การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ที่สมบรูณ์


845 ผู้ชม


ไม่ใช่แค่ตอนตั้งครรภ์เท่านั้นที่คนเป็นแม่ต้องให้ความสำคัญ แต่การจะให้ได้ครรภ์ที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มมาจากการเตรียมตัวที่ดีของคุณแม่และคุณพ่อก่อนตั้งครรภ์         ไม่ใช่แค่ตอนตั้งครรภ์เท่านั้นที่คนเป็นแม่ต้องให้ความสำคัญ แต่การจะให้ได้ครรภ์ที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มมาจากการเตรียมตัวที่ดีของคุณแม่และคุณพ่อก่อนตั้งครรภ์ 
รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ หัวหน้าภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมสำหรับคุณแม่และคุณพ่อว่า
ปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์
"ก่อนตั้งครรภ์เน้นให้คุณพ่อคุณแม่มีความพร้อมในเรื่องของการมีบุตร ทั้งสองคนต้องอยากมีทั้งคู่ก่อน ไม่ใช่อยากมีแค่คนใดคนหนึ่ง เพราะจะเป็นความรู้สึกที่เป็นศูนย์ ถ้าพร้อมแล้วที่จะตั้งครรภ์ก็ควรจะต้องไปปรึกษาคุณหมอตั้งแต่ต้น มาพบกับคุณหมอที่คิดว่าจะฝากครรภ์ด้วย หรือหมอสูติฯ ทั่วไปก็ได้ เพื่อตรวจร่างกายทั้งสามีและภรรยาเพื่อดูว่ามีข้อบ่งห้ามหรือข้อจำกัดในการตั้งครรภ์หรือไม่ มีโรคทางพันธุกรรมอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น เช่น  เช่น โรคเลือด ธาลัสซีเมีย รวมทั้งดูในเรื่องของโรคที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมของคนในครอบครัว ประวัติเบาหวานในครอบครัว ประวัติการติดเชื้อ เพื่อที่จะรักษาก่อนที่จะตั้งครรภ์ รวมทั้งรับคำแนะนำจากคุณหมอว่าหากตรวจแล้วพบความผิดปกติจะต้องทำอย่างไร จะวางแผนการตั้งครรภ์ยังไง"
ยาที่ควรหยุดและวัคซีนที่จำเป็นก่อนการตั้งครรภ์
"เมื่อเตรียมพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว ให้ดูว่ายาทุกอย่างที่กำลังทานอยู่มียาอะไรบ้างที่ควรจะหยุด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ ยาเบาหวาน ฯลฯ ถ้าทานยารักษาสิวอยู่ต้องหยุดทันที เพราะถ้าตั้งครรภ์ภายใน 3 เดือน ต้องมีการทำแท้ง เนื่องจากผลของยาจะทำให้เด็กพิการ ถ้าต้องการฉีดวัคซีน เช่น หัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี ควรฉีดให้เรียบร้อยก่อนที่จะปล่อยให้ตั้งครรภ์ ไวรัสตับอักเสบบีสามารถฉีดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ควรมาตรวจดูว่าตัวเองมีภูมิไหม แต่หัดเยอรมันถ้าตรวจดูแล้วไม่มีภูมิ ควรจะฉีดล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีผลกับเด็ก แต่วัคซีนอย่างอื่นก็ไม่แนะนำ
วิตามินเสริม การใช้ยา และสารเคมี

"ก่อนท้องควรทานกรดโฟลิก วันละประมาณ 400 มิลลิกรัม ทานประมาณ 3 เดือน จะช่วยให้โอกาสการเกิดความผิดปกติในเรื่องระบบประสาทของเด็กน้อยลง และถ้าคุณแม่ซีด ขาดธาตุเหล็ก ก็ให้ทานยาธาตุเหล็กวันละ 30 มิลลิกรัม สำหรับวิตามินอย่างอื่น ถ้ารับประทานอาหารครบหมู่ก็ไม่แนะนำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ทำน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นอีกซักนิดหนึ่ง น้ำหนักที่เหมาะสมของผู้หญิงก็คือความสูงลบด้วย 110 น่ะ  พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับผู้หญิงที่ปกติแล้วทานยาคุมกำเนิด และต้องการหยุดยา การทานยาคุมกำเนิดนานๆ จะทำให้ไม่มีประจำเดือนมาประมาณ 6 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าหยุดยาได้ก่อน 6 เดือนก็จะดี ให้คุมธรรมชาติไปประมาณ 6 เดือน ในระหว่างนั้นก็จะไม่มีเรื่องของยาคุมมาเกี่ยวข้อง ประจำเดือนก็จะมาแน่นอน แต่ถ้าคนไหนที่ฝังยาคุมถ้าเอาออกก็สามารถตั้งครรภ์ได้เลย ส่วนสารเคมีที่ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงก็คือบุหรี่ หากต้องการตั้งครรภ์ให้เลิกบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน รวมทั้งสารเสพติดทั้งหลาย"
เรียนรู้วงจรการตกไข่

