สร้างทักษะการเข้าสังคม ให้ลูกแบบง่าย ๆ


860 ผู้ชม


คุณแม่ที่ต้องให้ลูกๆ เข้ากับเพื่อนๆได้ง่าย ลองมาเพิ่มทักษะการเรียนลูกที่จะเข้าสังคมกันเถอะค่ะ เพื่อที่จะให้เด็กๆสนุกไปกับสังคมเล็กของเขากัน         คุณแม่ที่ต้องให้ลูกๆ เข้ากับเพื่อนๆได้ง่าย ลองมาเพิ่มทักษะการเรียนลูกที่จะเข้าสังคมกันเถอะค่ะ เพื่อที่จะให้เด็กๆสนุกไปกับสังคมเล็กของเขากัน 

เชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่ทุก ๆ ท่าน คงไม่มีใครอยากเห็นลูกสุดที่รักเติบโตเป็นเด็กที่โดดเดี่ยว ไร้เพื่อน หรือไม่มีใครอยากมาเล่นด้วยกันหรอกนะค่ะ งั้นมาลองเพิ่มทักษะให้กับลูกๆ ของคุณกัน
 

ให้เวลาพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของชีวิต ลูกจะรู้สึกสนุกสนานกับการทำหน้าตาแบบต่าง ๆ ของคุณ สนุกกับการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับพ่อแม่
พาลูกไปเยี่ยมญาติมิตร นอกจากพ่อแม่แล้ว ลูกควรได้มีโอกาสเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เริ่มจากญาติพี่น้องใกล้ตัว และที่อยู่ห่างไกล ให้ลูกได้เล่นกับญาติพี่น้องที่เป็นเด็กด้วยกันหรือผู้ใหญ่ก็ตาม
ช่วยลูกเมื่อลูกอยู่ในช่วงวัย "กลัวคนแปลกหน้า" ถ้าลูกกำลังมีอาการกลัวคนแปลกหน้า พ่อแม่อย่าพลอยเป็นกังวลไปด้วย หรือรู้สึกอายเมื่อลูกไม่ยอมให้ใครอุ้ม อาจจะอุ้มลูกกลับมาให้สงบสักพัก แล้วค่อยให้ผู้ใหญ่เล่นกับลูกในขณะที่คุณอุ้มหรืออยู่กับเขาจะดีกว่า หรือค่อย ๆ ให้ผู้ใหญ่สร้างความคุ้นเคยกับลูกทีละน้อย เมื่อเห็นว่าลูกคุ้นเคยดีแล้วก็ส่งให้คนอื่นอุ้มในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยที่คุณยังอยู่ใกล้ ๆ ด้วย
แต่ถ้าลูกไม่มีอาการกลัวคนแปลกหน้าแล้ว และสามารถเล่นกับคนอื่นได้บ้าง คุณอาจจะหลบออกมาให้พ้นสายตาลูกสักพัก ถ้าลูกยังร้องหาคุณก็ค่อยลองใหม่ภายหลัง หรือบางครั้งอาจเดินเข้าเดินออกจากห้องเพื่อให้ลูกมั่นใจว่า ถึงแม้แม่ไม่อยู่ แต่อีกเดี๋ยวก็คงกลับมา
ช่วยลูกเรียนรู้มารยาทสังคมแบบง่าย ๆ สอนลูกให้รู้จักไหว้ กล่าวคำสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ โบกมือบ๊ายบาย คุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างบ่อย ๆ จนลูกติดเป็นนิสัย ต่อไปเด็ก ๆ ก็จะทำได้เองโดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องสั่ง
ช่วยลูกรู้เขารู้เรา ช่วงวัยเตาะแตะเป็นช่วงที่ลูกกำลังเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นตัวตนที่แยกออกจากคนใกล้ชิดโดยเฉพาะพ่อแม่ พร้อมกับเริ่มเรียนรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวมีเจ้าของ บางอย่างเป็นของตัวเอง บางอย่างเป็นของคนอื่น เวลาเห็นลูกหยิบข้าวของคนอื่นมาเล่น หรือมาเป็นของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ หยิบออกจากมือลูกพร้อมกับอธิบายง่าย ๆ ว่า "นี่เป็นของพี่เขาครับ/ค่ะ" และ "นี่ของหนูจ้ะ"
ส่วนในเด็กวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เริ่มเปิดประตูเรียนรู้สังคมที่กว้างกว่าบ้าน และครอบครัวของตัวเอง เด็กวัยนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโรงเรียนถึง 1 ใน 3 ของวัย เริ่มมีเพื่อนมากหน้าหลายตา ต้องปรับตัวกับหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งวัยนี้ทักษะการเข้าสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนลูกได้โดยหมั่นถามความรู้สึกของเขาต่อเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า และถ้าพวกคุณเองรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจลูก คุณเองก็ควรบอกความรู้สึกของคุณไปตรง ๆ เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกเริ่มรู้จักที่จะให้ และรับอย่างเหมาะสมตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ๆ เพราะเวลาเข้าโรงเรียนแล้วเขาจะได้ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะแบ่งของเล่น หรือขนมให้เพื่อน ๆ เพราะไม่เช่นนั้น ลูกอาจกลายเป็นเด็กไม่รู้จักแบ่งปัน โอกาสที่เพื่อน ๆ จะตีตัวออกห่าง และไม่้อยากเล่นด้วย ย่อมมีได้สูง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณพ่อคุณแม่คือต้นแบบที่สำคัญ หากมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปในทิศทางลบให้ลูกเห็น เช่น ใช้ความรุนแรงกับแม่ ออกคำสั่ง หรือวางอำนาจมากเกินไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมซับในตัวเด็ก และถูกนำไปใช้กับผู้อื่นต่อไป โดยเฉพาะกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน เช่น โอ้อวดจนเกินพอดี บางคนอาจจะมีพฤติกรรมที่ชอบทำตัวอวดเบ่ง ชอบข่มเพื่อน ๆ ให้หงอไปตาม ๆ กัน บางคนจู้จี้สั่งคนรับใช้ที่บ้านได้ พอมาถึงโรงเรียนก็ใช้คำสั่งกับเพื่อน ๆ หรือบางคนชอบเล่นแรง ๆ ผลักหน้าเพื่อนหรือชกต่อยเพื่อนราวกับเป็นเรื่องปกติ เด็กแบบนี้จะถูกปฏิเสธจากเพื่อนไปโดยปริยาย และไม่มีใครอยากเข้ามาเล่นด้วย
ดังนั้น เด็กจะเติบโตเป็นคนที่รู้จักอยู่ หรือโดดเดี่ยว ไร้เพื่อน ขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นต้นแบบ และผู้สอนที่สำคัญค่ะ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=2278&sub_id=41&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด