลกกับการที่เราทำงานแล้วเรา ได้ออกไปไหนมาไหน มีความสุขอยู่คนเดียวไม่คุ้มกันเลย ลาออกมาดีกว่า แล้วเราก็ไม่ได้มีความทุกข์จากการลาออกนี่นา ตอนนั้นไม่มีใครทราบเลย จนกระทั่งลาออกก็ไม่มีใครทราบ แม้กระทั่งสามี น้ำก็ กลับมาบ้านและบอกเขาว่าพรุ่งนี้จะไปเก็บของแล้วล่ะเพราะจะลาออกแล้ว 

หลังจากที่คิด เอง ตัดสินใจเอง ไม่ได้บอกใคร...จนถึงวันนี้ก็คิดว่า เราตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว และก็ ไม่เคยคิดอยากจะกลับไปทำงานอีกเลย ไม่เสียดายเลย"
เรียนรู้มากมายกับการเป็นแม่เต็มตัว เต็มเวลา เมื่อผละจากชีวิตคนทำงานมาเป็นแม่ของบ้านและแม่ของลูกชนิดเต็มเวลา 24 ชั่วโมง คุณน้ำได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายทั้งจากลูกและจากรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป "กับน้องนิ่มซึ่งเป็นลูกคนแรก และตอนนั้นเราก็ยังเป็นคุณแม่มือใหม่ จำได้ว่า เครียดและเคร่งครัดมาก ทุกอย่างจะต้องเป็นระบบลูกจะต้องทานนมเวลานั้น เวลานี้ ต้องนอนเวลานั้น เวลานี้ (ทำเสียงสูงเป็นเชิงเน้นย้ำว่าเจ้าระเบียบจริงๆ นะ) นั่น เพราะเราอ่านจากหนังสือ และโดยพื้นฐานเราก็เป็นคนเจ้าระเบียบอยู่แล้ว ก็จะเครียด มาก คิดแต่ว่าจะต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด ทำให้ดีที่สุด จนกระทั่งได้เรียนรู้จากการที่ลูกดื้อ ไม่ ยอมทำตามกฎที่เราตั้งไว้เป๊ะๆ เขาดื้อของเขาเองเราก็เลยต้องหาทางปรับเอาให้เหมาะสม...ก็เด็กในตำราไม่ได้ว่ายากเหมือนลูกเรานี่นา (หัวเราะ)" พอน้องนิ่มอายุได้ขวบเศษๆ คุณน้ำก็ตั้งท้องน้องนุ่ม ซึ่งต้องผ่าท้องคลอดก่อนกำหนด ณ เดือนที่ 8 ด้วยสาเหตุเดิม และคลอดออกมาแข็งแรงด้วยน้ำหนักตัวปกติเหมือน พี่นิ่มไม่มีผิดเพี้ยน..คุณน้ำนั้นมองการณ์ไกลไปก่อนแล้วว่า การมีลูก 2 คนในวัยไล่เลี่ยกันจะ เป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสและเรียกร้องต้องการเวลาจากเธอมากเพียงใด เธอจึงเตรียม ตัวรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวทันที 
"พอหายแพ้ท้องน้องนุ่มและสุขภาพเริ่มอยู่ตัวแล้วน้ำก็เริ่มปฏิบัติการทำให้น้องนิ่ม (ซึ่งตอนนั้นอายุได้ราว 1 ปีกับ 4 เดือน)เป็นเด็กโตทันที โดยเริ่มจากการเอาขวดนมไป เก็บหมด..แบบว่าเลิกคือเลิกเลย ไม่มีมาค่อยๆ หยุด ค่อยๆ เลิก ไม่มีค่ะ ลูกไม่ยอมทาน นมไปเลย 1 เดือน เราก็พยายามตื๊อให้ลูกทานนมกล่อง แต่ถ้าเขาไม่ทานก็คือไม่ทาน ไม่ ใจอ่อนเอาขวดนมกลับมาให้ดูดอีกค่ะ นอกจากนั้นก็ฝึก
ให้เขาเลิกใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตอน กลางคืนด้วย เพราะเราคิดล่วงหน้าไปว่า พอเรามีลูก 2 คนแล้วเราจะมานั่งฝึกยังไงไหว ก็เลยตัดสินใจจะทำให้เขาโตให้ได้เลย และท้ายที่สุดก็คือเอาน้องนิ่มเข้าโรงเรียนก่อนที่ น้องนุ่มจะเกิด...ต้องเตรียมพร้อม ต้องทำให้ได้หมดทุกอย่าง เราไม่อยากรอให้เขาเจอ น้องแล้วค่อยไปโรงเรียน เพราะจะทำให้เขาคิดไปได้ว่าที่เขาต้องหยุดสิ่งต่างๆ และต้อง ไปโรงเรียนก็เพราะน้อง อย่างน้อย เขาก็ต้องไปโรงเรียนเพราะตัวเขาเอง ซึ่งเรื่องนี้ น้ำก็ได้ปรึกษากับจิตแพทย์เด็กแล้วด้วยค่ะก่อนตัดสินใจ

