ปัสสาวะเล็ดราด


1,595 ผู้ชม


ปัสสาวะเล็ดราด ปกติร่างกายเราควบคุมให้เรากลั้นปัสสาวะไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม โดยส่วนของบริเวณกระเพาะปัสสาวะที่ต่อกับท่อปัสสาวะจะมีหูรูดบีบไว้ไม่ให้ปัสสาวะเล็ดออกมา         ปัสสาวะเล็ดราด ปกติร่างกายเราควบคุมให้เรากลั้นปัสสาวะไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม โดยส่วนของบริเวณกระเพาะปัสสาวะที่ต่อกับท่อปัสสาวะจะมีหูรูดบีบไว้ไม่ให้ปัสสาวะเล็ดออกมา 

 เมื่อปริมาณของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเต็ม กระเพาะปัสสาวะก็จะเริ่มบีบตัว เราจะรู้สึกปวดปัสสาวะ พร้อมกันนั้นหูรูดจะขยายตัวออกให้ปัสสาวะขับออกมา หากมีความผิดปกติของหูรูด เช่น หูรูดไม่ทำงาน ก็ไม่สามารถจะเก็บปัสสาวะไว้ในกระเพาะปัสสาวะได้ จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดราด ซึ่งพบได้บ่อยในสุภาพสตรี โดยเฉพาะสตรีที่คลอดบุตรหลายคน ทำให้เกิดการหย่อนยานของมดลูกที่เรียกว่ากระบังลมหย่อน หรือมดลูกหย่อน นอกจากนั้นเกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ หรือมีเนื้องอกของอวัยวะที่อยู่ใกล้กับหูรูดกระเพาะปัสสาวะ

ปัญหาปัสสาวะเล็ดราด กลั้นไม่อยู่ หรือควบคุมไม่ได้ เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในกลุ่มโรคระบบทางเดินปัสสาวะ ในต่างประเทศพบได้ประมาณร้อยละ 6 ของประชากร อาการดังกล่าวพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ปัสสาวะเล็ดราดอาจจะเป็นแค่เพียงหยดซึมเป็นช่วงๆ หรือตลอดเวลา หรือราดจนเปื้อนเสื้อผ้าภายใน โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถจะควบคุม หรือกลั้นเอาไว้ได้ บางท่านต้องใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ หรือสวมใส่ถุงเก็บปัสสาวะ สภาพดังกล่าวยังผลทำให้เสียสุขภาพพลานามัยต้องเฝ้าระวังดูแลรักษาตนเอง รวมทั้งเสียสุขภาพจิตที่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามความต้องการ

กลไกการกลั้นปัสสาวะในสตรี

เกิดจากผลรวมของความตึงตัวของเนื้อเยื่อบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะส่วนต้นและส่วนกลาง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะหดรัดตัว และปิดตลอดเวลา ทำให้น้ำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถเล็ดออกมาได้ถ้าตัวเรายังไม่ต้องการให้ปัสสาวะไหลออกมา แต่ถ้าต้องการขับปัสสาวะจะเกิดสัญญาณประสาทไปยังกระเพาะปัสสาวะให้มีการหดตัวและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้หย่อนตัวทำให้แรงดันในท่อปัสสาวะลดลง น้ำปัสสาวะจึงไหลออกมาได้

สาเหตุ

  1. ปัสสาวะเล็ดราดในสตรีวัยเจริญพันธุ์ อาจจะมีปัญหาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อย ปวดแสบ เล็ดราด หรือขัดกระปริบกระปรอย เนื่องมาจากการอักเสบติดเชื้อซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนหรืออั้นปัสสาวะไว้มากจนเกินไป เช่น เมื่อต้องเดินทางไกล การอักเสบนี้รักษา และป้องกันได้โดยพยายามถ่ายปัสสาวะทิ้งทันที่ เมื่อมีโอกาสเสี่ยงต่อการอักเสบดังที่กล่าวข้างต้น ควรจะดื่มน้ำ 1-2 แก้ว เพื่อให้ปัสสาวะมากขึ้นแต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
  2. สำหรับสตรี 30-40 ปีขึ้นไป หลังคลอดบุตรแล้ว 2-3 คน พบว่าประมาณ 4-6% มีอาการปัสสาวะบ่อย และเล็ดราดขณะที่ไอ จาม ยกของ หรือเดินขึ้นบันได อาการปัสสาวะเล็ดแบบนี้ สาเหตุเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะเสื่อมสมรรถภาพในการปิดกั้น ส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากกล้ามเนื้อกระบังลมช่องเชิงกรานหย่อนตัวลง แพทย์จะสามารถตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อพิจารณาความรุนแรงของอาการ และให้การรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดเพื่อให้หายเป็นปกติได้ การรักษาด้วยวิธีการฝึกหัดกล้ามเนื้อหูรูดช่องเชิงกราน ซึ่งเรียกว่าการฝึกหัด พี.ซี. หรือกล้ามเนื้อช่องเชิงกราน ด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จะช่วยรักษาอาการที่ไม่รุนแรงมากนักให้หายขาดได้ การฝึกหัดดังกล่าวมีประโยชน์ในการป้องกันเหมาะสมที่จะใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร เพื่อลดปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรก
  3. ปัสสาวะเล็ดราดในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากภาวะความเคยชินที่ผิดปกติ ความเสื่อมสมรรถภาพของกระเพาะปัสสาวะรวมทั้งระบบประสาทในสมอง จึงทำให้อาการปัสสาวะผิดปกติพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน

ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน เป็นกลุ่มอาการของความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ที่แม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตมากนัก แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก จึงจำเป็นที่แพทย์ในสาขาต่างๆ ที่อาจมีส่วนดูแลผู้ป่วย เช่น สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ อายุรแพทย์ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ให้ความสำคัญ และให้การรักษาอย่างจริงจัง เพื่อให้หายหรือบรรเทาจากภาวะดังกล่าว และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การรักษา

  1. เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้น การรักษาจึงใช้แนวทางรักษาหลายชนิดมาผสมผสานกัน
  2. รักษาภาวะที่ก่อให้เกิดปัญหากระเพาะปัสสาวะไวเกิน ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
  3. การใช้ยาที่มีฤทธิ์คลายการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การงดดื่มน้ำก่อนนอน
  5. หลีกเลี่ยงยา หรืออาหารที่มีฤทธิ์กระตุนการขับปัสสาวะ เช่น ยาขับปัสสาวะ น้ำชา กาแฟ
  6. การจัดที่นอนใหม่ให้เข้าห้องน้ำได้สะดวกขึ้น
  7. การฝึกกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมบำบัด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้สมองส่วนกลางส่งสัญญาณมายับยั้งวงจรการปัสสาวะ โดยการฝึกปัสสาวะให้เป็นเวลา และเพิ่มช่วงเวลาการถ่ายปัสสาวะให้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งหลักการเบี่ยงเบนความสนใจ

การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดส่วนนอกของท่อปัสสาวะหนาตัว และแข็งแรงขึ้น โดยปกติการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จะใช้ในการรักษาภาวะไอ-จามจนปัสสาวะเล็ด แต่พบว่าสามารถนำมาใช้รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้ด้วย

การออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยวิธีการออกกำลังแบบคีเกล (Kegel exercise) ซึ่งทำได้โดยการ เกร็งขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้ ประมาณ 2-3 วินาที แล้วผ่อนคลายสลับกันไปเมื่อทำได้ดี ขึ้นให้เกร็งค้างไว้ นานประมาณ 10 วินาที โดยทำบ่อยที่สุดเท่าที่จะ ทำได้ตลอดทั้งวัน เพื่อให้ได้ ประมาณ 100 ครั้งต่อวัน การออกกำลังกายแบบคีเกลนี้สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=633&sub_id=46&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด