แม่ท้องกับยาบำรุง


974 ผู้ชม


ในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรกนั้น ยาทุกอย่างอาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูก ยกเว้นโฟลิก วิตามินรวม และยาอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ...         ในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรกนั้น ยาทุกอย่างอาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูก ยกเว้นโฟลิก วิตามินรวม และยาอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ... 
พอรู้ตัวว่าท้อง ก็ต้องหาของกินมาบำรุงกันหน่อยค่ะ อ๊ะ! คุณแม่ท้องขา อย่าเพิ่งใจร้อน รีบด่วนซื้อทั้งวิตามิน ยาและอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่มายืนเข้าแถวให้คุณเลือกเลยนะคะ มาหาข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่กินเข้าไปนั้น จะปลอดภัยต่อคุณและเจ้าตัวน้อยในท้องก่อนดีกว่าค่ะ วิตามิน ยา และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม นั้นมีความหมายที่ต่างกัน และต้องทำความเข้าใจอย่างชัดเจนด้วยค่ะอาหารเสริม คือ ผลิตภัณฑ์ที่กินเพื่อเสริมอาหารมื้อหลัก เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘อาหารเสริม' มีทั้งชนิดเหลว เม็ด ผง และแคปซูลค่ะ ยา หมายถึง วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือ ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วย และวิตามินก็จัดอยู่ในประเภทยาค่ะ แม่ท้องต้องโด๊ปอาหารเสริมมั้ย นอกจากอาหารการกินตามปกติแล้ว เดี๋ยวนี้บ้านเรามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากมายหลายรูปแบบค่ะ ทั้งเม็ด เป็นผงผสมกับน้ำหรือนม ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับกลุ่มคุณแม่ท้องจะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่กินเข้าไป ล้วนส่งผ่านและมีผลกระทบต่อลูกในท้องได้ค่ะ แม้จะมีการอ้างสรรพคุณมักจะบอกว่าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ หรือมีส่วนผสมที่จะช่วยบำรุงรักษาผิวพรรณ เสริมแร่ธาตุในร่างกาย หรือช่วยป้องกันโรคอะไรต่อมิอะไรนั้น แต่ก็ไม่จำเป็นสำหรับแม่ท้องเลยค่ะ นอกจากนี้ อาหารเสริมหลายตัวก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ออกมายืนยันว่าอันตราย หรือสมควรกินหรือไม่ อีกทั้งยังไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้หรือไม่ อาหารหลักจำเป็นมากกว่า ว่าที่คุณแม่คนใหม่ทั้งหลายควรทราบว่าบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นไม่จำเป็นสำหรับลูกในท้องเลย เพียงแค่ดูแลสุขภาพของตัวเองก็เท่ากับดูแลลูกน้อยในท้องด้วยค่ะ ลองดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้นอีกนิด ด้วยวิธีต่อไปนี้ดูสิคะ * กินอาหารครบ 5 หมู่ หรือตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น กินโปรตีนจากไข่ นม วิตามินของคนท้อง เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 4-5 ควรเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ลูกเอาไปสร้างเม็ดเลือดและเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการเสียเลือดตอนคลอดค่ะ นอกจากนี้ยังต้องเสริมแคลเซียมหรือดื่มนมให้ได้วันละ 1 ลิตร เพื่อป้องกันตะคริว * หากว่ากลัวอ้วนก็อาจจะกินโปรตีนและนมในมื้อเย็น และคาร์โบไฮเดรตในระดับที่เหมาะสม ส่วนมื้อเช้ากับกลางวันให้กินปกติ หากจะลดอาหารเพราะกลัวน้ำหนักเกิน แล้วกินวิตามินเสริมอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอและไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง * ยาบางตัวที่เสริมแคลเซียม หรือวิตามิน เช่น วิตามิน อี ซี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และจำเป็นมากสำหรับแม่ท้อง โดยเฉพาะคุณแม่ที่ไม่ชอบกินผักและผลไม้ คุณแม่ก็ต้องกินวิตามินเหล่านี้ตามคำแนะนำของคุณหมอนะคะ ยาบำรุงกับแม่ท้อง ยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีขายตามร้านทั่วไป เรามีคำแนะนำดีๆ จาก รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาฝากค่ะ 1. สำหรับคนที่กินมาก่อนท้อง ไม่ว่าจะเป็นแก้สิว หรือยาแก้ปวดท้อง แก้ไข้ ลดน้ำมูก หรือแม้แต่อาหารเสริม ต่างๆ ควรเลิกทันทีเมื่อรู้ตัวว่าท้องหรือกำลังวางแผนจะมีลูก และควรนำยานั้นไปปรึกษาคุณหมอด้วยนะคะ เพราะในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรกนั้น ยาทุกอย่างอาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูก ยกเว้นโฟลิก วิตามินรวม และยาอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ 2. ช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก ยาจะมีผลอย่างมากเนื่องจากเป็นช่วงในการพัฒนาอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา หัวใจ ถ้าได้รับยาหรือสารเคมีต่างๆ ที่ผิดปกตินั้น เด็กจะพิการทันที โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังปฏิสนธิ ก่อนจะกลายเป็นตัวอ่อน นอกจากนี้ช่วงสัปดาห์ที่ 9 จนถึง 3 เดือนไปแล้วกระทั่งทารกคลอดก็เป็นช่วงที่ยาจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก เช่น เจริญเติบโตช้า ทำให้ตัวเล็ก หรืออาจจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ง่าย 3. หากคุณแม่ท้องคิดว่ายังได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และต้องการกินอาหารเสริมเพิ่มเติม ควรตรวจสุขภาพหรือปรึกษาคุณหมอก่อน เพื่อประเมินว่าจำเป็นหรือไม่ เพราะถ้าได้เพียงพอแล้ว ร่างกายจะขับอาหารเสริมออกมาเป็นของเสีย ทำให้ไตต้องทำงานเพิ่มขึ้นและเสียยังตังค์ฟรีๆ อีกด้วย รู้หลักในการใช้ยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมระหว่างตั้งครรภ์กันแล้ว คราวนี้คุณแม่ก็ดูแลสุขภาพตัวเองและเจ้าตัวเล็กในท้องได้อย่างมั่นใจแล้วนะคะ ผลของยาต่อลูกน้อย 1. ยาที่ไม่มีผลต่อความผิดปกติใดๆ ไม่ก่อให้เกิดผลเสีย เช่น วิตามิน ยาบำรุงเลือด เป็นต้น 2. คุณแม่ได้รับยาในช่วง 2-3 เดือนแรกจะส่งผลให้ลูกพิการตั้งแต่กำเนิดได้ 3. การได้รับยาในช่วงหลังตั้งครรภ์ 3 เดือนไปแล้ว จะทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทำให้เกิดภาวะเกร็ดเลือดต่ำ หรือเด็กตัวเหลือง 4. ผลเสียที่ไม่ได้เกิดจากยาโดยตรง แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในตัวของคุณแม่แล้วส่งผลให้เกิดต่อทารกในครรภ์ เช่น ยากลุ่มลดความดันโลหิต หรือยาขับปัสสาวะ เป็นต้น 5. แม้ยาบางตัวอาจมีผลดีต่อทารก เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์บางตัวที่จะไปช่วยเรื่องการทำงานของปอด ทำให้เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีปอดที่แข็งแรงสมบูรณ์ก่อนเวลาอันควร แต่ก็ไม่ควรซื้อกินเองค่ะ รู้มั้ยว่า...ในทางการแพทย์ จะมีการแบ่งยาแผนปัจจุบันที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ออกเป็น 5 ประเภท ซึ่งคุณหมอจะระมัดระวังในการใช้อย่างเคร่งครัด นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องฝากท้อง ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง A - มีรายงานการใช้ยาในคุณแม่ซึ่งได้รับการควบคุมอย่างดี และยืนยันว่าได้รับความปลอดภัย ไม่มีผลต่อทารก เช่น กลุ่มยาวิตามินต่างๆ B - มีรายงานการทดลองว่าไม่มีความผิดปกติ แม้ยาบางตัวจะเคยมีรายงานในการทดลองว่ามีความผิดปกติต่อตัวอ่อน แต่เมื่อนำมาศึกษาหรือนำมาใช้กับมนุษย์แล้วไม่มีความผิดปกติต่อทารก เช่น ยาเพนิซิลิน ยาแก้หวัด C - ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่ามีผลให้ทารกมีความผิดปกติ คือยังไม่แน่ใจในความปลอดภัย 100% เป็นกลุ่มที่ต้องกินด้วยความระมัดระวัง ใช้กับคนที่แพ้ยาปฏิชีวนะจำพวกเพนิซิลิน จึงต้องมาใช้ยาในกลุ่มนี้แทน แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ D - มีหลักฐานชัดเจนว่าจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนแน่นอน แต่ยังมีประโยชน์ในบางเรื่องต้องดูว่าแม่จำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ หรือไม่ ทั้งๆ ที่อาจจะมีผลต่อทารกได้เช่นกัน X - เป็นกลุ่มที่ห้ามอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีรายงานชัดเจนว่าจะเกิดความผิดปกติกับทารกและประโยชน์ของยาก็ไม่เพียงพอที่จะเลือกยาตัวนี้ขณะตั้งครรภ์ เช่น กลุ่มยาที่รักษาโรคมะเร็ง โดยฉลากยาจะระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามสตรีมีครรภ์รับประทาน 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=459&sub_id=43&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด