แอสไพรินเป็นยาในกลุ่ม Salicylates ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดไข้ แก้ปวด มีหลายรูปแบบทั้งชนิดรับประทาน ชนิดเม็ด แค็ปซูล และชนิดน้ำ และยังมีรูปแบบยาที่ใช้เฉพาะที่ เช่น เป็นยาทา
กลไกการเกิดพิษ
ภาวะเป็นพิษที่เกิดจากแอสไพริน เกิดขึ้นโดยกระบวนการ uncoupling ของ oxidative phosphorylation ผลที่ตามมาคือ เกิดภาวะทำลายกระบวนการภายในเซลล์อย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากการยับยั้งปฏิกิริยาในร่างกายที่ใช้ ATP ทำให้เซลล์ต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ปริมาณของกลัยโคเจนในตับลดลง และเพิ่มปฏิกิริยาสลายไขมัน
อุบัติการณ์
ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยได้รับพิษจากแอสไพริน ปีละประมาณ 10,000 - 15,000 ราย ร้อยละ 40 เป็นเด็กเล็ก รายการการเสียชีวิตปีละ 30 - 50 ราย
ความเข้มข้นที่ก่อให้เกิดอันตราย
- น้อยกว่า 150 mg/kg - เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย
- 150-300 mg/kg - เกิดผลข้างเคียงปานกลาง
- 301-500 mg/kg - เกิดผลข้างเคียงรุนแรง
- มากกว่า 500 mg/kg - อาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการพิษที่สำคัญ
- ระบบหายใจ - หอบ เกิดภาวะปอดบวมน้ำ และภาวะหายใจล้มเหลว ทำให้หยุดหายใจได้
- พิษต่อหู - เกิดอาการเสียงหึ่งๆในหู ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อความเข้มข้นของยาในเลือดเกิน 30 mg/dL
- ระบบหัวใจ - หัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจพบ U waves, flattened T waves, QT prolongation
- ระบบประสาท - ชัก สับสน และหมดสติ
นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะสมดุลกรด-เบสผิดปกติ
แนวทางการรักษา
- ปฏิบัติการกู้ชีวิตเมื่อมีข้อบ่งชี้
- ให้การรักษาภาวะฉุกเฉินอย่างเต็มที่ พิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจ ให้สายน้ำและอิเลคโตรลัยต์ทางหลอดเลือด
- ลดการดูดซึม โดยกระตุ้นให้อาเจียน ล้างท้อง ให้ยาถ่ายและยาระบาย
- การใช้ยา ipecac syrup ได้ผลดีเฉพาะใน 30 นาทีแรกเท่านั้น
- ไม่จำเป็นต้องเร่งขับถ่ายปัสสาวะ แต่ต้องทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง นิยมใช้ single IV bolus ของ NaHCO3 ความเข้มข้น 1-2 mEq/kg
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ
- การขับ salicylic acid ออกทางปัสสาวะขึ้นกับ hydrogen ion gradients ซึ่งร่างกายต้องมีโปแตสเซียมในเลือดที่พอเพียง ระวังอย่างให้เกิดภาวะโปแตสเซี่ยมในเลือดต่ำอย่างเด็ดขาด
- ต้องตรวจเช็คระดับกลูโคสในเลือดตลอดเวลา อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้อาการทางระบบประสาทเลวลงอย่างรวดเร็ว ระลึกไว้เสมอว่าระดับน้ำตาลในเซลล์อาจต่ำกว่าระดับน้ำตาลในเลือด
- หากจำเป็นหรือในรายที่รุนแรง ควรพิจารณาฟอกเลือดทันที Hemodialysis ถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากที่สุด