อาหาร ฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด


961 ผู้ชม


เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช สูติ-นรีแพทย์ สถาบันเพอร์เฟควูแมน และข้อมูลจาก คุณเกศกนก สุกแดง นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช         เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช สูติ-นรีแพทย์ สถาบันเพอร์เฟควูแมน และข้อมูลจาก คุณเกศกนก สุกแดง นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช 

ภาวะหลังคลอดเป็นช่วงที่ร่างกายของแม่ค่อนข้างอ่อนแอ อวัยวะต่างๆ ยังไม่กลับเข้าสู่สภาพปกติ ฉะนั้นการดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการหลังคลอด จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของแม่หลังคลอดค่ะ

 

ใส่ใจอาหารหลังคลอด

ระยะหลังคลอด ถือเป็นช่วงเวลาที่แม่หลังคลอดจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพ เนื่องจากแม่ที่เพิ่งผ่านการคลอดบุตรมานั้นมีการสูญเสียเลือด รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลีย และเกิดความไม่สบายจากการเจ็บปวดบาดแผล

นอกจากนี้ยังมีอาการท้องอืด ระบบขับถ่ายไม่เป็นปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกและเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ค่ะ

ฉะนั้นในระยะหลังคลอด ซึ่งหมายถึงตั้งแต่คลอดรกเสร็จไปจนถึงระยะที่อวัยวะต่างๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉลี่ยประมาณ 6 สัปดาห์ แพทย์จึงแนะนำว่าแม่หลังคลอดควรให้ความสำคัญกับการกินอาหารอย่างมาก โดยต้องกินให้ครบ 3 มื้อในแต่ละวัน และให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ตามตารางโภชนาการดังนี้ค่ะ

 

* ตารางแสดงปริมาณอาหารที่แม่หลังคลอดควรได้รับต่อวัน (จาก The National Research Council ประเทศสหรัฐอเมริกา) *

 

อาหารต้องใส่ใจ

จากตารางโภชนาการข้างต้น จะสังเกตว่าแม่หลังคลอดควรได้สารอาหารต่างๆ เหมือนกับคนทั่วไปและแม่ตั้งครรภ์ แต่จะแตกต่างกันในปริมาณที่ควรได้รับ ซึ่งถ้าเทียบปริมาณตามหน่วยครัวเรือน ใน 1 วันคุณแม่หลังคลอดควรกินอาหารเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามตารางข้างต้นดังนี้ค่ะ

 

ข้าว 12 ทัพพี (1 ทัพพี = 5 ช้อนโต๊ะ) นมสด 2 แก้ว (1 แก้ว = 250 มล. ให้แคลเซียม 200 มก.) ผักสด 12 ทัพพี (ถ้าเป็นผักสุก 6 ทัพพี) ผลไม้ 5 ส่วน (ปริมาณ 1 ส่วนของแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เช่น เท่ากับส้มขนาดกลาง 1 ผล หรือแตงโมขนาดพอคำ 10 ชิ้น) เนื้อสัตว์ 6 ส่วน (12 ช้อนโต๊ะ โดยเนื้อสัตว์ 1 ส่วน เช่น เท่ากับเนื้อหมู,ไก่ 2 ช้อนโต๊ะ หรือไข่ไก่ 1 ฟอง) น้ำมันพืช น้ำมันรำข้าวสลับกับน้ำมันถั่วเหลืองไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

 

ทั้งนี้สารอาหารต่างๆ ที่ได้รับ จะมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูร่างกายคุณแม่หลังคลอด คือ

1.อาหารที่ให้พลังงาน แม่หลังคลอดควรกินอาหารที่ให้พลังงานสูง เพื่อไปชดเชยพลังงานที่เสียไปกับการคลอด และนำไปปรับสภาพร่างกายที่อ่อนเพลียให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยพลังงานที่ควรได้รับอยู่ที่ 2,400-2,600 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

 

2.โปรตีน แม่หลังคลอดจะต้องได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อนำไปซ่อมแซมร่างกายที่สึกหรอ และรักษาแผลจากการคลอด นอกจากนี้แม่หลังคลอดยังสูญเสียโปรตีนไปกับการให้นมบุตร

โดยปริมาณโปรตีนที่แม่หลังคลอดควรได้รับคือ 65 กรัมต่อวัน สำหรับแม่หลังคลอดที่ไม่ต้องให้นมบุตรควรได้โปรตีนเท่าๆ กับตอนที่ตั้งครรภ์ คือประมาณ 60 กรัมต่อวันนั่นเอง

 

3.วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ โดยหลักๆ แล้วจะได้จาก ผัก และผลไม้ ซึ่งแม่หลังคลอดควรเน้นอาหารจำพวกนี้ให้มาก โดยการกินทั้งผักสดและผักสุกหลากสี อย่างน้อยวันละ 5 สี รวมถึงผลไม้สด และที่สำคัญต้องดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ทั้งนี้วิตามินและเกลือแร่ที่ได้จากผักและผลไม้จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้วิตามินยังช่วยให้โปรตีนทำงานได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

 

อย่างไรก็ดี อาหารหลังคลอดไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูสุขภาพของแม่เท่านั้น ทว่ายังส่งผลถึงลูกอีกด้วย ฉะนั้นเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง คุณแม่ควรปรึกษานักโภชนาการ หรือสูตินรีแพทย์ เกี่ยวกับเรื่องอาหารหลังคลอดด้วยนะคะ

 ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=745&sub_id=46&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด