ต้องใจเย็นและมีความอดทน เพราะโดยธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินยา ควรพยายามหว่านล้อมและชักจูงเด็กมากกว่าที่จะบังคับ เพราะยิ่งจะทำให้เด็กกินยายากยิ่งขึ้น
คำนิยามของช่วงระดับอายุเด็ก
- เด็กแรกเกิด (New Born) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 4 สัปดาห์
- เด็กอ่อนหรือเด็กทารก (Infant) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 1 ขวบ
- เด็กเล็ก หมายถึง เด็ก 1 ขวบถึง 6 ขวบ
- เด็กโต หมายถึง เด็ก 6 ขวบถึง 12 ขวบสำหรับเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถให้ยาได้เหมือนผู้ใหญ่
ข้อพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก
- ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงเพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรง สามารถใช้วีธีดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่ไม่ใช้ยา ทำให้อาการทุเลาได้ เช่น การเช็ดตัวลดไข้ร่วมกับการดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น
- เลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง พยายามเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่ใช้แล้วปลอดภัย หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น
- ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา และสังเกตยาว่ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากแพทย์หรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็กซึ่งจะหมดอายุได้เร็วกว่ายาเม็ด หากเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของยาก็ควรหยุดใช้ยาทันที เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กที่กินยานั้นได้
- หากเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ควรเลือกใช้ยาเม็ดดีกว่ายาน้ำ เพราะพกพาสะดวก เก็บรักษาง่าย และหมดอายุช้ากว่าด้วย
ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก
ยาปฏิชีวนะ
นิยมทำเป็นรูปผงแห้ง ก่อนผสมน้ำควรเคาะขวดยาให้ผงยากระจายตัวก่อน จึงผสมน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วให้ได้ระดับที่กำหนดยาบางชนิดเมื่อผสมน้ำแล้วต้องเก็บในตู้เย็นและต้องกินยาติดต่อกันจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว ยกเว้นกรณีแพ้ยาให้หยุดยาทันทีและรีบไปพบแพทย์
ยาลดไข้
ที่นิยมให้เด็กทาน คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยให้เด็กกินยาทุก 4-6 ชั่วโมง จนไข้ลด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีไข้สูงมาก ควรรีบไปพบแพทย์ ห้ามเปลี่ยนไปใช้ ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) โดยตนเอง เพราะหากเด็กเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เกิดอันตรายได้และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันเกิน 7 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาที่ลดไข้แอสไพริน หรือ ไอบูโปรเฟน ควรให้กินยาหลังอาหารทันที เนื่องจากยานี้ระคายเคืองต่อกระอาหาร และหากมีไข้สูงนอกจากการใช้ยาลดไข้แล้ว ควรเสริมด้วยการเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตามข้อผับ ตามซอกต่างๆ และลำตัว เพราะจะช่วยระบายความร้อนและลดไข้ได้ดีขึ้น
เคล็ดลับการให้ยาเด็ก
- ต้องใจเย็นและมีความอดทน เพราะโดยธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินยา ควรพยายามหว่านล้อมและชักจูงเด็กมากกว่าที่จะบังคับ เพราะยิ่งจะทำให้เด็กกินยายากยิ่งขึ้น
- ไม่ควรบีบจมูกแล้วกรอกยาใส่ปากเด็ก และไม่ควรป้อนยาให้เด็กขณะที่เด็กกำลังร้องหรือดิ้น เพราะนอกจากจะทำให้เด็กสำลักแล้ว ยังส่งผลทางด้านจิตใจต่อเด็กด้วย
- หากยามีรสชาติไม่ดีหรือมีกลิ่นที่ไม่น่ารับประทาน ควรผสมน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติที่ดี ทำให้เด็กกินยาได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรใส่ยาลงไปในขวดนมเพื่อให้เด็กรับประทานยาจากการดูดนม เพราะถ้าเด็กดูดนมไม่หมดจะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นยาบางชนิดอาจทำให้รสชาติของนมเสียไป อาจส่งผลให้เด็กไม่อยากกินนมอีกด้วย
- ไม่ควรให้ยาพร้อมกับอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปฎิเสธอาหารเหล่านั้นในภายหลัง
- ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าว หรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้องควรใช้ช้อนตวงยาที่มักให้มาในกล่องยาน้ำ หรือ สามารถขอจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยาได้ ขนาดมาตรฐานในการตวงยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ 1 ช้อนชาเท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 15 มิลลิลิตร