ท้องนี้หนักเท่าไหร่ดี


822 ผู้ชม


สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะสงสัยก็คือ ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในระหว่างตั้งท้อง...เราไปพบคำตอบกันค่ะ         สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะสงสัยก็คือ ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในระหว่างตั้งท้อง...เราไปพบคำตอบกันค่ะ 
หนักเท่าไรได้มาตรฐาน
หลายคนเชื่อว่า เวลาตั้งครรภ์ต้องกินเผื่อเจ้าตัวเล็กด้วย เลยทำให้แม่ได้ใจกินไม่ยั้งปาก ..สองคนนี่นา ควรจะกินเพิ่มเป็นสองเท่า น้ำหนักเพิ่มเป็นสองเท่าก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ความคิดนี้ผิดถนัดค่ะ ความจริงแล้วน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะต้องสัมพันธ์กับส่วนสูงและน้ำหนักตัวด้วย แต่โดยเฉลี่ยแล้วคุณควรจะหนักเพิ่มขึ้นราวๆ 10-15 กิโลกรัม
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเลย ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายต้องรู้ก่อนว่า ตัวเองมีน้ำหนักมากน้อยกว่ามาตรฐานหรือไม่ วิธีคำนวณง่ายๆ ให้เอาส่วนสูงของคุณลบด้วยจำนวน 110 ผลลัพธ์ที่ได้คือน้ำหนักที่ควรจะเป็น เช่น คุณสูง 160 เซนติเมตร ก็ควรจะหนัก 50 กิโลกรัม...นี่คือน้ำหนักตัวมาตรฐานของผู้หญิงเรายามปกติ แล้วเอาน้ำหนักมาตรฐานนั้น บวกด้วยน้ำหนักที่ควรจะเพิ่มแต่ละเดือนยามตั้งครรภ์
ควรจะเพิ่มอีกสักเท่าไร..มีหลักเกณฑ์การเพิ่มเหมือนกัน พูดกันแบบคร่าวๆ คือถ้าปกติคุณมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน เวลาท้องอาจจะหนักเพิ่มขึ้นได้อีกตั้งแต่ 14-20 กิโลกรัม แต่ถ้าปกติหนักเกินมาตรฐานอยู่แล้ว ก็ต้องระวังน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นอยู่ประมาณ 7-12 กิโลกรัม น้ำหนักตัวที่เพิ่มนี้ควรเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ และค่อยเป็นค่อยไปตลอดการตั้งครรภ์ด้วยนะคะ
           ส่วนสูง - 111 = น้ำหนักมาตรฐาน
           ผอม(ทำรูปแม่ผอม)+ 14-20 กก.
           อ้วน(ทำรูปแม่อ้วน)+ 7-12 กก.
           มาตรฐาน + 10-15 กก.
เพิ่มเท่าไรในแต่ละเดือน
           น้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละระยะดังนี้ค่ะ
  • เดือนที่ 1-3 น้ำหนักตัวว่าที่คุณแม่คนใหม่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ จะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก บางคนน้ำหนักอาจจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะมีอาการแพ้ท้องจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เอาแต่โอ๊กอ๊ากตลอด 3 เดือน ช่วงนี้ถ้าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นก็มักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
  • เดือนที่ 4-6 น้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ประมาณสัปดาห์ละ 0.25 กิโลกรัม หรือเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรกคุณอาจดูแค่อิ่มเอิบขึ้นนิด ๆ ได้เวลาใส่ชุดคลุมท้องแล้ว แต่อาจมีคุณแม่บางคนพอหายแพ้ท้องก็อยากกินโน่นกินนี่แบบยั้งไม่อยู่
  • เดือนที่ 7-9 ช่วงนี้รูปร่างของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณเดือนละ 2-2.5 กิโลกรัม ในเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะคงที่หรือลดลงเล็กน้อย ช่วงนี้ลูกจะเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งทางสมองและร่างกายและเป็นช่วงที่คุณเจริญอาหารมากที่สุดด้วย
ในกรณีที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงตั้งท้องได้ 2-4 เดือน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 4-6 หรือมีน้ำหนักเพิ่มมากกว่าครึ่งกิโลกรัม ต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 7-9 อย่ารอช้า รีบไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ
สำหรับคุณแม่ลูกแฝดก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่าตามจำนวนลูกน้อยในครรภ์ แต่อาจจะหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ คือประมาณ 17-22 กิโล กรัม
หนึ่งคำ..สองคน