"ถ้าอยากมีน้อง วันแรกของประจำเดือน นับไป 14 วัน โดยเฉลี่ยถ้าคนที่มีรอบเดือน 28 วัน  บวกลบประมาณหนึ่งวัน เพราะไข่มีอายุประมาณ 24-48 ชั่วโมง ก็มีโอกาสจะตั้งครรภ์ได้มากขึ้น พยายามสม่ำเสมอประมาณ 3 รอบเดือน ก็จะสามารถท้องได้ แต่ถ้าพยายามแล้วเป็นปีก็ยังไม่ท้อง ควรจะไปพบแพทย์ เพราะระยะเวลาของการมีบุตรยากคือประมาณ 1 ปี หลังจากพยายามแล้ว แต่ถ้า 1 ปีแล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งมีหลายสาเหตุ ถ้าเกิดจากสามีก็คือมีเชื้อน้อย ต่ำกว่า 20 ล้านต่อซีซี แต่ถ้าเป็นคุณแม่เองก็อาจจะเป็นตั้งแต่มดลูก รังไข่ ไข่ไม่ตก ท่อรังไข่ตัน ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ แบบนี้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรจะต้องไปพบแพทย์เพื่อสาเหตุต่อไป"
ความเครียด ฮอร์โมน ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ

"ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จะมีภาวะซึมเศร้าได้ เพราะร่างกายเปลี่ยนไป จากที่เคยสวยรูปร่างดีก็อาจจะอ้วนขึ้น ทำให้ไม่มั่นใจว่าสามีจะยังเหมือนเดิมหรือเปล่า ส่วนหลังคลอดก็มีภาวะซึมเศร้าเช่นกัน คุณแม่หลายคนจะคิดว่าถูกทิ้งให้เลี้ยงลูกคนเดียว สามีก็ไม่รู้จะยังรักเหมือนเดิมไหม ผิวพรรณก็เปลี่ยนไป จากที่เคยมีน้ำมีนวลก็อาจจะแห้งเป็นขุย เต้านมคล้ำสีผิดปกติ ไม่มั่นใจในรูปร่างตัวเอง คิดไปต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นก่อนตั้งครรภ์ก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ให้รู้ว่าเมื่อท้องและคลอดลูกแล้วเราจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ทำความเข้าใจกับตัวเองและคุยกับสามีให้เข้าใจ และเวลาคนท้องมักจะหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย น้อยใจ จากเดิมที่เคยเป็นอยู่แล้วก็เป็นหนักขึ้น เรื่องของอารมณ์เป็นเรื่องซึ่งเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน บางครั้งก็จะมีความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงมีอารมณ์นี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่เป็นสามีก็ต้องเข้าใจ ไม่อย่างนั้นก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน
การเตรียมตัวสำหรับคุณพ่อ

"คุณพ่อก็ควรไปตรวจร่างกายพร้อมกับคุณแม่ เพื่อดูว่าเชื้อตัวเองมีหรือเปล่า บางคนแข็งแรงแต่ไม่มีเชื้อ เนื่องจากเป็นคางทูมตอนเด็ก ซึ่งไปทำลายเซลล์ของอัณฑะ ทำให้ไม่สร้างเซลล์อสุจิ บางคนก็เป็นเอง คือ ท่ออสุจิตัน มีน้ำออกจริง แต่ไม่มีเชื้อ บางคนคิดว่าตัวเองแข็งแรง โทษแต่ภรรยาอย่างเดียว พอมาตรวจผลออกมาเป็นศูนย์ ไม่มีเชื้อเลย คนที่รูปร่างดีร่างกายแข็งแรงไม่ได้หมายความว่าเชื้อจะดี ยังมีองค์ประกอบอย่างอื่น เพราะฉะนั้นอย่ามั่นใจตัวเองว่าออกกำลังกายทุกอย่างแล้วจะต้องเชื้อดีเสมอ ควรจะมาตรวจร่างกายก่อน และที่สำคัญต้องงดบุหรี่ ตัวการสำคัญที่ทำให้เชื้ออสุจิมีน้อยและไม่แข็งแรง รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดต่างๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบหมู่เช่นเดียวกับคุณแม่ จะทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์มีมากขึ้น"
และเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของอายุค่ะ อายุที่เหมาะสำหรับการการตั้งครรภ์คือ 25-35 ปี แต่ถ้าคุณแม่อายุเกิน 35 ปี ให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนเลยนะคะว่า ถ้าท้องแล้วจะต้องเจาะน้ำคร่ำ มีการตรวจสารชีวเคมีในเลือด หรือ Triple Screen ซึ่งเป็นการตรวจพิเศษเพื่อที่จะคัดกรองทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรหาข้อมูลเหล่านี้ไว้เพื่อจะได้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อถึงเวลาตั้งครรภ์ และเตรียมตัวเตรียมใจกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น เช่น ความดัน เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้คะ เพราะฉะนั้นการได้มาพูดคุยกับคุณหมอก็จะได้ทำให้รู้ว่าคุณแม่จะต้องเสี่ยงกับภาวะอะไรบ้าง และจะได้มีการเตรียมตัวที่ดีต่อไปค่ะ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1965&sub_id=41&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด