พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 1-40


1,044 ผู้ชม


        ปฏิทินการตั้งครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ดังนั้นเมื่อคุณหมอบอกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์แล้ว ในความเป็นจริงคือ 2 สัปดาห์หลังจากการปฏิสนธิ...          ปฏิทินการตั้งครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ดังนั้นเมื่อคุณหมอบอกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์แล้ว ในความเป็นจริงคือ 2 สัปดาห์หลังจากการปฏิสนธิ... 
การตั้งครรภ์โดยปกติจะมีระยะเวลา 37-42 สัปดาห์ นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายโดยเฉลี่ยคือ 40 สัปดาห์ ถ้าหากว่าคุณแม่ไม่แน่ใจว่าวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ การอัลตร้าซาวด์จะสามารถช่วยกำหนดวันคลอดทารกได้ ในสัปดาห์แรกๆ ทารกในครรภ์จะถูกเรียกว่า “Embryo” และในอีก 8 สัปดาห์ต่อมาจะถูกเรียกว่า “Fetus” หมายถึง "ตัวอ่อน" สัปดาห์ที่ 3 (3 สัปดาห์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย)ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (Fertilized egg) จะเคลื่อนตัวช้าๆ ผ่านท่อนำไข่มายังโพรงมดลูก ขณะเคลื่อนตัวก็แบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมาถึงโพรงมดลูกไข่จะมีลักษณะเป็นลูกกลมประกอบด้วยเซลล์ราว 100 เซลล์ และยังคงเจริญเติบโตต่อไป ประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ไข่ที่ผสมแล้วจะฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งมีลักษณะนุ่มและหนา เมื่อยึดเกาะติดมั่นคงดีแล้วจึงถือได้ว่าการปฏิสนธิเป็นไปอย่างสมบูรณ์ สัปดาห์ที่ 4-5 เมื่อไข่ที่ผสมแล้วยึดเกาะติดฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูกเรียบร้อยดีแล้ว ระยะนี้จะเรียกว่า “Embryo” จะยื่นส่วนที่อ่อนนุ่มลักษณะคล้ายนิ้วมือแทรกลึกลงไปในผนังมดลูกเพื่อสร้างติดต่อกับเลือดของแม่ ต่อมาส่วนนี้จะเจริญเติบโตเป็นรกมีการสร้างสายสะดือและถุงน้ำคร่ำห่อหุ้มต่อไป ส่วนเซลล์ภายในจะมีเนื้อเยื่อพิเศษสองชั้น และกลายเป็นสามระดับชั้นตามลำดับ แต่ละชั้นจะสร้างเป็นอวัยวะต่างๆ ของร่าง กายทารกน้อย โดยเซลล์ชั้นแรกจะพัฒนาเป็นสมองและระบบประสาท, ผิวหนัง, ตา, และหู ส่วนชั้นต่อมาจะพัฒนามาเป็นปอด, กระเพาะอาหาร, และชั้นที่สามจะกลายเป็นหัวใจ, หลอดเลือด, กล้ามเนื้อ, และกระดูก สัปดาห์ที่ 5 จะเป็นระยะที่ประจำเดือนขาดหายไป และคุณแม่มักจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ซึ่งระบบประสาทของทารกเริ่มพัฒนาแล้ว สัปดาห์ที่ 6-7 ปลายสัปดาห์ที่ 6 ตัวอ่อนจะมีรูปร่างโค้งงอ มีส่วนหัว ส่วนด้านข้าง และส่วนล่างที่มีลักษณะเหมือนหางกระดก ส่วนหลังที่ผ่าตลอดแนวจะมีชั้นของเซลล์พื้นผิวที่ม้วนตลบขึ้นทั้งสองข้างจรดกันเป็นท่อตลอดแนวหลัง ซึ่งจะกลายเป็นกระดูกสันหลังต่อไป บริเวณหน้าอกที่โป่งออกจะพัฒนาเป็นหัวใจในเวลาต่อมาและจะเริ่มเต้นในปลายๆ สัปดาห์นี้ สามารถเห็นการเต้นของหัวใจได้จากการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ รอยบุ๋มที่ปรากฏบริเวณศีรษะจะพัฒนามาเป็นหู และตา และมีปุ่มเล็กๆ ซึ่งจะเจริญเป็นแขนและขาต่อไปในสัปดาห์ที่ 7 ตัวอ่อนจะมีความ ยาวประมาณ 8 มม. สัปดาห์ที่ 8-9 เริ่มมีลักษณะใบหน้า มีติ่งของจมูก, รูจมูก, ร่องปาก, และลิ้น เริ่มเห็นตาชัดขึ้นและเริ่มมีสีของลูกตา, เริ่มมีปากและลิ้น นิ้วมือ นิ้วเท้าเริ่มปรากฏชัดขึ้น แขน ขาเริ่มยาวขึ้น เริ่มมองเห็นไหล่ ข้อศอก สะโพก และหัวเข่า ตัวอ่อนเคลื่อนตัวอยู่เรื่อยๆ (แต่คุณแม่ยังไม่สามารถรู้สึกได้) หูชั้นในซึ่งมีหน้าที่รับการทรงตัวและการได้ยินกำลังถูกสร้างขึ้น อวัยวะภายในสำคัญๆ เริ่มปรากฏทั้งหมดแม้จะยังไม่สมบูรณ์ - หัวใจ สมอง ปอด ตับ ไต ลำไส้ ในสัปดาห์ที่ 9 ลูกในครรภ์จะมีความ ยาว 17 มม. สัปดาห์ที่ 10-14 เมื่อลูกในครรภ์อายุได้ 14 สัปดาห์ อวัยวะส่วนสำคัญทั้งหมดจะสร้างเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น ลำไส้และอวัยวะส่วนต่างๆ เริ่มขยายขนาดและตกแต่งให้สมบูรณ์ ส่วนหัวจะยาว 1 ในของความยาวลำตัว ส่วนลูกตาจะสร้างสมบูรณ์ในขณะที่เปลือกตายังปิดและไม่ทำงาน หน้าตาสมบูรณ์แล้ว ลำตัวเหยียดตรง เริ่มมีซี่โครงและกระดูก เริ่มมีเล็บมือ เล็บเท้า และขนบางส่วน อวัยวะเพศแยกได้ชัดเจน หัวใจเต้น 110-160 ครั้ง/นาที ทารกเริ่มกลืนน้ำคร่ำและถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการสะอึกเป็นครั้งคราว ลูกเริ่มดิ้นแล้วแต่ไม่แรงพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกได้ในช่วง สัปดาห์ที่ 14 นี้ ลูกในครรภ์จะมีความยาว 9 ซม. และหนัก 48 กรัม สัปดาห์ที่ 15-22 ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ในสัปดาห์ที่ 18 ส่วนของใบหน้าพัฒนาจนคล้ายมนุษย์มากขึ้นทุกที ลูกเริ่มแสดงสีหน้าได้เป็นครั้งแรก จะทำหน้ายุ่งๆ และย่นหน้าผากได้ เส้นผมเริ่มหยาบขึ้นและมี สี คิ้วและขนตาเริ่มปรากฏ เปลือกตาบนล่างยังติดกัน จมูก นิ้วมือและเท้า จะเห็นได้ชัดเจน เส้นลายนิ้วมือเริ่มเป็นปรากฏ ดังนั้นทารกแต่ละคนจึงมีลายนิ้วมือเฉพาะตัวแตกต่างกันไป เล็บเริ่มงอกออกมาเล็กน้อย ระบบการส่งคลื่นเสียงของหูเริ่มทำงานเต็มที่ ลูกเริ่มได้ยินเสียงของแม่และเสียงจากระบบย่อยอาหารของแม่ จอตาจะเริ่มไวต่อแสงทั้งที่เปลือกตายังไม่ทำงาน ลูกจะเริ่มรับรู้แสงได้แล้ว หากมีแสงสว่างจ้าจากภายนอกครรภ์ของแม่ ในสัปดาห์ที่ 22 ตามลำตัวของทารกจะมีขนอ่อน (lanugo) วัตถุประสงค์ของขนอ่อนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของทารก ขนอ่อนนี้จะจางหายไปก่อนที่ทารกจะคลอดออกมา บางครั้งอาจจะหลงเหลืออยู่บ้างหลังคลอดแต่จะหายไปในที่สุด ในระหว่างสัปดาห์ที่ 16-22 คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกเป็นครั้งแรก แต่ถ้าเป็นการตั้งท้องลูกคนที่สอง คุณแม่จะรู้สึกรับรู้ถึงการดิ้นของลูกเร็วขึ้น คือประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 16-18 หลังการปฏิสนธิ ในสัปดาห์ที่ 22ทารกในครรภ์จะมีความยาว 16 ซม. สัปดาห์ที่ 23-30 ทารกในครรภ์จะเคลื่อนไหวคล่องแคล่วมากขึ้น และมีการตอบสนองต่อสัมผัสและเสียงดังๆ ภายนอก ถ้าได้ยินเสียงดังจากข้างนอกจะทำให้ทารกเตะหรือกระโดดได้ ทารกกลืนน้ำคร่ำและถ่ายปัสสาวะลงในน้ำคร่ำประมาณวันละ 500 cc. บางครั้งทารกสะอึก และคุณแม่เองก็สามารถรู้สึกถึงอาการสะอึกของลูกได้เช่นกัน ทารกเริ่มตื่นและหลับเป็นเวลา และบ่อยครั้งทีเดียวที่แตกต่างไปจากเวลาของคุณแม่ เมื่อคุณแม่จะเข้านอนในกลางคืนอาจเป็นเวลาที่ลูกตื่นและเริ่มเตะถีบ การเต้นของหัวใจของทารกสามารถได้ยินผ่านเครื่องสเตรปโตสโคปแล้ว คุณพ่อเองถ้าเอาหูแนบท้องคุณแม่ดีๆ ก็จะได้ยินเสียงหัวใจของลูกเต้นเช่นกัน ในระยะนี้ผิวหนังของทารกจะถูกหุ้มด้วยไขสีขาวเรียกว่า “vernix” ซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องให้ผิวลูกอ่อนนุ่มขณะที่ยังลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำ ไขสีขาวนี้จะจางหายไปก่อนที่ลูกจะคลอดออกมา สัปดาห์ที่ 24 ในระยะสัปดาห์นี้ถ้าลูกคลอดตอนนี้ก็อาจมีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดได้ ถ้าได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องการหายใจและอุณหภูมิร่างกายต่ำ ถ้าคลอดก่อนหน้านี้โอกาสที่ลูกจะมีชีวิตรอดเป็นได้ยากเพราะว่าปอดและอวัยวะส่วนสำคัญๆ ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เพียงพอ สัปดาห์ที่ 26 เปลือกตาลูกจะเปิดเป็นครั้งแรก เท่ากับว่าลูกเริ่มลืมตาและมองเห็นได้แล้ว ความยาวของลูกในช่วง 30 สัปดาห์จะประมาณ 24 ซม. สัปดาห์ที่ 31-40 ในระยะ 34 สัปดาห์อวัยวะต่างๆ ของลูกสมบูรณ์เกือบหมดแล้ว ยกเว้นปอดซึ่งยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระยะนี้ลูกจะเคลื่อนตัว เหยียดแขนขา หรือเตะผนังหน้าท้องจนเห็นนูนชัดออกมาบริเวณหน้าท้อง ทำให้คุณแม่นอนไม่ค่อยหลับ ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กก. นับจากเดือนนี้ เนื่องจากมีไขมันสีขาวมาสะสมใต้ผิวหนังช่วยให้ความอบอุ่นและพลังงานแก่ร่างกาย รวมทั้งควบคุมอุณหภูมิของลูกเมื่อคลอด เล็บมืองอกยาวถึงปลายนิ้ว แต่เล็บเท้ายังไม่งอกถึงปลายนิ้ว ผมเริ่มดกเต็มศีรษะ ทารกบางคนอาจเอาศีรษะลงสู่ช่องทางคลอดแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่กลับหัวลงจน กว่าจะครบกำหนดคลอด การเจริญเติบโตของลูกในช่วงสุดท้าย ทารกจะสลัดขนอ่อนตามร่างกายออกเกือบหมดเหลือไว้แต่บริเวณไหล่ แขน ขา และรอยย่นตามลำตัว ผิวหนังนุ่มและเรียบ ยังคงมีไขสีขาวเคลือบอยู่บ้างบริเวณหลังเพื่อหล่อลื่นให้ทารกคลอดได้ง่าย เล็บมือจะยาว ปลายเล็บอาจข่วนบริเวณใบหน้าได้ ต่อมหมวกไตจะสร้างฮอร์โมนเร่งความสมบูรณ์ของปอด เพื่อเตรียมการหายใจครั้งแรกของชีวิตหลังคลอด ระบบภูมิคุ้มกันโรคของลูกในครรภ์ยังทำงานไม่ได้ ต้องอาศัยภูมิต้านทานโรคต่างๆ จากคุณแม่ผ่านทางรก ถ้าคุณแม่มีภูมิต้านทานโรค เช่น ไข้หวัด คางทูม หัดเยอรมัน ลูกก็จะได้รับภูมิคุ้มกันโรคเหล่านั้นครบหมด และยังจะได้รับต่อเนื่องผ่านทางน้ำนมแม่ด้วย คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงกว่าเดิมเพราะถูกจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังคงรู้สึกว่าลูกเตะถีบในบางครั้งได้ ทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัว 3-4 กก. และมีความยาวจากศีรษะถึงก้นประมาณ 35-37 ซม. 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=369&sub_id=42&ref_main_id=11

อัพเดทล่าสุด