การดูแลตนเองในคุณแม่หลังคลอดบุตร เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก สิ่งสำคัญคือ ต้องพักผ่อนเยอะ รักษาความสะอาด การรับประทานอาหาร รวมไปถึงการออกกำลังกายที่ดี เพราะคุณแม่หลังคลอดต้องสุขภาพดี เพื่อจะได้ดูแลลูกน้อยของคุณให้มีสุขภาพดีไปด้วย...
1. การพักผ่อนและการทำงาน : ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอดควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เวลากลางคืน ควรได้รับการพักผ่อนประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง สามารถทำงานบ้านเบา ๆ ได้ จนกระทั่งถึง 6 สัปดาห์หลังคลอดจึงจะทำงานได้ตามปกติ
2. การรักษาความสะอาดของร่างกาย : ควรรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ควรล้างบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ด้วยสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้ง และใส่ผ้าอนามัยไว้ทุกครั้งและเปลี่ยนเมื่อชุ่ม ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แต่ไม่ควรลงแช่ในอ่างอาบน้ำหรือในแม่น้ำลำคลองเพราะจะให้เชื้อโรคเข้าสู่โพรงมดลูกได้ เสื้อผ้าควรเปลี่ยนให้สะอาดอยู่เสมอ สระผมได้ตามต้องการ
3. การรับประทานอาหาร : ได้ทุกชนิดไม่มีของแสลง แต่ควรงดเว้นอาหารรสจัด ของหมักดองและแอลกอฮอล์ เพราะสามารถเข้าออกทางน้ำนมได้ อาหารที่ควรรับประทานได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ ปลา นม น้ำ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้การขับถ่ายดี
4. การบริหารร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อต่างๆ ที่ถูกยืดขยายกลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น ท่าที่ควรปฏิบัติมีดังนี้
ท่าที่ 1 การบริหารเพื่อลดขนาดของมดลูก
•นอนคว่ำ มือแนบลำตัว
ท่าที่ 2 บริหารอก หน้าท้อง หลัง และช่องคลอด
•จังหวะที่ 1 ท่าเตรียม นอนหงาย
•จังหวะที่ 2 เข่าตั้งชันขึ้น แขม่วท้อง นับ 1-5 แล้วคลาย
ท่าที่ 3 การบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอด
•จังหวะที่ 1 ท่าเตรียม นอนหงาย
•จังหวะที่ 2 ยกสะโพกขึ้นแล้วนับ 1-5
•จังหวะที่ 3 เอาสะโพกลง
ท่าที่ 4 การบริหารหน้าท้อง
•จังหวะที่ 1 ท่าเตรียม นอนหงาย
•จังหวะที่ 2 ชันเข่า วางมือบนหน้าท้อง
•จังหวะที่ 3 ยกลำตัว ศีรษะและไหล่ นับ 1-5 แล้วลง
ท่าที่ 5 การบริหารกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขา
•จังหวะที่ 1 นอนหงายชันเข่า
•จังหวะที่ 2 ยกลำตัวและขาข้างหนึ่งขึ้น นับ 1-5 แล้วลง
•จังหวะที่ 3 สลับขาอีกข้างหนึ่ง
5. การมีเพศสัมพันธ์ : ควรงดเว้นการร่วมเพศ 6 สัปดาห์ภายหลังคลอด เพราะ ช่องทางคลอดยังไม่กลับคืนสู่สภาพเดิม มีแผลในโพรงมดลูก และปากมดลูกยังปิดไม่สนิท การร่วมเพศจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
6. การมีประจำเดือน : ในมารดาที่ไม่ได้ให้นมบุตรจะมีประจำเดือนในช่วง 7-9 สัปดาห์หลังคลอด แต่ถ้าให้นมบุตรจะกลับมามีประจำเดือนครั้งแรกช้ากว่า
7. การวางแผนครอบครัว : ในขณะที่ยังไม่มีประจำเดือนแต่ก็สามารถผลิตไข่และมีการไข่ได้ เมื่อมีเพศสัมพันธ์จึงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรมีการคุมกำเนิดก่อนระยะที่มีเพศสัมพันธ์ วิธีคุมกำเนิดที่ควรแนะนำ ได้แก่
1.การคุมกำเนิดชนิดถาวร ได้แก่ การทำหมัน ใช้ในกรณีที่มีบุตรเพียงพอแล้ว
2.การคุมกำเนิดชนิดชั่วคราว ได้แก่
◦ยาเม็ดคุมกำเนิด ในมารดาที่ให้นมบุตรไม่แนะนำเพราะจะมีผลต่อปริมาณน้ำนมทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง
◦ยาฉีดคุมกำเนิด ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม แต่บางรายอาจมีปริมาณของประจำเดือนลดลง
◦Norplant เป็นการฝังฮอร์โมนไว้ใต้ท้องแขน
◦ห่วงอนามัย เป็นการใส่ห่วงพลาสติกเข้าไปในโพรงมดลูก
◦ถุงยางอนามัย เป็นการคุมกำเนิดในเพศชาย
8. การตรวจร่างกายหลังคลอด : ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์จะได้รับการนัดตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์รวมทั้งเป็นการตรวจหามะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม
9. สิ่งผิดปกติที่สตรีหลังคลอดควรทราบ ได้แก่
1.มีไข้ ไม่ควรมีอุณหภูมิของร่างกายมากกว่า 38 องศา หากพบว่ามีไข้ควรรีบกลับมาโรงพยาบาลเพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษา
2.ความผิดปกติของน้ำคาวปลา ภายหลังการคลอดน้ำคาวปลาควรมีสีแดงและจางลงเรื่อย ๆ จนวันที่ 10 สีของน้ำคาวปลาควรเป็นสีน้ำตาลอ่อนและหมดไป หากพบว่าน้ำคาวปลากลับมีสีแดงขึ้นมาอีกหรือมีกลิ่นเหม็น ควรได้รับการตรวจว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่
3.คลำได้ก้อนทางหน้าท้องภายหลัง 2 สัปดาห์หลังคลอด ตามปกติมดลูกจะหดรัดตัวและกลับเข้าสู่ช่องเชิงกรานจนไม่สามารถคลำได้พบหลัง 2 สัปดาห์หลังคลอด หากพบว่ายังคลำพบก้อนที่หน้าท้องอีก แสดงถึงการที่มดลูกเข้าอู่ช้า ควรกลับมารับการตรวจว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1606&sub_id=46&ref_main_id=11
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1606&sub_id=46&ref_main_id=11