" ผลจากการเตรียมการและฝึกฝนน้องนิ่มด้วยความอดทนทั้งที่ตนเองก็ตั้งท้องอยู่นั้น ปรากฏว่าพอน้องนุ่มคลอดออกมา สิ่งต่างๆ ก็คล่องตัวและง่ายขึ้นจริงดังที่คาด ทั้งยังเป็น โอกาสให้คุณน้ำสามารถให้นมแม่แก่น้องนุ่มได้นานถึง 7-8 เดือน-นานขึ้นกว่าท้องแรก-ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คุณน้ำยังให้หมายเหตุอันเป็นแง่คิดที่น่าฟังไม่น้อยเกี่ยวกับการ ให้ลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็กอยู่มากว่า "น้ำก็ไม่ได้เห็นว่าการให้ลูกไปโรงเรียนตั้งแต่อายุน้อยๆ ขนาดนี้จะเป็นผลดีเป็น พิเศษอะไรนะคะ เพราะเราทำไปด้วยความจำเป็นมากกว่า เนื่องจากจะไม่มีเวลาให้เขา มากเหมือนเคย ถึงตอนนี้ก็คิดว่าสำหรับน้องนุ่มจะไม่ให้เขาเข้าโรงเรียนเร็วขนาดนั้นแล้ว ค่ะ จะรอไปตามวัยดีกว่า...แม้ว่าน้องนิ่มจะพูดเก่งพูดเร็ว แต่น้ำก็เห็นว่านี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น อยู่ดี เป็นเรื่องที่น้ำจะไม่แนะนำให้คุณแม่ท่านอื่นๆ ทำตามหรอกค่ะ เพราะคุณแม่ท่านอื่นๆ อาจจะมีทางออกเฉพาะตัวที่ดีอยู่แล้ว เติบโต-เปลี่ยนแปลงไปพร้อมลูก"
จากที่เคยเป็นคุณแม่ที่เข้มงวด เจ้าระเบียบ และมีความคาดหวังต่อลูกสูงเมื่อ ยามที่มีน้องนิ่มเพียงคนเดียวนั้น เมื่อได้เป็นคุณแม่ลูกสองคุณน้ำยอมรับด้วยรอยยิ้มสดชื่นว่า
"การมีลูกคนที่สองนี่ทำให้เราสงบสติอารมณ์ลงได้เยอะเลย ทำให้เราผ่อนคลาย ลงได้มากๆ เลย แต่ก่อนนี้คาดหวังมากๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่คาดหวังอะไรแล้ว แค่ขอให้เขา เป็นคนดีก็พอแล้ว ไม่คิดว่าเขาจะต้องเรียนหนังสือเก่งหรืออะไร..ไม่ได้คิดค่ะ"
เธอยังค้นพบด้วยว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการเลี้ยงลูกก็คือการควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองเวลาที่ลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ "น้ำเคยโกรธลูกเวลาลูกไม่ทานข้าว หรือเวลาพูดอะไรแล้วลูกไม่ฟัง เคยโกรธ มากๆ ถึงขนาดว่าถ้ายังอยู่ตรงนั้นต่อไปต้องตีลูกแน่ๆ เลยเพราะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ ได้ ต้องปลีกตัวออกจากตรงนั้น ไปอยู่ข้างบนในห้องคนเดียวเพื่อให้อารมณ์มันเย็นลง ตรงนี้ แหละที่ยากมาก เคยโกรธสุดๆ แล้วควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่เผลอหยิกลูกไปทีหนึ่งด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีหรอกค่ะ จะหลบไปอยู่คนเดียวมากกว่า และบอกลูกว่า นี่คุณแม่โกรธแล้วนะ หงุดหงิดแล้วนะ คุณแม่ไปล่ะ..