"เสียง" ของพ่อแม่ กระตุ้นสมองเด็กในครรภ์


886 ผู้ชม


เชื่อไหมค่ะว่า การได้พูดคุยกับลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์จะช่วยให้ลูกของคุณจำเสียง ของพ่อแม่ได้ และคลอดออกมาเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย และอารมณ์ดี         เชื่อไหมค่ะว่า การได้พูดคุยกับลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์จะช่วยให้ลูกของคุณจำเสียง ของพ่อแม่ได้ และคลอดออกมาเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย และอารมณ์ดี 

การอ่านหนังสือ หรือพูดคุยกับลูกตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์ จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกได้ ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นการสร้างวงจรในสมองของลูกตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นวงจรเสียงพ่อแม่วงจรความรู้สึกภายในที่มีต่อพ่อแม่ วงจรกลิ่นร่างกายของแม่พ่อที่ส่งผ่านทางแม่ และวงจรสัมผัสแห่งความรักที่ได้รับผ่านการสัมผัสหน้าท้องของแม่

ความสำคัญเหล่านี้ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าว และเขียนไว้ในหนังสือสมองอ่าน ว่า ถ้อยคำต่าง ๆ ที่คุณแม่ได้ถ่ายทอดผ่านการอ่านหนังสือ พูดคุย หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ลูกฟังในระหว่างตั้งครรภ์ จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาอย่างรวดเร็วนับแต่แรกคลอดซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยสร้างสายใยแห่งสัมพันธภาพอันลึกซึ้งระหว่างพ่อแม่ลูก และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อญาติพี่น้อง และขยายไปยังคนอื่น ๆ รอบตัวด้วย
ซึ่งสอดรับกับการศึกษาของ Dr.F.Rene Van de Carr สูติแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยในเมืองเฮย์เวิร์ด รัฐแคริฟอเนีย ที่ได้ทดลองกับคุณแม่ตั้งครรภ์กว่า 3,000 คนให้กระตุ้นลูกในครรภ์ด้วยการสัมผัส พูดคุย เปิดดนตรีให้ลูกฟัง พบว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณแม่ติดต่อสื่อสารกับลูก ทำให้เกิดความสัมพันธ์แนบแน่น และพบว่าทารกจะสงบ สนใจสิ่งแวดล้อมภายนอกมีความสุข และยังสามารถเดิน และพูดได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การที่เด็กได้เสียงของพ่อแม่เป็นประจำก็จะช่วยให้ เด็กสามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงที่ได้ยินได้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 6-7เดือน เด็กสามารถจดจำเสียงที่มาจากภายนอกได้แล้ว เช่น เสียงพูดคุย และเสียงเพลงต่าง ๆ พอลูกคลอดออกมาแล้ว เมื่อได้ยินเสียงเพลง หรือเสียงพ่อแม่ที่คุ้นเคย เขาก็จะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย โดยการพูดคุยนั้น ควรพูดกับลูกช้า ๆ หรืออ่านหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย และไม่เครียดให้ลูกฟัง
เห็นได้ว่า การสร้างภาวะอารมณ์ทางบวกต่อสิ่งรอบตัว เช่น ความอ่อนโยนจากสัมผัส และน้ำเสียงอันอ่อนโยนที่เปี่ยมด้วยความรัก จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองด้านอารมณ์ที่อ่อนโยนของเด็ก และแรงสั่นสะเทือนของความสัมพันธ์อันอบอุ่นนี้จะเป็นสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างดีเยี่ยม โดยไม่ต้องมีกิจกรรมอะไรที่ซับซ้อนเลย
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=2562&sub_id=42&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด