ยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง


1,115 ผู้ชม


การรักษาโรคปอดเรื้อรังที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การใช้ยาเพื่อขยายหลอดลม ซึ่งมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาพ่น อย่างไรก็ตามต้องคำนึงอยู่เสมอว่ายาขยายหลอดลมนั้นเป็นการช่วยรักษาบรรเทาอาการของโรคเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้โรคนั้นดีขึ้นหรือหายขาด         การรักษาโรคปอดเรื้อรังที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การใช้ยาเพื่อขยายหลอดลม ซึ่งมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาพ่น อย่างไรก็ตามต้องคำนึงอยู่เสมอว่ายาขยายหลอดลมนั้นเป็นการช่วยรักษาบรรเทาอาการของโรคเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้โรคนั้นดีขึ้นหรือหายขาด 

ยาขยายหลอดลมที่นิยมใช้ในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. ยาพวกกระตุ้นระบบประสาทซิมป์พะเตติกชนิดเบต้า
  2. ยาที่กลั้นการออกฤทธิ์ของพาราซิมป์พะเตติก
  3. กลุ่มยาอนุพันธ์ของแซนทีน

ยากระตุ้นประสาทซิมป์พะเตติก มีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์เร็วและมีฤทธิ์อยู่ในระยะเวลาสั้นๆ และมีชนิดที่ออกฤทธิ์ช้า แต่มีฤทธิ์อยู่ได้นาน เรามักใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์สั้นเป็นยาแก้อาการเมื่อมีอาการเหนื่อย ซึ่งเมื่อใช้โดยการพ่นยายาจะออกฤทธิ์ใน 5-15 นาที และอยู่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ส่วนยาชนิดที่ออกฤทธิ์ช้า แต่มีฤทธิ์อยู่นานเป็นยาที่ใช้ประจำพ่นตามเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหนื่อย ซึ่งอาจใช้พ่นวันละ 2-3 ครั้งได้

เวนโทลิน Albuterol (Proventil, Ventolin) : เป็นยาในกลุ่มกระตุ้นเบต้า ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นตัวรับชนิดเบต้า 2 ซึ่งอยู่ที่กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม โดยมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อหัวใจน้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ผลดีจากการใช้ยานี้ ยาพ่นกลุ่มนี้นิยมใช้เริ่มต้นเมื่อมีอาการเท่านั้น ถ้าไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้พ่นเป็นช่วงเวลา เช่น ทุก 3-4 ชั่วโมง ยาพ่นมีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใส่ไปในเครื่องพ่นยา ชนิดผงแห้ง และชนิดพ่นขนาดยาคงที่ ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ พ่น 2 บีบ ทุก 3-4 ชั่วโมง ชนิดละอองยา ผสม 0.2-0.3 ซีซี ละลายยาให้เป็น 2.5 ซีซี สูดดมวันละสามครั้ง ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกับยาพ่นชนิดไอปราโทรเปียม จะเสริมฤทธิ์ขยายหลอดลมให้มากขึ้น

ยาพวกธีโอไฟลีน (Theophylline) : เป็นยาขยายหลอดลมออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อของหลอดลมโดยตรง ทำให้หลอดลมขยายตัวมีทั้งยาเม็ดรับประทานและยาฉีด ยาพวกธีโอไฟลีนใช้รับประทานโดยให้วันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยต้องแน่ใจว่าตนเองได้ใช้ยาตามกำหนดที่แพทย์สั่ง การพ่นยาต้องพ่นโดยถูกวิธี เพราะปริมาณของยาที่พ่นเข้าไปนั้นไปถึงปอดได้เพียงแค่ 10% หรือน้อยกว่า ดังนั้นถ้าพ่นไม่ถูกวิธี โอกาสที่ยาจะลงไปถึงปอดยิ่งน้อยลงไปอีก

ยาต้านการทำงานของประสาทพาราซิมป์พะเตติก : ใช้เป็นยาป้องกันเพราะออกฤทธิ์ช้า จึงไม่ใช้เป็นยาแก้อาการ ใช้พ่นวันละ 4 ครั้ง ยากลุ่มนี้มียาที่ออกมาใหม่และน่าสนใจซึ่งใช้เพียงวันละครั้งก็พอ บางบริษัทได้ผลิตยาพ่นที่มีตัวยา 2 ชนิดนี้ร่วมกัน และจากการศึกษาทางการแพทย์พบว่าการใช้ยาที่มีตัวยาสองตัวร่วมกันดีกว่าการใช้ยาตัวหนึ่งตัวใดแต่อย่างเดียว

อะโทรเวนท์ (Atrovent) : ตัวยาคือไอปราโทรเปียม ลักษณะทางเคมีใกล้เคียงกับอะโทรปีน มีคุณสมบัติในการละลายและยับยั้งการหลั่งสารเมือกจากเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน นิยมใช้ร่วมกับยากระตุ้นเบต้า โดยพ่นยา 2-4 บีบ ทุก 4-6 ชั่วโมง ควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตและต้อหิน

สไปริวา (Spiriva) : ตัวยาชื่อไทโอโทรเปียม เป็นยาขยายหลอดลมชนิดใหม่ ตัวยาออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับไอปราโทรเปียม ยาสไปริวาเพิ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวยาไทโอโทรเปียมเป็นสารอนุพันธ์ของแอมโมเนีย ออกฤทธิ์ โดยกระบวนการยับยั้งตัวรับชนิด M3 ที่อยู่บนเยื่อบุทางเดินหายใจในชั้นกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้มีฤทธิ์ขยายหลอดลม วางจำหน่ายในรูปของยาพ่น ตัวยาบรรจุเป็นผงในแค็ปซูล ขนาดบรรจุ 18 ไมโครกรัม ขนาดที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ พ่นวันละครั้งโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์พ่นยาที่ออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกัน
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=209&sub_id=52&ref_main_id=3

อัพเดทล่าสุด