สมุนไพรจากไม้ยาพื้นบ้านสู่ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ


1,220 ผู้ชม


นับตั้งแต่สมัยโบราณ พืชได้มีบทบาทต่อมนุษย์อย่างมากในด้านปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค พืชสมุนไพรมีบทบาทอย่างมากในการดูแลรักษาโรคของคนในสมัยโบราณ         นับตั้งแต่สมัยโบราณ พืชได้มีบทบาทต่อมนุษย์อย่างมากในด้านปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค พืชสมุนไพรมีบทบาทอย่างมากในการดูแลรักษาโรคของคนในสมัยโบราณ 
ในปัจจุบัน การแพทย์ตะวันตกที่อิงกับวิทยาศาสตร์เป็นหลักได้เข้ามาแทนที่การแพทย์พื้นบ้าน การรักษาโรคด้วยสมุนไพรถูกจัดเป็นการแพทย์แผนโบราณ (Traditional medicine) หรือการแพทย์ทางเลือก (Complementary and alternative medicine) และจากการขาดข้อมูลเชิงลึกในทางวิทยาศาสตร์ ยาสมุนไพรหลายชนิดจึงไม่ได้รับการยอมรับในการแพทย์แผนปัจจุบัน เราจึงมักเห็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร (Herbal medicinal products) ในรูปแบบเครื่องสำอาง (cosmetics) อาหารเสริม (functional foods / nutraceuticals) หรือในรูปแบบดั้งเดิม เช่น รากไม้ ว่านยา ใบไม้ เปลือกไม้
ภายหลังจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เราได้เห็นความเสื่อมโทรม ถดถอย และภัยพิบัติจากการขาดความสมดุลของการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระแสการคืนสู่ธรรมชาติ (Back to Nature) จึงได้รับการพูดถึงมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในระบบสุขภาพทั่วโลก เป็นผลให้มูลค่าสมุนไพรในตลาดโลกมีการขยายตัวต่อเนื่องทุกปี หนังสือพ็อกเกตบุคและงานวิจัยทางด้านสมุนไพรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ และองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรที่ยาวนาน
การพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการทดแทนยาแผนปัจจุบันที่ต้องนำเข้าเป็นมูลค่ามหาศาล ได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐบาล แต่การขาดการบูรณาการในเชิงนโยบาย ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในองค์ความรู้และภูมิปัญญาไทยที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา รวมไปถึงข้อจำกัดทางกฎหมายและการยอมรับของบุคลากรในระบบสาธารณสุขไทย ทำให้ผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ก็มักใช้จุดขาย เช่น การลดน้ำหนัก และการส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ
โอกาสของธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากสมุนไพรในตลาดโลกยังเปิดกว้างอีกมาก จากการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย การส่งเสริมสุขภาพโดยเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา และความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อสมุนไพรที่มากขึ้นตามลำดับ จากองค์ความรู้ที่สั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลายาวนาน การพัฒนาสมุนไพรโดยอิงกับภูมิปัญญาพื้นบ้านผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยส่งเสริมธุรกิจสมุนไพรไทยให้แข่งขันกับตลาดโลกได้

ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=2268&sub_id=11&ref_main_id=3

อัพเดทล่าสุด