เรื่องของยา ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี


1,682 ผู้ชม


เคยมีข้อสงสัยกันบ้างไหมค่ะเวลาใช้ยาไม่ถูกวิธีนั้น จะมีผลกับร่างกายของตัวเองอย่างไรกันบ้าง และยาบางตัวถ้าทานผิดเวลาแล้วจะมีผลกับร่างกายอย่างไร วันนี้เราไปหาคำตอบของยาแต่ละชนิดกัน         เคยมีข้อสงสัยกันบ้างไหมค่ะเวลาใช้ยาไม่ถูกวิธีนั้น จะมีผลกับร่างกายของตัวเองอย่างไรกันบ้าง และยาบางตัวถ้าทานผิดเวลาแล้วจะมีผลกับร่างกายอย่างไร วันนี้เราไปหาคำตอบของยาแต่ละชนิดกัน 
เรื่องของยา ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี

เรื่องของยา ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี

ยาที่เราทานกันอยู่ทุกวันนี้ บางครั้งอาจจะมีโทษไม่รู้ตัวเมื่อเราทานไม่ถูกวิธี ซึ่งการทานยาที่ถูกวิธีนั้น

อาจจะต้องขึ้นอยู่กับยาที่เราทาน หรือบางครั้งการทานยาก็ยังส่งผลกับเราโดยตรง เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทานยาหรือใช้ยาแบบไหนก็ตาม คุณควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจเสียก่อน หรือถ้าคุณมีข้อสงสัยในการใช้ยา คุณควรปรึกษาแพทย์โดยทันที และวันนี้เรามีวิธีการใช้ยาทุกประเภทมาบอกผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำมาบอกกันค่ะ
ยา เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาทา ยาฉีด ยากิน เป็นต้น หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนและทำให้เกิดอันตรายได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา ทั้งในเรื่องของการใช้ยาที่ถูกต้อง รู้จักวิธีการเก็บรักษายาไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว และรู้จักสังเกตว่ายานั้นเสื่อมสภาพหรือยัง ดังนี้
  • 1.ใช้ให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น เราไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือหลงเชื่อคำโฆษณา ควรจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นคนจัดให้ เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรค อาจทำให้ได้รับ อันตรายจากยานั้นได้ หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่โรคที่เป็นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย ซึ่งทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ในภายหลัง
  • 2.ใช้ยาให้ถูกกับคน คือ ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ว่า ยาชนิดใดใช้กับใคร เพศใด และ อายุเท่าใด เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของคนแต่ละเพศ แต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น ในเด็กการตอบสนองต่อยาจะ เร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ในสตรีมีครรภ์ยาหลายชนิด มีผลทำให้ทารกพิการได้ ในสตรีที่ให้นมบุตรก็ต้องระวัง เพราะยาอาจถูกขับทางน้ำนม ซึ่งจะส่งผลให้ทารกได้ ในผู้สูงอายุการทำลายยา โดยตับและไตจะช้ากว่าคนหนุ่มสาว
  • 3.ใช้ยาให้ถูกเวลา ควรปฏิบัติดังนี้
  • การรับประทานยาก่อนอาหาร ต้องรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าว ก็ให้รับประทาน เมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดี
  • การรับประทานยาหลังอาหาร โดยทั่วไปจะให้รับประทานยา หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ประมาณ 15 - 30 นาที
  • การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร ให้รับประทานยาทันที หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้ จะระคายเคืองต่อกระเพาะมาก หากรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง อาจทำให้กระเพาะเป็นแผลได้
  • การรับประทานยาก่อนนอน ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที
     
  • การรับประทานยาเมื่อมีอาการ ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และยาลดไข้ แก้ปวด
  • 4.ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำ จึงจะให้ผลดีในการรักษา และควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยา ไม่ใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง แต่หากต้อง สามารถเปรียบเทียบหน่วยมาตรฐาน ดังนี้

1 ช้อนชา (มาตรฐาน)     =      5 มิลลิลิตร    =  2 ช้อนกาแฟ (ในครัว)    = 1 ช้อนกินข้าว
1 ช้อนโต๊ะ (มาตรฐาน)   =     15 มิลลิลิตร    =  6 ช้อนกาแฟ (ในครัว)    = 3 ช้อนกินข้าว

  • 5.ใช้ยาให้ถูกวิธี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ยาที่ใช้ภายนอก ได้แก่ ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาเหน็บ ยาหยอด มีข้อดีคือมีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้นและมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย ข้อเสียคือ ใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณ
พื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
เรื่องของยา ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี
  • ยาใช้ทา ให้ทาเพียงบาง ๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นหรือบริเวณที่มีอาการ ระวังอย่าให้ถูกน้ำล้างออกหรือถูกเสื้อผ้าเช็ดออก
  • ยาใช้ถูนวด ก็ให้ทาและถูบริเวณที่มีอาการเบาๆ
  • ยาใช้โรย ก่อนที่จะโรยยาควรทำความสะอาดแผล และเช็ดบริเวณที่จะโรยให้แห้งเสียก่อน ไม่ควรโรยยาที่แผลสด หรือแผลมีน้ำเหลือง เพราะผงยาจะเกาะกันแข็งและปิดแผล อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคภายในแผลได้
  • ยาใช้หยอด จะมีทั้งยาหยอดตา หยอดหู หยอดจมูกหรือพ่นจมูก
ยาที่ใช้ภายใน ได้แก่ ยาเม็ดยาผง ยาน้ำ ข้อดี คือ สะดวก ปลอดภัย และใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแตกต่างกันตามสภาพการดูดซึม โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
  • ยาเม็ดที่ให้เคี้ยวก่อนรับประทาน ได้แก่ ยาลดกรดและยาขับลมชนิดเม็ดทั้งนี้เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
  • ยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ได้แก่ ยาชนิดที่เคลือบน้ำตาล และชนิดที่เคลือบฟิล์มบางๆ จับดูจะรู้สึกลื่น ยาดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้ยาเม็ดค่อยๆ ละลายทีละน้อย
  • ยาแคปซูล เป็นยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ข้อดีคือรับประทานง่าย เพราะกลบรส และกลิ่นของยาได้ดี
  • ยาผง มีอยู่หลายชนิด และใช้แตกต่างกัน เช่น ตวงใส่ช้อนรับประทานแล้วดื่มน้ำตาม หรือชนิดตวงมาละลายน้ำก่อน และยาผงที่ต้องละลายน้ำในขวด ให้ได้ปริมาตรที่กำหนดไว้ก่อน ที่จะใช้รับประทาน เช่นยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับเด็ก โดยน้ำที่นำมาผสมต้องเป็น น้ำดื่มที่ต้มสุกและทิ้งให้เย็น ต้องเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง และหากใช้ไม่หมดใน 7 วันหลังจากที่ผสมน้ำแล้วให้ทิ้งเสีย
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรดต้องเขย่าขวดให้ ผงยาที่ตกตะกอนกระจายเป็นเนื้อเดียวกัน จึงรินยารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังไม่กระจายตัว แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
  • ยาน้ำใส เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้น หรือเขย่าแล้วไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน
  • ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของเหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
การเก็บรักษายา
  • 1. ควรตั้งให้พ้นจากมือเด็ก เพราะ ยาบางชนิดมีสีสวย เช่นยาบำรุงเลือดที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ
  • 2. ไม่ตั้งตู้ยาในที่ชื้น ควรตั้งอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรเก็บยาให้ห่างจาก ห้องครัว ห้องน้ำ และต้นไม้
  • 3. ควรจัดตู้ยาให้เป็นระเบียบ โดยแยก ยาใช้ภายนอก ยาใช้ภายใน และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยิบยาผิด
  • ยาใช้ภายใน ให้ใส่ขวดสีชามีฝาปิดสนิท เขียนฉลากว่า "ยารับประทาน" โดยใช้ฉลากสีน้ำเงิน หรือตัวอักษรสีน้ำเงิน หรือสีดำ พร้อมกับระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาด และวิธีรับประทาน ติดไว้ให้ เรียบร้อย ถ้าเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ที่ฉลากจะต้องมี คำว่า "เขย่าขวดก่อนใช้ยา"
  • ยาใช้ภายนอก ให้ติดฉลากสีแดง มีข้อความว่า "ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน" ในฉลากต้องระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาดและวิธีใช้ให้เรียบร้อย
  • 4. เก็บรักษายาไม่ให้ถูกแสงสว่าง เพราะยาบางชนิดหากถูกแสงแดดจะเสื่อมคุณภาพ จึงต้องเก็บในขวดทึบแสง มักเป็นขวดสีชา เช่น ยาหยอดตา ยาวิตามิน ยาปฏิชีวนะ และยาแอดรีนาลิน ที่สำคัญควรเก็บยาตามที่ฉลากกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แต่ถ้าฉลากไม่ได้บ่งไว้ก็เป็นที่เข้าใจว่า ให้เก็บในที่ซึ่งป้องกันความชื้นได้ดี
วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ
ยาเสื่อมคุณภาพ เป็นยาที่เปลี่ยนสภาพไป ทำให้ไม่ให้ผลในการรักษาหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ การเปลี่ยนสภาพของยา อาจเปลี่ยนจากลักษณะภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัด หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างภายในของตัวยา ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น

  • ยาน้ำ จะมีการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือมีตะกอนผิดไปจากเดิม
  • ยาหยอดตา จะมีลักษณะขุ่น หรือตกตะกอนของตัวยา เปลี่ยนสี
  • ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้มเม็ดแตก ชื้น บิ่น แตก เปลี่ยนสี
  • ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีของยาที่อยู่ภายในแคปซูลเปลี่ยนไป หรือมีสีเข้มขึ้น
  • ยาขี้ผึ้ง ยาครีม จะมีลักษณะเนื้อยาเยิ้มเหลว แยกชั้น กลิ่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม
  • สำหรับยาแผนปัจจุบันทุกชนิด กฎหมายกำหนดให้ระบุวันสิ้นอายุไว้ในฉลาก โดยผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้าในราชอาณาจักร ต้องแสดง วัน เดือน ปีที่ยาสิ้นอายุไว้ในฉลาก
  • สำหรับยาแผนโบราณ หากเป็นยาแผนโบราณ ที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ต้องระบุ วันสิ้นอายุของยาดังกล่าวด้วย โดยยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่เป็นยาน้ำจะมีอายุการใช้ 2 ปีนับจากวันที่ผลิต
หากอยู่ในรูปอื่นที่มิใช่ยาน้ำจะมีอายุการใช้ 3 ปีนับจากวันที่ผลิต ส่วนยาแผนโบราณ ที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ฉลากยาจะต้อง ระบุวันที่ผลิต แต่จะกำหนดวันหมดอายุหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากยาแผนโบราณส่วนใหญ่ ได้จากสมุนไพรมักมีการสลายตัวง่าย จึงควรเลือกที่ผลิตมาใหม่ๆ
ทั้งนี้ ยาทุกชนิด หากการเก็บรักษายาไม่ถูกต้องอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพก่อนวันที่กำหนดไว้ได้

ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=3109&sub_id=52&ref_main_id=3

อัพเดทล่าสุด