เส้นเลือดขอด(Varicose Vein) สาเหตุและการรักษา


1,148 ผู้ชม


  • เส้นเลือดขอด หมายถึง ภาวะหรืออาการของผนังเส้นเลือดดำเสียความยืดหยุ่น ทำให้เกิดการยืดขยายของเส้นเลือดอย่างไม่เป�
��นระเบียบ เกิดการพองขยายตัวเป็นแนวคดเคี้ยว มักจะพบในชั้น ผิวหนังชั้นผิว ( Superficial areas) ในบริเวณขา โดยเฉพาะที่น่องและต้นขา ส่วนบริเวณอื่นๆ พบได้น้อย
  • สาเหตุของการเกิดเส้นเลือดขอด 
    1. พันธุกรรม : กรณีที่มีประวัติครอบครัว ญาติพี่น้องเป็นเส้นเลือดขอด จะทำให้มีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนปกติ 
    2. เพศ : พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในผู้หญิงมีครรภ์ เพราะร่างกายมีการหลั่งสารฮอรโมน Progesterone ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก(เพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ ) ซึ่งฮอรโมนดังกล่าวทำให้ผนังเส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น 
    3. อาชีพ: พบได้บ่อยในอาชีพที่ต้องยืนนานๆ เช่น พนักงานขาย พยาบาล ครู หรืออาชีพที่ต้องนั่งห้อยขานานๆ 
    4. ผู้ที่มีประวัติขาบวมบ่อยๆ: จะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนปกติ เพราะระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบน้ำเหลืองผิดปกติ
  • ลักษณะและอาการที่เกิดจากเส้นเลือดขอด : 
    - เส้นเลือดขอด ตรวจและวินิจฉัยได้ไม่มาก ก็จะพบลักษณะเส้นเลือดในบริเวณขา เห็นชัดขึ้น ผนังมักจะมีคล้ำ และคดเคี้ยวไปมา คนที่มีปัญหาเส้นเลือดขอด ควรจะมาพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษา อาจจะทำให้ขาดความสวยงามของสรีระร่างกาย หรืออาจจะมีปัญหาและภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น อาการปวด มีแผลเรื้อรังที่ขารักษาไม่หาย อาจจะมีเลือดออกในบริเวณเส้นเลือดขอด หรือ อาจจะเกิดการอักเสบของเส้นเลือดขอด
  • แนวทางการรักษา 
    1. ไม่ต้องผ่าตัด ( Conservative Treament) : ได้แก่การป้องกัน เฝ้าระวังอาการมิให้เป็นมากขึ้น มักจะใช้ในกรณีที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดไม่มากนัก เส้นผ่าศูนต์กลางไม่เกิน 1 มม. โดยการใส่ถุงน่องสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ และควรใส่ตลอดเวลา ทั้งเวลาทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ยกเว้นขณะที่นอนไม่ต้องใส่ แต่ให้ยกปลายเท้าให้สูงประมาณ 30 องศา เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้สะดวกขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งห้องเท้านานๆ และหมั่นสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น แผลเรื้อรัง การอักเสบของเส้นเลือดขอด ขาบวม ปวดขา เป็นต้น 
    2. การฉีดสารทำให้เส้นเลือดขอดยุบตัวลง(Sclerotherapy) : มักจะใช้ในกรณีที่มีปัญหาเส้นเลือดขอด ที่มีเส้นผ่าศูนต์กลางไม่เกิน 1-3 มม. โดยทำการฉีดสารที่มีคุณสมบัติในการทำลายผนังเส้นเลือด เช่น Aethoxysclerol,3% Nacl วิธีนี้สามารถทำได้ทั้งที่คลินิก และรพ. เพราะไม่ต้องนอนพักฟื้นรักษาตัว แต่หลังฉีดยาควรจะพันด้วย ผ้า Elastic Bandage ไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อทำให้เส้นเลือดยุบตัวได้ดีขึ้น แต่การรักษาแบบนี้ก็ไม่หายขาด อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ นอกจากนี้อาจจะมีผลข้างเคียงตามมาได้เช่น ผิวหนังบริเวณที่ฉีดมีรอยดำคล้ำตามแนวที่ฉีดยา ผิวหนังอาจจะมีเนื้อตาย( Skin Necrosis) มีอาการปวดบริเวณที่ฉีด หรือเกิดการแพ้ยาได้ 
    3. การผ่าตัด: มักจะใช้ในกรณีที่มีปัญหาเส้นเลือดขอด ที่มีเส้นผ่าศูนต์กลางประมาณ 4-6 มม.โดยศัลยแพทย์ระบบหลอดเลือด จะทำการตัดเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา ออกไป ถ้าขนาดไม่ใหญ่มากนักและขอบเขตไม่มากนัก อาจจะฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนทำแล้วผ่าตัดได้เลย ไม่จำเป็นต้องนอนรพ. สามารถทำที่คลินิกหรือรพ.ได้ แต่ถ้าในรายที่เส้นเลือดขอดอยู่ในระบบเส้นเลือดดำใหญ่เป็นระบบ เช่น บริเวณ Greater Sapheneous Vein (ในช่วงขาพับ ขาหนีบ ) อาจจะต้องนอนรพ.เพื่อผ่าตัดเอาออกทั้งเส้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด ในรพ.ของรัฐจะประมาณ 6,000-9,000 บาท การรักษาด้วยวิธีนี้มักจะหายขาด ยกเว้นกรณีที่มีเส้นเลือดขอดบางแขนงยังหลงเหลืออยู่ หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรใส่ถุงน่องสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ และควรใส่ตลอดเวลา (ยกเว้นเวลานอน) เป็นเวลาติตต่อกันไม่น้อยกว่า 4-6 สัปดาห์ ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดพบได้น้อย โดยอาจจะมีจ้ำเลือดใต้ผิวหนังได้ในบริเวณที่ผ่าตัด แต่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ 
    4. การทำเลเซอร์ IPL หรือใช้คลื่นความถี่( Radio-Frequency) จัดเป็นเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ที่นำมาใช้รักษาเส้นเลือดขอด วิธีนี้ถือว่าได้ผลดีกับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดไม่โตมากนัก มักจะใช้ในกรณีที่มีปัญหาเส้นเลือดขอด ที่มีเส้นผ่าศูนต์กลางไม่เกิน 5 มม. และไม่ซับซ้อนเป็นร่างแห หรือสัมพันธ์กับเส้นเลือดดำใหญ่ หลังทำมักจะไม่หายขาดในทันที อาจจะต้องใช้เวลาในการที่ผนังเส้นเลือดจะสลายตัว อาจจะต้องทำหลายครั้งจนกว่าจะหายขาด ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ อาจจะมีรอยดำคล้ำหรือสีผิวผิดปกติ (Discoloration) ที่บริเวณที่ทำได้ หลังทำไม่ต้องนอน รพ. แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประมาณ 15,000-20,000 บาท(รพ.ของรัฐ) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=9&&col_id=141 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดยนพ.จรัสพล รินทระ........................................3 April,2007 
    เอกสารอ้างอิง ...............วารสารคลินิก.ตอบปัญหาโดย ...พญ.ปิยนุช พูตระกูล..อาจาร์ย หน่วยศัลยศาสตร์เส้นเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=9&sdata=&col_id=313

อัพเดทล่าสุด