คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกถึงอาการแพ้ท้องเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์ โดยจะมีอาการทั่วๆ ไป คือ วิงเวียนศีรษะ เคลื่อนไส้ อาเจียน มักมีอาการในช่วงเช้า
คุณแม่คนไหนโชคดี ก็จะมีอาการเพียงแค่วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่ถึงกับอาเจียน แต่คุณแม่ที่แพ้มาก อาจวิงเวียนจนลุกไม่ไหว และอาเจียนจนรับประทานอาหารไม่ได้ก็มีค่ะ
ครึ่งหนึ่งของคนท้องมีอาการแพ้
จากสถิติพบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีอาการแพ้ท้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีไม่กี่รายที่แพ้ไปจนคลอด โดยมากอาการแพ้ท้องจะไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และมีวิธีบรรเทาง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำอุ่นจัด ๆ เมื่อเริ่มรู้สึกคลื่นไส้, รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก โดยรับประทานขณะอาหารยังร้อน, หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นคาว และอาหารมัน ๆ, แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ รับประทานผลไม้ คุกกี้ นม เป็นอาหารว่าง, ดื่มน้ำผลไม้ช่วยเพิ่มความสดชื่น, ดื่มน้ำขิงร้อน ๆ หรือรับประทานขิงสกัดชนิดที่เป็นแคปซูลก็ได้ เพราะขิงมีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี, พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้อาเจียนได้ง่าย, ไม่อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ที่ที่มีผู้คนหนาแน่น แต่ถ้าทำยังไงก็ไม่หายอย่าชะล่าใจค่ะ เพราะการแพ้ท้องของคุณอาจไม่ใช่การแพ้ท้องธรรมดา
คุณแพ้ท้องระดับไหน
ระดับที่ 1 มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะเล็กน้อย มักมีอาการในช่วงเช้า รับประทานอาหารได้น้อยลง มีการอาเจียนบ้าง แต่สามารถบรรเทาได้เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น ถ้าคุณแพ้ท้องแบบนี้ก็สบายใจได้ค่ะ ว่าการแพ้ท้องของคุณอยู่ในระดับ Morning Sickness ทั่ว ๆ ไป ไม่น่ากังวลมาก อ้อ...น้ำหนักตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ควรเพิ่มขึ้น 1-2 กิโลกรัม ในช่วงที่แพ้ท้องมากจนรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีน้ำหนักลดลงเล็กน้อยค่ะ
ระดับที่ 2 มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ พักผ่อนอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น และมีปัสสาวะสีเข้ม ต้องรีบพบแพทย์ กรณีที่อาเจียนมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ คุณหมออาจให้น้ำเกลือ หรือฉีดกลูโคส เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียก่อน แล้วอาจให้รับประทานยาประเภท Dimenhydrinate ซึ่งเป็นยาระงับอาการคลื่นไส้ ซึ่งต้องรับประทานก่อนที่จะเกิดอาการแพ้ รวมทั้งการแนะนำให้ปรับวิธีรับประทานอาหาร เมื่อพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการแพ้ท้องก็จะบรรเทาลงได้
ระดับที่ 3 เป็นการแพ้ท้องขั้นรุนแรง ซึ่งทางการแพทย์ เรียกว่า Hyperemesis Gravidarum (HG) พบประมาณ 0.3 ถึง 2% ในหญิงตั้งครรภ์ อาการจะรุนแรงถึงขั้นที่คุณแม่รับประทานอะไรไม่ได้เลย อาเจียนมากจนร่างกายขาดทั้งน้ำและอาหาร บางคนอาเจียนจนหลอดเลือดที่อยู่บริเวณหลอดอาหารมีการฉีกขาดจนมีเลือดปนมากับอาเจียน บางคนอาเจียนจนมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ผู้ที่แพ้ท้องขั้นรุนแรง จะเริ่มแพ้เร็วกว่าการแพ้ท้องธรรมดาและมักจะแพ้นาน บางรายอาจแพ้ท้องอย่างหนักไปจนถึงคลอด แต่ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์
ถ้าแพ้ท้องถึงระดับนี้ก็จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะให้น้ำเกลือ ซึ่งบางครั้งอาจมีการให้อาหารผ่านทางน้ำเกลือ เช่น วิตามินบี 6 และให้ยาช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องด้วยค่ะ