โรคฉี่หนู leptospirosis


1,347 ผู้ชม


เรามารีวิวโรคฉี่หนูกันอีกครั้ง หลังจากเคยนำเสนอข้อมูลโรคฉี่หนูไปแล้วเมื่อนานมาแล้วที่ลิงค์นี้ https://www.thaihealth.net/h/article638.html ครับ โรคฉี่หนู หรือ Leptospirosis ไม่ใช่โรคใหม่เลย ตรงกันข้ามเป็นมานานและมีการระบาดประปราย ช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วม ตลอดทั้งปีในไทยครับ โดยเฉพาะชาวไร่นา ที่มีอาการไข้มา ทุกครั้งหมอจะต้องถูกอาจารย์หมอสอนให้คอยถามว่า คนไข้เดินลุยน้ำมาหรือเปล่า … อันนี้สำคัญมากเพราะเชื้อมาตามน้ำ แต่ในปีสองปีที่ผ่านมา พบเชื้อเข้ามาในโรงเรือนและบนบกมากขึ้นครับ key Leptospirosis , Weil’s disease โรคฉี่หนูทำไมต้องฉี่หนู

โรคนี้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Leptospira Interrogans ซึ่งพบในสัตว์พวกกัดแทะ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนู เชื้ออยู่มากในไต และออกมาทางฉี่ นี่คือที่มาครับ เชื้อนี้จัดอยู่ในกลุ่ม สไปโรขีต spirochete หมายถึงขดๆเป็นม้วน ขนาดประมาณ 0.1 ไมครอน แต่มองเห็นยากมากด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา แม้การมองด้วย darkfield ที่ใช้ดูเชื้อสไปโรขีตอื่นๆเช่นอหิวาต์ ก็ยังเจอยากเพราะเส้นขดกันแน่นมาก

ที่มาที่ไปและการแพร่กระจาย

เชื้อแพร่ระบาดในสัตว์กัดแทะ เช่นหนู หนูนา หนูบ้าน วัว ควาย สุนัข และเมื่อสัตว์นั้นปัสสาวะออกมา และลงไปในแหล่งน้ำ คนไปสัมผัส ก็จะติดเชื้อมา ดังนั้น การระบาดของโรค จะเกิดในช่วงน้ำขัง น้ำนิ่งๆ เช่นปลายฝนต้นหนาว ตุลาคม ถึง พฤศจิกายน แต่เชื้ออาจจะปะปนอยู่ในดินได้

คนติดโรคโดยการสัมผัส จากเนื้อเยื่อที่มีแผล เช่นเดินลุยน้ำ หรือสัมผัสโดยเนื้อเยื่ออ่อนเช่น กระเด็นใส่ตา หรือในเยื่อบุกระพุ้งแก้ม

อาการและอาการแสดงของโรคฉี่หนู

ปกติจะแสดงอาการหลังสัมผัสเชื้อ ประมาณ 10 วัน ก็ประมาณ 1-3 อาทิตย์

1.ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด เมื่อเชื้อเข้าร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้คือ
· ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะทันที มักจะปวด บริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง
· ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะบริเวณ ขา เอว เวลากด หรือจับจะปวดมาก
·ไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื้ออื่นๆ
อาการต่างๆอาจอยู่ได้ 4-7 วัน นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง
การตรวจร่างกายในระยะนี้ที่สำคัญจะตรวจพบ ผู้ป่วยตาแดง มีน้ำตาหรือขี้ตาไหล คอแดง มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง ที่เจอบ่อยคือมีผื่นตามตัว กระจายทั่วๆไป

บางครั้งมีเลือดออกตามตัว ตับและไตอักเสบ


2.ระยะร่างกายสร้างภูมิ ระยะนี้ถ้าเจาะเลือดจะพบภูมิต่อเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นใหม่ ปวดศีรษะ คอแข็งมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง

ด้วยเหตุที่การวินิจฉัยจากห้องทดลองอาจยากและนาน ทำให้การให้ประวัติที่ถูกต้องจะช่วยในการวินิจฉัยได้เยอะ ถ้ามีประวัติในทุ่งนา หรือลุยน้ำมาด้วยเท้าเปล่า จะช่วยได้มากครับ

อาการแทรกซ้อนสำคัญที่เป็นอันตรายถึงตายได้ ได้แก่

  • ปอดอักเสบ
  • เลือดออกตามที่ต่างๆ เช่นปอด
  • ตับอักเสบ
  • ไตอักเสบและไตวาย
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบ
  • ติดเชื้อในกระแสเลือดอื่นๆแทรกซ้อน

การวินิจฉัย

อาการ อาการแสดงจากที่กล่าวมาร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจเลือด การเพาะเชื้อ การดูเชื้อจากกล้องจุลทรรศน์ และการตรวจหาแอนติบอดี้ของเชื้อ โดยปกติแอนติบอดีจะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ขั้นสูงสุดได้ในสัปดาห์ที่ 3 ถึง 4 และคงอยู่เป็นเวลานาน ควรตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ การตรวจหาแอนติบอดีมีหลายวิธีเช่น Microscopic agglutination test (MAT) เป็นวิธีมาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ สำหรับตรวจหาแอนติบอดี ที่จำเพาะต่อเชื้อเลปโตสไปรา และสามารถบอก serovar ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาแอนติบอดีอีกหลายชนิดที่ใช้เป็น screening test เช่น Latex agglutination, Hemaggutination test (IHA), Immunofluorescent assay (IFA) และ Enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA)

การควบคุมและการป้องกัน

ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับเราคือการควบคุมและป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำงานสัมผัสสัตว์ดังกล่าว ชาวไร่ ชาวนา คนหาปลาจับปลาหรือต้องลุยน้ำเป็นประจำก็คือ

  • กำจัดบริเวณที่น้ำท่วมขัง
  • ควบคุมและกำจัดสัตว์พวกหนู
  • เลี่ยงการลุยน้ำกรณีที่มีบาดแผล หรือใช้เครื่องป้องกันเช่น ถุงเท้าแบบกันน้ำที่กันได้สูงๆจริงๆ ถุงมือ ผ้าปิดปากจมูก
  • เมื่อสงสัยควรพบแพทย์ เล่าอาการและแจ้งสาธารณสุขเพื่อเข้าพื้นที่
ที่มา https://infectious.thaihealth.net/โรคฉี่หนู-leptospirosis-อีกครั้ง/

อัพเดทล่าสุด