Proton-pump Inhibitors (PPIs)


1,005 ผู้ชม


จากชีวิตประจำวันที่ต้องเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลา คนไทยจึงเลือกที่จะงดรับประทานอาหารบางมื้อ หรือ รับประทานนอกเวลาปกติ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีภาวะแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบที่ค่อนข้างสูง         จากชีวิตประจำวันที่ต้องเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลา คนไทยจึงเลือกที่จะงดรับประทานอาหารบางมื้อ หรือ รับประทานนอกเวลาปกติ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีภาวะแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบที่ค่อนข้างสูง 

หรือที่คนทั่วไปมักจะมีอาการที่เรียกว่า หิวก้อปวด อิ่มก้อปวด แสบยอดอก หรือ เรอเหม็นเปรี้ยว เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและคนส่วนใหญ่มักคิดว่า เล็กน้อยจึงมักจะซื้อยาลดกรดมารับประทานเอง หากอาการกำเริบและเรื้อรังมากกว่านั้นถึงขั้นต้องไปพบแพทย์ แพทย์มักจะสั่งจ่ายยากลุ่ม Proton-pump Inhibitors ร่วมกับการใช้ยาลดกรดด้วย ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการรักษา จึงควรมาทำความรู้จักกับยากลุ่มนี้ ซึ่งยากลุ่มนี้จะมีทั้งในรูปแบบรับประทานและรูปแบบฉีด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะในรูปแบบรับประทานเท่านั้น

กลไกการออกฤทธิ์ยากลุ่ม Proton-pump Inhibitors

ยากลุ่มนี้จะต้านการหลั่งกรดโดยยับยั้งเอนไซม์ H+/ K+ ATPase ที่เซลล์ผนังกระเพาะอาหาร จึงเสมือนเป็นตัวยับยั้งการปั๊มกรดเข้าสู่กระเพาะอาหาร

ข้อบ่งใช้

เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ที่ต้านการหลั่งกรด ยากลุ่มนี้จึงมีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดอาหารอักเสบชนิดปานกลางถึงรุนแรง (Moderate to severe reflux esophagitis) แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcers) แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcers) ภาวะที่ร่างกายมีการหลั่งกรดสูง (Hypersecretion) โรค Zollinger-Ellison-Syndrome นอกจากนี้ยากลุ่มนี้จะใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมอีก 2 ชนิด เพื่อกำจัดเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นสาเหตุของการกลับเป็นซ้ำของแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงบรรเทาอาการการไหลย้อนกลับของกรด เช่น แสบยอดอก หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease) และป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากลุ่ม NSAIDs เป็นระยะเวลานาน

ยากลุ่ม Proton-pump Inhibitors ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่

  1. Omeprazole ยาตัวนี้ในท้องตลาดมีชื่อการค้าหลายชื่อ ได้แก่ Miracid, Losec MUPS, O-sid เป็นต้น ขนาดยาที่มีจำหน่ายคือ 20 mg โดยมีข้อบ่งใช้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ขนาดยาที่รับประทานจะขึ้นกับโรคและความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่วันละ 10 mg จนถึง 80 mg เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-8 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง
  2. Esomeprazole มีชื่อการค้าคือ Nexium MUPS ขนาดยาที่มีจำหน่ายคือ 20mg และ 40 mg ยานี้ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีการทดลอง ขนาดยาที่รับประทานขึ้นกับโรคและความรุนแรงของอาการเช่นกัน ขนาดยาที่แนะนำคือวันละ 20-40 mg เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-8 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง เม็ดยา Nexium ทำอยู่ในรูปแบบ Multiple Unit Pellet System (MUPS) ซึ่งจะทำให้สามารถนำเม็ดยามาละลายในน้ำก่อนรับประทานได้ ทำให้สามารถใช้กับผู้ที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ ซึ่งจะให้โดยนำไปละลายน้ำจำนวนเล็กน้อยแล้วจึงค่อยรับประทาน แต่ยาในรูปแบบนี้ห้ามบดเม็ดยาเพราะจะทำให้รูปแบบยาและการออกฤทธิ์เสียไป
  3. Lansoprazole มีชื่อการค้าคือ Prevacid FDT ขนาดยาที่มีจำหน่ายคือ 15 mg และ 30 mg ยาตัวนี้มีข้อบ่งใช้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยมีขนาดในการรับประทานยาดังนี้
    • เด็กอายุ 1-11 ปี น้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัม รับประทานวันละ 15 mg
    • น้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม รับประทานวันละ 30 mg
    • เด็ก 12-17 ปี รับประทานวันละ 15-30 mg เป็นเวลาติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์
    • ผู้ใหญ่มีขนาดรับประทานตั้งแต่ 15-30 mg เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-12 สัปดาห์
    • ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษาอาจปรับได้ตามโรค และความรุนแรงของอาการ ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

    เม็ดยา Prevacid ทำอยู่ในรูปแบบ Fast Disintegrating Tablet (FDT) เม็ดยาจะมีลักษณะอ่อน กร่อนได้ง่าย บนเม็ดยาจะมีจุดสีส้มถึงน้ำตาลเข้มเล็กๆกระจายอยู่เต็ม ยารูปแบบนี้สามารถวางบนลิ้นอมให้เม็ดยาแตกตัวในปากแล้วจึงค่อยกลืนได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเม็ดยามาใส่ในน้ำจำนวนเล็กน้อยให้เม็ดยาแตกตัว แล้วจึงนำมารับประทานได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนเม็ดยาได้ ยามีการแต่งกลิ่นและรสให้สามารถอมให้แตกตัวในปากได้ อย่างไรก็ตามยารูปแบบนี้ห้ามนำไปบด หรือเคี้ยวเม็ดยาในขณะที่อมเม็ดยาอยู่ เพราะจะทำให้ยาสูญเสียการออกฤทธิ์ได้ นอกจากนี้ยายังไวต่อความชื้นและมีความเปราะบาง เมื่อแกะเม็ดยาออกจากแผงแล้วควรใช้ยาทันที

  4. Pantoprazole มีชื่อการค้าคือ Controloc ขนาดยาที่มีจำหน่ายคือ 20 mg และ 40 mg ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีการทดลอง ขนาดยาที่รับประทานขึ้นกับโรค และความรุนแรงของอาการ ขนาดยาที่แนะนำคือวันละ 20-80 mg ติดต่อกัน 2-8 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง เม็ดยา Controloc ทำอยู่ในรูปแบบเม็ดเคลือบด้วยสารที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร (Gastro-resistant Tablet) เม็ดยาจะแตกตัวในลำไส้ ดังนั้นจึงห้ามบดหรือตัดเม็ดยาเนื่องจากจะทำให้สารที่เคลือบเม็ดยาเสียคุณสมบัติและยาสูญเสียการออกฤทธิ์ได้
  5. Rabeprazole มีชื่อการค้าคือ Pariet ขนาดยาที่มีจำหน่ายคือ 10 mg และ 20 mg ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีการทดลอง และมีขนาดรับประทาน วันละ 10-20 mg เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-8 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง เม็ดยา Pariet ทำอยู่ในรูปแบบเม็ดเคลือบด้วยสารที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร (Gastro-resistant Tablet) เช่นกัน ดังนั้นจึงมีข้อควรทราบเช่นเดียวกับยา Controloc ที่ได้กล่าวมาแล้ว

ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานยากลุ่ม Proton-pump Inhibitors

ยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors ทุกตัวจะไม่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร (ถูกกรดในกระเพาะอาหารทำลายตัวยา) ดังนั้นรูปแบบเม็ดยาจึงมีการเตรียมด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ได้เม็ดยาที่มีการปกป้องตัวยาจากกรดในกระเพาะอาหาร โดยตัวยาแต่ละชนิดจะมีเทคนิคต่างๆ ในการเตรียมเม็ดยาให้มีคุณสมบัติที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหารและปลดปล่อยตัวยาออกมาเมื่ออยู่ในลำไส้เล็ก ด้วยเหตุนี้เม็ดยาของยาในกลุ่มนี้จึงห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา เพราะจะทำให้สารที่เคลือบตัวยาป้องกันกรดในกระเพาะถูกทำลาย และตัวยาจะสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารก่อนจะถึงลำไส้เล็ก เป็นผลให้ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยาลดลง ดังนั้นการรับประทานจึงควรรับประทานโดยการกลืนทั้งเม็ด ห้ามหัก แบ่ง เคี้ยว บด หรือทำแตก ยกเว้นรูปแบบยาบางชนิดคือ Fast Disintegrating Tablet (FDT) และ Multiple Unit Pellet System (MUPS) ซึ่งสามารถนำมาอมในปากให้แตกตัว (FDT), หรือนำมาผสมในน้ำจำนวนเล็กน้อยให้แตกตัว (FDT และ MUPS) เม็ดยารูปแบบนี้สามารถตัดแบ่งได้ แต่ห้ามบด หรือเคี้ยวเม็ดยา นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจากอาหารมีผลลดการดูดซึมยา

ข้อห้ามใช้

ไม่ควรใช้ยากลุ่ม Proton-pump Inhibitors กับผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยากลุ่มนี้ ถ้าหากมีประวัติแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ จะมีโอกาสที่จะแพ้ยาตัวอื่นๆในกลุ่มนี้เช่นกัน เนื่องจากมีลักษณะโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกัน (Substituted benzimidazoles)

ข้อควรระวังในการใช้ยา

ยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors ส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีการทดลองใช้ในผู้ป่วยเด็ก ยกเว้นยา Omeprazole ซึ่งสามารถใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปได้ และยา Lansoprazole ซึ่งสามารถใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปได้ อย่างไรก็ตามการพิจารณาใช้ยาสำหรับผู้ป่วยเด็กในบางครั้งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อาการไม่พึงประสงค์

อาการไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors ที่พบบ่อย มักเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ยังมีอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่พบได้บ้าง เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ง่วงนอน ผื่นแพ้ยา เป็นต้น ซึ่งถ้าหากพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่สามารถทนได้ หรือพบว่าเกิดผื่นที่ผิวหนังที่สงสัยว่าแพ้ยา ให้หยุดยาและมาปรึกษาแพทย์ทันที

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors มีปฏิกิริยาระหว่างยาที่มีความสำคัญดังนี้

  1. ยากลุ่มนี้สามารถลดการดูดซึมยา Ketoconazole, Itraconazole, Atazanavir ได้ เนื่องจากยาทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลง
  2. ยากลุ่มนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับโดยอาศัยระบบเอนไซม์ Cytochrome P450 subtype 2C19 (CYP2C19) เป็นหลัก ดังนั้นถ้าหากมีการใช้ยาที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว อาจส่งผลต่อระดับของยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors ในร่างกายได้ ดังนั้นอาจต้องมีการปรับขนาดยากลุ่มนี้ในระหว่างที่ได้รับร่วมกับยาที่มีผลต่อเอนไซม์ CYP2C19 ยาที่มีผลต่อเอนไซม์ดังกล่าวจะมีทั้งยาที่เพิ่มฤทธิ์ของเอนไซม์ (ทำให้มียา PPIs ในร่างกายลดลง) เช่น Carbamazepine, Phenytoin, Phenobarbital, Rifampicin เป็นต้น และยาที่มีผลลดฤทธิ์ของเอนไซม์ (ทำให้มียา PPIs ในร่างกายเพิ่มขึ้น) เช่น Fluconazole, Fluvoxamine, Gemfibrozil, Isoniazid, Ticlopidine เป็นต้น
  3. กรณีที่คนไข้ได้รับยาต้านแข็งตัวของเลือดกลุ่ม Coumarin anticoagulants เช่น Warfarin ร่วมกับ ยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors ควรมีการติดตามค่า Prothrombin time และ ค่า INR เป็นระยะ ทั้งก่อนเริ่มการรักษา ระหว่างการรักษา และเมื่อสิ้นสุดการรักษาด้วยยาในกลุ่ม Proton-pump Inhibitors

การเก็บรักษา

ควรเก็บรักษาในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ในภาชนะปิดสนิทและป้องกันแสง ไม่ควรนำเม็ดยาออกจากแผงยาถ้ายังไม่ใช้
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=201&sub_id=52&ref_main_id=3

อัพเดทล่าสุด