สมาธิ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาสมองของลูก


989 ผู้ชม


การปลูกฝังสมาธิในเด็ก เป็นการปูพื้นความสามารถในการเรียนรู้ให้เด็ก ผมมีบทความดีๆจาก ศูนย์จินตคณิตhttps://www.imaxbrain.com พัทยา ที่นำมาจากการสัมนาเรื่อง สมาธิ คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี มาฝากครับ

บทความจาก นสพ.คมชัดลึก

ใครจะเชื่อว่า "สมาธิ" สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก แล้วพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กก็มีจุดเริ่มต้นจากการเสริมสร้างสมาธิให้แก่ลูกน้อยตั้งแต่เยาว์วัย จึงเปรียบเสมือนการวาง "รากฐานแห่งชีวิต" ให้กับเด็ก

"มี้ด จอห์นสัน" ผู้ผลิตภัณฑ์นมผงเอนฟาโกร เปิดตัวแคมเปญล่าสุดกับ "แคมเปญสมาธิ" จัดเสวนาในแนวคิด "สมาธิ คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี" กระตุ้นคุณพ่อคุณแม่รู้จักเรียนรู้ เข้าใจ และส่งเสริมสมาธิลูกผ่านการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมที่ถนัด

วิทยากรภายในงาน น.พ.อุดม เพชรสังหาร ผอ.ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้างเสริมพัฒนาการของเด็ก กล่าวว่า "สมาธิมีความสัมพันธ์กับสมอง เพราะสมองสั่งการระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งการรับรู้และเรียนรู้การพัฒนาสมองให้ใช้เต็มประสิทธิภาพ โดยคลื่นสมองที่สงบจะช่วยในการเรียนรู้ที่ดี โดยเฉพาะการเรียนรู้ของเด็ก โดยปกติแล้ว สิ่งที่ผ่านเข้ามาในสมองของคนเรา 100 ส่วน จะมีสิ่งที่ทำให้เราสนใจขณะนั้นได้แค่ 1 ส่วน ส่วนอีก 99 ส่วนจะถูกทิ้งไป เมื่อเด็กมีความสุขและใจจดจ่อกับการทำกิจกรรมแล้ว จะเกิดการกระตุ้น วงจรแห่งความปีติ (Reward Circuit) ให้ทำงานมากขึ้น เมื่อเด็กทำสิ่งใดได้ ควรต้องให้กำลังใจ ชื่นชม และเขาจะรู้สึกดี แล้วเริ่มทำกิจกรรมนั้นๆ ซ้ำอีก สมองมนุษย์จะฉลาดหรือไม่อยู่ที่การเชื่อมต่อของเซลล์สมอง ซึ่งการเชื่อมต่อกันจะเกิดได้ดีในสองปีแรกของชีวิต ฉะนั้นหากขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีผลต่อระดับสติปัญญา สมาธิและการเรียนรู้ของเด็ก"

นอกจากนี้ น.พ.อุดม เสริมถึง ดนตรีต่อการพัฒนาสมองและสมาธิว่า "ดนตรีหรือเพลงจังหวะช้า มีผลต่อการทำงานของก้านสมองทำให้จิตใจมีความสงบเยือกเย็น และความใจจดใจจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกิดคลื่นสมองที่เรียกว่า คลื่นอัลฟา (Alpha Wave) ซึ่งภาวะสมองที่เกิดคลื่นอัลฟา คือภาวะที่มีสมาธิและเหมาะในการเรียนรู้"

วิทยากรอีกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ดร.วรนาท รักสกุลไทย แนะเคล็ดลับเรื่องสมาธิของเด็กว่า "สมาธิในเด็กไม่ใช่ Meditation (เข้าฌาน) แต่หมายถึง Better Attention หรือความสนใจความจดจ่อและความมุ่งมั่น ซึ่งเด็กจะมีสมาธิอย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องอายุด้วย เช่น เด็กอายุ 3 ขวบ จะมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ 5 นาที ส่วนเด็ก 3 ขวบขึ้นไปจะมีสมาธิได้ประมาณ 12-15 นาที การเรียนรู้ของเด็กควรผ่านจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะกับเด็กเป็นของคู่กัน เด็กเล็กจะชอบระบายสีน้ำมากเพราะไม่ต้องออกแรงกดและใช้งานได้ง่าย หรือเด็กโตขึ้นมาหน่อยจะสอนให้มีการพับกระดาษ เด็กญี่ปุ่นจะมีทักษะการใช้มือที่ดีมาก เพราะกิจกรรมการพับกระดาษเป็นที่นิยมกันมากในญี่ปุ่น ดังนั้น เราสามารถจัดและออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับเด็กซึ่งก็ควรเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กคิด แล้วเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายก็มีความสนใจต่างกันเพราะมีประสบการณ์เรียนรู้ที่ต่างกัน หน้าที่ของพ่อแม่คือโยนประเด็นคำถามแล้วให้เด็กตอบ ทำกิจกรรมเล่นกับลูก และจดบันทึกไว้"

ดร.วรนาท กล่าวเสริมว่า "ทั้งนี้พฤติกรรมเด็กจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคุณแม่ด้วย เด็กบางคนอาจไม่ได้มีสมาธิสั้น แต่คุณแม่เป็นคนเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรม และไม่นิ่ง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าสมาธิสั้นเทียม เพราะมาจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูเด็กจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการปลูกฝังให้กับเด็กด้วย ถ้าอยากให้ลูกมีสมาธิต้องพูดกับลูกช้าๆ ค่อยๆ พูด และให้คำชมกับเขาบ้าง เพื่อจุดประกายให้ลูกมีความสนใจและอยากรู้อยากเห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ การเล่นกับลูก และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก"

ปิดท้ายการเสวนา น.พ.อุดม สรุปว่า "ปัจจุบันลูกหลานของเราเริ่มมีปัญหา เรื่องสมาธิมากขึ้น เด็กๆ อ่านหนังสือนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่ไม่ได้ จิตแพทย์เด็กประสบปัญหาหนัก เด็กวิเคราะห์และตีความแปลความไม่ได้ ปัญหาคือผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นแบบอย่างให้เห็น เราต้องเป็นแบบอย่างในการอดทน อดกลั้น มีความมานะพยายามให้เด็กเห็น บางอย่างต้องพาเด็กทำโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วยเพื่อให้เด็กได้ซึมซับเอาความมีสมาธิ มานะอดทนเข้าไปและเมื่อเด็กทำได้เราก็ต้องให้คำชมเชย เพื่อให้พฤติกรรมนั้นๆ มีความคงทนถาวรจนเป็นนิสัยของเขาต่อไป"
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article608.html

อัพเดทล่าสุด