อาการติดอ่าง (Stuttering) เป็นหนึ่งในความผิดปกติของการจังหวะการพูด ที่ทำให้ผู้พูดตะกุกตะกัก ติด ๆ ขัด ๆ และพูดซ้ำคำเดิม
ส่วนใหญ่จะเป็นกับคำต้นของประโยค โดยโรคนี้มักพบได้ตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนวัยเรียนที่อยู่ในวัยกำลังหัดพูด ในอัตราร้อยละ 1 ส่วนในวัยรุ่นพบได้ร้อยละ 0.8 และพบอาการติดอ่างในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1
ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 60 ของเด็กที่พูดติดอ่างอาจพูดติด ๆ ขัด ๆ อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจะหายไปได้เองก่อนอายุ 16 ปี แต่ในบางคนอาจเป็นต่อเนื่องไปจนโตเลยก็มี ซึ่งจะรักษาให้หายได้ยาก แต่หากเป็นแล้วจะเกิดความเครียดเป็นอย่างมาก หากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพูด เช่น รับโทรศัพท์ การพูดต่อหน้าสาธารณะ ดังนั้น หากพบว่า เด็กมีปัญหาอาการติดอ่าง ควรรับการรักษาตั้งแต่ต้น เพื่อให้อาการหายขาด
อาการติดอ่าง มีลักษณะอย่างไร
ผู้ที่มีอาการติดอ่างจะพูดติด ๆ ขัด ๆ โดยมากเป็นในคำแรก หรือเป็นเฉพาะบางคำ ผู้ติดอ่างจะออกเสียงซ้ำ ๆ ลากเสียงยาว ๆ พูดขาดเป็นช่วง ๆ บางประโยคมี "เอ้อ ๆ อ้า ๆ" แทรกเข้ามา อย่างไรก็ตาม อาการติดอ่างมักเกิดเฉพาะตอนพูด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตึงเครียด จะยิ่งพูดติดอ่างมากขึ้น แต่หากให้อ่านออกเสียง ร้องเพลง พูดคุยกับสัตว์เลี้ยงก็อาจจะไม่มีอาการติดอ่างให้เห็น ในบางคนอาจมีหน้าตาบิดเบี้ยวขณะพูดติดอ่างด้วย
สาเหตุของการพูดติดอ่าง
สาเหตุที่แท้จริงของอาการติดอ่างยังไม่แน่ชัด เพราะอาการติดอ่างไม่ได้เกิดจากความผิดปกติในสมอง หรือร่างกาย แต่เป็นอาการที่จัดอยู่ในจำพวกไม่มีสาเหตุ ส่วนหนึ่งเชื่อว่า อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ขณะเดียวกัน การเรียนรู้วิธีการพูดอย่างผิด ๆ ตั้งแต่เด็กก็มีส่วนที่ทำให้พูดติดอ่างได้เช่นกัน
อย่างเช่น หากอวัยวะที่ใช้สำหรับพูดในตัวเด็กยังทำงานไม่ประสานกัน แล้วเด็กถูกผู้ใหญ่เร่งรัดให้พูดคำต่าง ๆ มากเกินไป จะทำให้เด็กพูดไม่ชัด พูดซ้ำ ๆ หรือนึกคำศัพท์ไม่ออก ยิ่งหากผู้ใหญ่ตำหนิ จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความเครียด ไม่มั่นใจ อาย หลีกเลี่ยงที่จะพูด ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กติดอ่างมากขึ้น
การรักษาอาการติดอ่าง
อาการติดอ่างไม่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้น การแก้ไขอาการติดอ่างจะต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน คือ พฤติกรรมบำบัด จิตบำบัด และการผ่อนคลายความเครียด ซึ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ พูดติดอ่างควรทำดังนี้
- ไม่ควรจ้องจับผิดเด็ก หากเด็กพูดไม่คล่อง ควรรับฟังอย่างผ่อนคลาย อ่อนโยน เพื่อทำให้เด็กมั่นใจ สบายใจที่จะพูด
- ไม่ควรเร่งให้เด็กพูดเร็ว ๆ เช่น เมื่อถามอะไร ควรปล่อยให้เด็กค่อย ๆ คิดรวบรวมคำพูด ก่อนจะพูดออกมา อย่าแสดงท่าทีรำคาญ หงุดหงิดที่เด็กพูดช้า คิดช้า เพราะจะทำให้เด็กไม่กล้าพูด
- ไม่ควรสอนให้เด็กพูดมาก เพราะเป็นการยัดเยียดให้เด็กโดยไม่ได้ตั้งใจ ควรให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากกิจวัตรประจำวัน การเล่นในบ้าน-นอกบ้าน
- เด็กส่วนใหญ่ในวัย 2-4 ปี มักจะพูดไม่คล่อง เพราะอยู่ในช่วงหัดพูด พ่อแม่จึงไม่ควรเปรียบเทียบการพูดของลูก กับเด็กคนอื่นที่โตกว่าซึ่งพูดชัดแล้ว เพราะจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ
- ควรพูดกับลูกอย่างช้า ๆ ชัด ๆ สั้น ๆ ให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง จะได้จดจำ
- ไม่ต้องกังวล หรือเป็นห่วงมากเกินไปหากลูกพูดติดอ่าง เพราะอาการพูดติดอ่าง พูดไม่คล่องของเด็กจะหายไปได้เอง เมื่อเด็กโตขึ้นจนมีพัฒนาการด้านภาษาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การแพทย์แผนตะวันตกมองว่า อาการติดอ่างเป็นความผิดปกติทางประสาทอย่างหนึ่ง ที่ต้องได้รับการรักษาทางจิตวิทยาจึงจะหาย เพราะเกิดจากความไม่มั่นใจ ความกลัวที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก
ดังนั้น ในเด็กบางคนอาจจะไม่หายขาดจากอาการติดอ่าง และมีอาการต่อเนื่องมาจนโตแล้ว ซึ่งหากใครมีอาการติดอ่างมาจนโต ก็ควรเข้ารับการรักษาทางจิตวิทยา ที่จะช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เพื่อลบล้างความกลัวที่ฝังใจออก และควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ฝึกผ่อนคลายอารมณ์ไม่ให้เครียด โดยอาจจะหาสถานที่สงบ ๆ กลางแจ้ง เช่นในสวน หรือสถานที่ที่ไม่มีใครเข้ามารบกวนได้ แล้วนอนพักลงกับพื้น สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ บอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่า ตัวเองสบายดี ไม่มีอะไรผิดปกติ จะได้ช่วยขจัดความกังวล ทำให้สมองปลอดโปร่ง จิตใจแจ่มใสขึ้น
- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทั้งสองสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท
- พยายามออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้ง เช่น เดินเล่น วิ่ง ทำสวน ฯลฯ
ในคนที่พูดติดอ่าง เพราะอวัยวะที่ใช้ในการพูดทำงานประสานกันไม่ดี เช่น ลิ้นพันกัน ขากรรไกรสั่น ต้องแก้ไขปัญหาที่จุดนี้ด้วย โดยวิธีฝึกกล้ามเนื้อของขากรรไกรล่างที่ดีที่สุด คือ เอานิ้วชี้ใส่เข้าไปในคอแล้วขยับขากรรไกรล่างลงช้า ๆ อย่าเกร็ง ให้ฝึกอย่างนี้จนกระทั่งไม่ต้องอ้าปากในขณะที่ลมเริ่มจะผ่านกล่องเสียงออกมา
แล้วอย่าลืมบริหารลิ้น ด้วยการอ้าปากส่องกระจกดูตัวเองให้เห็นภายในลำคอ อ้าปากขึ้นช้า ๆ ดุนลิ้นให้แนบติดกับส่วนล่างสุดของปาก อย่าเกร็งลิ้น เพราะจะทำให้ติดอ่าง จากนั้นเปล่งเสียงออกมาช้า ๆ ให้ลิ้นเคลื่อนไหวช้า ๆ
เมื่อฝึกบริหารขากรรไกรล่าง และลิ้นได้ประมาณ 2 สัปดาห์ถึงหนึ่งเดือนแล้ว ให้ลองยืนหน้ากระจก แล้วอ่านหนังสือออกเสียงดัง ๆ โดยสูดหายใจเข้าลึก ๆ ก่อนอ่าน อย่าท้อใจหากอ่านไม่คล่อง หรือหน้าตาบิดเบี้ยวขณะอ่าน เน้นให้พูดช้า ๆ ชัด ๆ ไม่ต้องรีบร้อน หรือจะหัดร้องเพลงหน้ากระจก จะทำให้พูดได้ง่ายขึ้น และหากฝึกบริหารสม่ำเสมอแล้ว อาจจะลองอ่านหนังสือให้ใครสักคนฟัง เพื่อให้เขาช่วยแก้ไขคำที่ออกเสียงผิดให้
รับรองว่า หากหมั่นฝึกฝนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วยความตั้งใจ และไม่ท้อถอย อาการติดอ่างจะค่อย ๆ หายไปในที่สุดค่ะ
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1668&sub_id=13&ref_main_id=3
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1668&sub_id=13&ref_main_id=3