ตอนนี้พอเขาโตแล้ว เราก็เปลี่ยนมาพูดดีๆกับเขาว่า น้อง นิ่ม..ตอนนี้น้องนิ่มพูดไม่รู้เรื่องแล้วล่ะ น้องนิ่มอยู่ในห้องนะคะ แล้วถ้าคุยรู้เรื่องเมื่อไหร่ ค่อยมาคุยกับคุณแม่นะคะ"
นอกจากต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตนเองแล้วคุณน้ำยังบอกด้วยว่า ลูก เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในตัวตนของเธอจนต่างไปจากเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ
" ต้องรู้จักลาพักร้อนบ้าง ตลอดระยะเวลาที่เป็นคุณแม่เต็มเวลา ปลอดงานนอก ไม่รับงานอื่นนั้น คือช่วง เวลาที่คุณน้ำได้เรียนรู้ว่า
การเป็นแม่เป็นงานที่เหนื่อยหนักเพียงใด "  
เธอเปรียบเปรยและ เผยเคล็ดลับน่าสนใจไว้แก้เหนื่อยให้เราฟังว่า
 "คือเราเคยคิดว่าที่เราเจอเนี่ยเหนื่อยที่สุดแล้ว แต่พอผ่านไปแล้วไปเจอเรื่อง เหนื่อยอย่างใหม่กลับปรากฏว่ายังเหนื่อยมากขึ้นไปอีก..สรุปก็คือเหนื่อยหมด..พอเหนื่อย มากๆ เข้าก็...หนีลูกค่ะ (หัวเราะ)..อ้าว! เราก็ต้องมีวันลาพักร้อนของเราบ้างนี่คะ เช่นปลีกเวลาไปต่างจังหวัดกัน 2 คนกับสามี..แหม คนทำงานยังต้องมีวันหยุด วันลาพัก ร้อนเลย คนเป็นแม่เลี้ยงลูกก็ต้องมีวันหยุดเหมือนกันนะคะ..
น้ำก็รู้สึกผิดเหมือนกันน่ะเวลา ไปไหนโดยไม่มีลูก แต่ก็จะไปน่ะค่ะ เหมือนไปชาร์จแบ็ตให้ตัวเอง พอกลับมาก็มีพละกำลังมากขึ้น และน้ำก็ไม่ใช่แม่ที่อยู่กับลูกชนิดติดแจไม่ยอมห่างนะคะ..

บางทีก็มีการฝากลูกไว้ กับพี่เลี้ยงเดี๋ยว แล้วออกไปข้างนอกไปช้อปปิ้ง ไปหาเวลาส่วนตัวของน้ำบ้างเหมือนกัน แล้วน้ำก็อ่านหนังสือพิมพ์หาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอด้วย เพื่อให้ทันโลก หรือการเล่น Face Book อัพเดทข้อมูลอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ คุณแม่รู้ทัน และเข้าใจคุณลูกนะคะ
 
 

ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=3&sub_id=1&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด