พ่อแม่เชื่อ...ว่า


808 ผู้ชม


ความเชื่อมั่น (Self-Confident) เป็นทักษะที่มีความหมายและจำเป็นสำหรับลูกที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต            ความเชื่อมั่น (Self-Confident) เป็นทักษะที่มีความหมายและจำเป็นสำหรับลูกที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต 
ด้วยเหตุนี้เองคุณพ่อคุณแม่จึงควรเริ่มสอนลูกให้กล้าคิด กล้าทำ และมั่นใจในตัวเอง ด้วยคำว่า “หนูทำได้”

เข้าใจพัฒนาการลูกวัย Toddler

ช่วงอายุ 1-3 ปี ถือเป็นช่วงที่เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) ด้วยพัฒนาการที่ลูกพูดได้ เดินได้ กินได้ และกำลังสนุกอยู่กับการทดลองที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ช่วงวัยนี้จึงถือเป็นวัยที่เหมาะกับการบ่มเพาะความเชื่อมั่นและความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกค่ะ

“หนูทำได้” หากคุณพ่อคุณแม่ได้ยินลูกพูดแบบนี้แล้วล่ะก็ อย่าเพิ่งคิดว่า “จริงหรือ?” แล้วห้ามไม่ให้ลูกทดลองทำอะไรด้วยตัวเองนะคะ เพราะลูกวัย Toddler เขาเริ่มมีความรู้สึกอยากรับผิดชอบชีวิตประจำวันของตัวเองบ้าง อยากมีส่วนร่วมในทำอะไรในบ้านบ้าง ด้วยการพยายามทำทุกอย่างที่เขาเคยเห็นคนในบ้านทำ และเริ่มมีทัศนคติที่ดีกับสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำค่ะ

หากลูกส่งสัญญาณความพร้อมมาแบบนี้แล้ว อย่ามัวรอช้าค่ะ รีบหากิจกรรมสำหรับฝึกฝนให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งถือเป็นทุนที่จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในการทำสิ่งที่ยากขึ้นในอนาคตกันเลย

 

รู้ก่อนฝึก

อุปสรรคสำคัญของการฝึกฝนความเชื่อมั่นในตัวลูกวัยนี้ไม่ได้อยู่ที่เจ้าตัวเขาหรอกค่ะ หากแต่อยู่ที่ตัวคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ ตัวลูกต่างหาก ก็เด็กเขาอยู่ในวัยกำลังเรียนจะกลัวอะไรล่ะคะ ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากต่างหากล่ะที่กำลังปกป้องลูก (อาจจะเกินไป) ต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับครูฝึกความเชื่อมั่นของลูกค่ะ

Dos

- ดูความสนใจของลูก เพราะความอยากรู้อยากเห็นจะเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกวัยนี้อยากทำกิจกรรมนั้น

- หางานหรือกิจกรรมง่ายๆ ให้ลูกทำ ต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป ไม่งั้นลูกจะถอดใจเอาง่ายๆ

- ชมเชยลูกบ้าง คำชมเชยแต่พอดีจะทำให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง และมั่นใจที่จะทำอะไรต่อไปด้วยตนเอง

- เป็นแบบอย่างที่ดี ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนเสมอ

Don’ts

- อย่าคิดว่าลูกทำไม่ได้ แม้จะเชื่องช้าไม่ทันใจ แต่ก็ควรให้เวลาดีกว่าไม่ให้ลอง

- อย่าทำแทนลูกทุกอย่าง เพราะถ้าไม่ลองปล่อยให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง ต่อไปลูกก็จะไม่กล้าทำอะไรคนเดียว

- อย่าให้งานลูกมากเกินไป เพราะการทำอะไรหลายอย่างมากเกินความสามารถอาจจะทำให้ลูกเบื่อหน่ายและล้มเลิกในที่สุด

- อย่าตำหนิรุนแรง เมื่อลูกทำผิดพลาด เพราะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเอง กลายเป็นคนไม่มั่นใจ ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า

 

กิจกรรมเสริมความเชื่อมั่น

เก็บของเล่น

เริ่มต้นกันด้วยกิจกรรมง่ายๆ ที่อาจจะทำได้ตั้งแต่ลูกยังไม่ถึงขวบเสียด้วยซ้ำ การเก็บของเล่นตัวเองหลังเล่นเสร็จ แม้ว่าลูกจะค่อยๆ หยิบทีละชิ้นเก็บลงในตะกร้า ชักช้าไม่ทันใจคุณแม่ก็ขอให้ใจเย็นๆ ไว้ก่อนนะคะ เพราะนี่คือกิจกรรมพื้นฐานเพื่อที่จะสามารถมอบหมายงานที่ยากขึ้นไปอีกนิดเมื่อลูกโตขึ้น

งานบ้านง่ายๆ

เก็บของเล่น ของใช้ เสื้อผ้าเข้าที่ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ล้างผัก วางรองเท้าในที่เก็บ วางช้อนส้อมบนโต๊ะ ฯลฯ แม้ผู้ใหญ่อย่างคุณแม่จะมองว่าเป็นเรื่องจิ๊บๆ ที่ทำได้ง่ายและไว แต่สำหรับลูกวัยซนแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังถือว่าใหม่ และต้องใช้ความพยายามสูงเหมือนกันนะคะ

สนามเด็กเล่น

นอกจากจะเป็นสถานที่เสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกายแล้ว การได้ทดลองเล่นเครื่องเล่นที่แปลกใหม่ยังเรื่องฝึกความเชื่อมั่นในตัวเองของลูกได้ด้วย

 

การเน้นให้ลูกมีประสบการณ์ชีวิตด้วยตนเอง ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกได้ลองผิดลองถูก เมื่อโตขึ้นจะเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ มั่นใจ รู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจ และสามารถช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตให้อยู่รอดในสังคมได้ค่ะ

 ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1512&sub_id=41&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด