การผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดรักษาก็ต่อเมื่อไม่สามารถรักษาด้วยวิธีธรรมดาให้หายได้แล้ว เนื่องจากการทำผ่าตัด นอกจากจะต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากกว่าแล้ว ยังต้องมีการเตรียมคนไข้ และต้องอาศัยทีมงานแพทย์พยาบาลที่พรั่งพร้อม
การผ่าตัดอาจแบ่งคร่าวๆ เป็น
- การผ่าตัดฉุกเฉิน หรือกึ่งฉุกเฉิน
- การผ่าตัดชนิดรอได้หรือกำหนดวันได้
การผ่าตัดกรณีฉุกเฉินหรือกึ่งฉุกเฉิน
การผ่าตัดกรณีฉุกเฉินหรือกึ่งฉุกเฉิน หมายถึง การผ่าตัดที่คนไข้จะรอนานไม่ได้ การรอต่อไปอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อคนไข้ ก่อนจะนำคนไข้ไปผ่าตัด แพทย์จะต้องตรวจเช็คร่างกายของคนไข้และเตรียมความพร้อมในส่วนต่างๆ เช่นอาจต้องจองเลือดให้เพียงพอ ตัวคนไข้ต้องไม่มีโรคอันตราย ซึ่งหากนำคนไข้ไปผ่าตัดแล้ว จะทำให้คนไข้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ในบางรายคนไข้อยู่ในสภาวะช็อค ถ้าเอาคนไข้ไปดมยาเพื่อผ่าตัด อันตรายอาจเกิดกับคนไข้ได้ คนไข้เหล่านี้จะต้องได้รับน้ำเกลือหรือเลือดเพิ่มเสียก่อน จึงจะนำคนไข้ไปผ่าตัดซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่า ยกเว้นกรณีที่ฉุกเฉินมากๆ เช่น ถูกแทง ถูกยิงหรืออวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมีการเสียเลือดมากๆ จนช็อค คนไข้เหล่านี้แพทย์ส่วนใหญ่จะนำคนไข้ไปเข้าห้องผ่าตัดทันที
การผ่าตัดชนิดที่รอได้หรือกำหนดวันได้
สำหรับการผ่าตัดชนิดที่รอได้หรือกำหนดวันได้ หมายถึงการผ่าตัดในโรคหรือสภาวะที่หากรอต่อไป จะไม่เกิดผลเสียต่อคนไข้ เช่นการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงออก การผ่าตัดซิสต์ ในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย การผ่าตัดถุงน้ำดีซึ่งขณะมาพบแพทย์มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการเลย
บาดแผลผ่าตัด
- บาดแผลโดยมากเกิดจากการบาดเจ็บ อาจมองเห็นได้จากภายนอก เช่น มีดบาด หนามตำ สุนัขกัด ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฯลฯ หรือมองไม่เห็นจากภายนอก เช่น ม้ามแตก กระเพาะอาหารทะลุ กระดูกหัก หรือเลือดออกในสมอง เป็นต้น
- บาดแผลถ้าเป็นเล็กน้อย โดยมากจะหายไปเอง
- บาดแผลใหญ่โตที่มีการฉีกขาดของเนื้อ และเอ็น ถ้าปล่อยไว้อาจอักเสบกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือลุกลามไปมาก ในสมัยโบราณแผลแบบนี้ทำให้คนตายได้มาก ในปัจจุบันรักษาทางยา การอักเสบอาจหาย และแผลก็อาจหายได้แต่กินเวลานาน เมื่อหายแล้วมักทำให้บริเวณที่เป็นแผลเสียรูป
- ศัลยศาสตร์เข้ามาช่วยการรักษาได้ในกรณีนี้ คือ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ไม่เสียรูปทรง ลดการอักเสบ และทำให้อวัยวะใช้การได้ดี
- แผลสะอาด เช่น แผลมีดบาด แผลผ่าตัด แผลประเภทนี้จะมีโอกาสติดเชื้ออักเสบต่ำ .นขณะที่แผลสกปรก เช่น แผลถลอกจากอุบัติเหตุ โดนน้ำสกปรก เปื้อนดินโคลน แผลตะปูตำ แผลกระเบื้อง แก้ว หรือสังกะสีบาด แผลประเภทนี้จะมีโอกาสติดเชื้อสูง รวมถึงอาจเกิดโรคบาดทะยัก
การดูแลบาดแผลเบื้องต้น
- ถ้าแผลมีเลือดออกมากให้ใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาดกดบริเวณบาดแผลด้วยมือ หรือพันผ้าให้แน่น และรีบมาพบแพทย์เพื่อห้ามเลือด และทำความสะอาดบาดแผล
- ถ้าแผลสกปรกเปื้อนดินโคลน ให้รีบล้างเบื้องต้นด้วยน้ำสะอาด เพื่อลดจำนวนเชื้อโรคก่อนมาพบแพทย์ แพทย์จะทำความสะอาดบาดแผล เย็บปิดแผลหรือเปิดทำแผล ให้รับประทานยาปฏิชีวนะ และฉีดยาป้องกันบาดทะยัก
- สำหรับบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หลังจากทำความสะอาดแล้วควรทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิดีน หรือเบต้าดีน
การดูแลแผลในระยะต่อมา
- ควรยกแขนหรือขาที่มีแผลให้สูง เพื่อลดอาการบวมอักเสบ
- ระวังไม่ให้แผลสกปรก หรือโดนน้ำ
- มาทำแผลตามเวลา และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ
- สังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกมาก ปวดแผลมาก แผลอักเสบบวมแดง เป็นหนอง มีไข้ ให้รีบมาพบแพทย์
- การตัดไหม อาจเป็น 5 - 7 วันหลังเย็บแผล ขึ้นกับลักษณะบาดแผล สามารถตัดไหมที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้
- ในกรณีแผลอักเสบติดเชื้อ แพทย์จำเป็นต้องตัดไหมออก และทำแผลทุกวันจนกว่าจะดีขึ้น
การทำความสะอาดบาดแผล
- เมื่อมีบาดแผลต้องทำความสะอาด เอาเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน เช่น เศษดิน เศษไม้ ที่เข้าไปพร้อมกับการเกิดบาดแผลออก เนื้อที่ชอกช้ำมาก และไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บไว้ ต้องตัดทิ้งไป เพราะเก็บไว้จะตายเน่า pและเกิดเป็นพิษขึ้นมาได้
- ส่วนของกล้ามเนื้อ และเอ็นที่ฉีกขาด ควรจะเย็บซ่อมให้เข้ามาหากันให้เหมือนสภาพปกติให้มากที่สุด รวมทั้งผิวหนังที่ฉีกขาดก็ควรจะเย็บเข้ามาหากันให้อยู่ในสภาพเดิมในเวลาอันสมควร แผลก็จะหายเป็นปกติ อวัยวะก็จะทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม
บาดแผลภายใน
- บาดแผลภายใน มองเห็นได้ยากจากภายนอก ได้แก่ กรณีที่ถูกกระแทกโดยแรง ถ้าเกิดบริเวณท้องอาจมีลำไส้ฉีกขาดตับหรือม้ามแตก ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอาจมีเนื้อสมองช้ำ หรือฉีกขาด อาจมีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะดูจากภายนอกก็อาจไม่เห็นบาดแผลหรือร่องรอยของการบาดเจ็บภายในเลย ในกรณีที่ตับหรือม้ามแตกผู้ป่วยจะมีอาการเลือดตกใน มีเลือดออกในช่องท้องมาก ผู้บาดเจ็บอาจจะมีอาการ อาการช็อกหรือเป็นลม ในกรณีที่ลำไส้แตก อาหาร และน้ำย่อยรวมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้จะออกมาในช่องท้อง ผู้บาดเจ็บจะมีอาการปวดท้อง ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที ต่อมาอาจมีไข้สูง มีอาการคลื่นไส้ และอาจอาเจียน ลำไส้ไม่ทำงาน ซึ่งเป็นอาการของการอักเสบในช่องท้องทั่วๆ ไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิต
- ในกรณีเช่นนี้ ต้องผ่าเข้าไปในท้อง ห้ามเลือดโดยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น อาจจะจับจุดที่เลือดออก แล้วผูกด้วยด้ายหรือไหม อาจใช้ไฟฟ้าความถี่สูงจี้ให้เลือดจับลิ่ม หรืออาจใช้เข็มเย็บ ในกรณีที่เป็นมากอาจต้องตัดอวัยวะที่แตกทิ้ง ส่วนลำไส้ที่ทะลุ ถ้าเป็นเล็กน้อยอาจเย็บซ่อมเข้ามาหากันได้ ถ้าเป็นมากจนขาดรุ่งริ่ง อาจต้องตัดส่วนนั้นออกทิ้งไป และเย็บส่วนที่ดี ต่อเข้ามาหากัน สุดท้ายก็จะต้องล้างทำความสะอาดช่องท้อง ควรจะได้เอาเลือด และสิ่งปนเปื้อนออกให้หมด จัดเรียงลำไส้ และอวัยวะต่างๆ ไว้ตามธรรมชาติของมันแล้วเย็บปิดแผลหน้าท้อง
- สมัยก่อนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และมีเลือดตกภายในกะโหลกมักจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่นานนัก ทั้งนี้เพราะเลือดที่ออกจะเบียดเนื้อที่สมองในกะโหลก ทำให้สมองส่วนที่ถูกเบียดเสียหน้าที่ นอกจากนั้นยังทำให้เนื้อสมองช้ำ บวมบางส่วนถูกดันลงมาข้างล่าง และกดลงบนก้านสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ และตายไป การรักษาด้วยยาไม่สามารถจะห้ามเลือดที่กำลังออกอยู่ให้หยุดได้ และยังไม่สามารถจะเอาเลือดที่เบียดที่ในสมองอยู่ให้ออกมาได้อีกด้วย ความรู้ในทางศัลยศาสตร์ช่วยให้แพทย์สามารถเจาะเข้าไปในกะโหลกดูดล้างเอาเลือดที่ออกอยู่ภายในออกมาได้หมด นอกจากนั้น ยังอาจใช้ไฟฟ้าจี้ หรือเย็บผูกหลอดเลือดที่ฉีกขาดอันเป็นสาเหตุของเลือดออกให้หยุดได้อีกด้วย นับเป็นการแก้ไขพยาธิสภาพที่ตรงจุดอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะรอดตายได้
Keloid
- คีลอยด์ (แผลปูด)ภหมายถึง แผลเป็นที่ปูดโปน มีขนาดใหญ่กว่าแผลเป็นธรรมดา เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เฉพาะคนบางคน คนที่เคยเป็นคีลอยด์ เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น ก็มักจะกลายเป็นคีลอยด์ได้อีก
- สาเหตุเกิดจากการงอกผิดปกติของเนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่เป็นแผลภอาจเกิดกับบาดแผลได้ทุกชนิดเช่น บาดแผลผ่าตัด บาดแผลที่เกิดจากได้รับบาดเจ็บ บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ถูกแมงกะพรุนไฟ รอยฉีดวัคซีนบีซีจี รอยสิว เป็นต้น เมื่อแผลหายใหม่ๆ อาจมีลักษณะเป็นปกติธรรมดา แต่ต่อมาอีกหลายสัปดาห์จะค่อยๆ งอกโตขึ้น จนเป็นแผลปูด บางครั้งคีลอยด์อาจเกิดจากแผลเป็นธรรมดาที่มีอยู่เดิมมานานหลายปี หรือ เกิดในบริเวณที่ไม่มีรอยแผลเป็นมาก่อนก็ได้
- ลักษณะเป็นก้อนเนื้องอก แข็ง และหยุ่นๆ คล้ายยางภเป็นรูปไข่แผ่ออกคล้ายก้ามปู มีสีแดงหรือชมพู ผิวมัน อาจมีอาการคัน และกดเจ็บ ก้อนอาจคงที่ หรือค่อยๆ โตขึ้นก็ได้ มักไม่หายเอง มักพบเพียงหนึ่งก้อน แต่ก็อาจพบหลายก้อนได้ สามารถพบได้ทุกแห่งของร่างกาย แต่จะพบมากบริเวณหน้าอก หลัง ไหล่ แขน และขา
- ถ้าขึ้นในบริเวณที่มิดชิด หรือไม่มีลักษณะที่น่าเกลียดภก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างไร นอกจากถ้ามีอาการคัน ให้ทาด้วยครีมสเตอรอยด์ แต่ถ้าก้อนโตน่าเกลียด หรือทำให้ขาดความสวยงาม อาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาสเตอรอยด์ เข้าไปในแผลคีลอยด์ อาจช่วยให้แผลเป็นฝ่อเล็กลงได้บ้าง ในรายที่มีขนาดใหญ่ อาจต้องทำการผ่าตัดแล้วฉีดยานี้ เมื่อแผลเริ่มหายภายใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้อาจรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ฉายรังสี การผ่าตัดด้วยความเย็น
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=626&sub_id=13&ref_main_id=3