ใช่เลยค่ะว่าตอนนี้คุณไม่ได้ตัวคนเดียวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว อาหารแต่ละมื้อจึงไม่ใช่สำหรับคุณคนเดียว แต่รวมไปถึงลูกน้อยในครรภ์ด้วย คุณกินอะไร ลูกก็จะกินอย่างนั้นไปด้วย ซึ่งปริมาณอาหารที่คุณกินก็จะไปสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวโดยตรงด้วย
สารอาหารที่ลูกได้รับจากตัวคุณนี้ สำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเขา คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 500 แคลอรีต่อวัน เทียบง่าย ๆ ก็คือก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องกินมากขึ้นเป็นสองเท่า ควรคำนึงถึงความครบถ้วนทางคุณค่าโภชนาการมากกว่า เพื่อช่วยในการเติบโตทางร่างกายและสติปัญญของลูก ซึ่งระยะที่สมองของลูกเจริญเติบโตเร็วมากที่สุด ก็คือช่วงเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์
กินอย่างแม่คุณภาพ
พฤติกรรมในการกินของแม่ตั้งครรภ์ก็สำคัญค่ะ นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ยังเป็นประโยชน์สูงสุดกับลูกน้อยในครรภ์ด้วย
  • กินอาหารธรรมชาติ ระหว่างตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารธรรมชาติ หรือที่ใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด คืออาหารสดใหม่ ผ่านขั้นตอนการปรุงน้อย เพื่อคงคุณค่าอาหารไว้ให้มากที่สุด ถ้าเป็นอาหารแช่แข็งก็ยังพอใช้ได้ แต่ที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดคืออาหารบรรจุกระป๋องทุกชนิด
  • กินเพิ่มขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้นอีก 500 แคลอรีต่อวัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายและการเติบโตของลูก
  • กินบ่อย ๆ แม่ตั้งครรภ์มักจะกินไม่ได้มากเท่ายามปกติ เพราะระบบการย่อยเปลี่ยนไปและกระเพาะถูกเบียด แทนที่จะกินมื้อใหญ่ 2-3 มื้ออย่างเมื่อก่อน ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ วันละ 5-6 มื้อแทน
  • กินให้ครบคุณค่า ควรเน้นอาหารประเภทโปรตีน เพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อย และคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานในการทำกิจวัตรประจำวันของคุณ แต่ต้องไม่ลืมที่จะเลือกรับประทานอาหาร
ที่มีวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ให้เพียงพอ โดยเฉพาะธาตุเหล็กซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยให้ไม่หงุดหงิด เหนื่อยง่าย และยังลดอาการแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ด้วย
ที่พูดมานี่ ไม่ได้ให้คุณแม่ระวังเรื่องน้ำหนักเสียจนไม่กล้ากินอะไร..กินเข้าไปเถอะค่ะ แต่อย่าลืมว่าที่กินเข้าไปนั้น จะไปเพิ่มแต่ปริมาณหรือเปล่า ขอคุณภาพดีกว่าปริมาณคับพุงค่ะ
ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป
คุณแม่ช่างหม่ำอาจควบคุมน้ำหนักไม่อยู่ น้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มมากเกินมาตรฐาน ไม่ดีแน่ค่ะ..เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ทารกตัวโตคลอดลำ บาก คุณแม่เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น
เส้นเลือดขอดมากขึ้น ถ้าผ่าคลอดก็จะทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย พอคลอดแล้วยังลดน้ำหนักให้หุ่นเข้าที่ได้ยากอีกด้วย
ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป อย่าใช้วิธีอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ลูกจะถูกจำกัดอาหารไปด้วย ทำให้ลูกขาดอาหารและเสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น ถ้ารู้ตัวว่าน้ำหนักมากเกินไป พยายามเลือกกินให้ถูกสัดส่วนและควบคุมปริมาณอาหารทันที เป็นวิธีเดียว ที่จะควบคุมน้ำหนักของแม่ตั้งครรภ์โดยไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
ส่วนว่าที่คุณแม่ที่ผอมแห้งแรงน้อย ท้องแล้วหุ่นยังแบบบางเหมือนนางแบบก็ใช่ว่าจะดี เพราะถ้าน้ำหนักคุณไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน ก็เป็นอันตรายกับลูกอีก ลูกจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ เกิดมาตัวเล็กมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกอย่างแน่นอนค่ะ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1675&sub_id=43&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด