Stem Cell Therapy


753 ผู้ชม


  • ปัจจุบันนี้ วิวัฒนาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้มีการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก เรียกได้ว่าทุกๆ 5 ปี ความ
รู้ที่เรามีอยู่จะได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น อยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนบางครั้งความรู้ที่เราเคยรู้หรือเคยเรียนมาก่อน อาจจะมีข้อพิสูจน์หรือเปลี่ยนแปลง ไปเป็นอีกแนวหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม หรือบางองค์ความรู้ใหม่ๆ อาจจะเกิดขึ้น จนถึงขั้นเปลี่ยนเป็นทฤษฏีไปเลยก็มี ความรู้โดยเฉพาะด้านการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของมนุษย์ จัดเป็นขบวนการเรียนรู้ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการจะเอาชนะธรรมชาติ หรือต้องการจะแก้ไขความบกพร่องหรือความผิดปกติ หรืออาการเจ็บป่วยของโรคต่างๆ ทางการแพทย์
  • การรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ (Stem cell therapy) ก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีการพัฒนากันอย่างมาก ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ หลังจากที่ ทีมของ ดร. เจมส์ ทอมสัน (James Thomson) ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่เมดิสัน (University of Wisconsin, Madison) สามารถคัดแยกสเต็มเซลล์ออกมาได้ ในปี พ.ศ.2541 และตีพิมพ์ ผลงานของพวกเขาปรากฏอยู่ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 และ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีการตีพิมพ์การค้นพบที่คล้ายคลึงกันโดยทีมของจอห์น เกียร์ฮาร์ท (John Gearhart) แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์จอห์นส์ ฮอปส์กิน (Johns Hopkins University School of Medicine) ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ 
    ในปีต่อมา ก็มีรายงานเรื่องสเต็มเซลล์ออกมาอีกหลายเรื่องอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เป็นเรื่องเกรียวกราวในวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ปี พ.ศ. 2542 นี้เองที่วารสาร Science จัดให้งานวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์เป็น Breakthrough of the Year หรือ งานวิจัยที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าแบบ “ก้าวกระโดด” เลยทีเดียว
  • หลายท่าน คงเคยได้ยินเรื่องของ สเต็มเซลล์ (Stem cell) กันมาบ้างแล้ว ตามสื่อโฆษณาต่างๆ และก็คงงงๆ กันเหมือนเช่นผู้เขียนว่า ปัจจุบันนี้ วิวัฒนาการทางการแพทย์ สามารถพัฒนากันไปได้ถึงเพียงนี้แล้วหรือ และได้ผลจริงหรือ เพราะราคาของการรักษาด้วยวิธีนี้ สูงมากทีเดียว และก็มีข้อคัดค้านและสนับสนุนกันมากมายหลายรายงานวิจัย ได้มีการสอบถามกันมามากมาย จึงทำให้ผู้เขียนพยายามจะหาข้อมูล ความรู้ ให้มากขึ้น เพื่อจะได้ตอบข้อสงสัยให้ตนเองและกับคนรอบข้างได้ เท่าที่พอจะค้นหาและศึกษาได้ จะนำมาเสนอบทความนี้ให้ฟังกันคร่าวๆ นะครับ
  • สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือที่เรียกว่าเซลล์ต้นกำเนิด เป็นเซลล์อ่อนที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของมนุษย์จะทำหน้าที่จำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ย้อนกลับมา ซึ่งเซลล์ที่พัฒนาไปจนสุดทางจนเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ หรือเซลล์สมอง เซลล์เหล่านี้เมื่อตายไปแล้ว จะไม่มีเซลล์ใหม่มาทดแทน ในขณะเดียวกันร่างกายของคนเราก็ยังมีเซลล์อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเติบโตได้อีก โดยสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดพวกนี้สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้ 
    สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด มีคุณสมบัติเด่นที่เป็นปัจจัยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสนใจเซลล์ชนิดนี้กันมาก เนื่องจากเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้ และสเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่มีความสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดทุกชนิดจะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญ 3 ประการ 
    - สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เป็นเวลานาน 
    - สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง 
    - สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดมีความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้
  • แหล่งกำเนิดของสเต็มเซลล์ “สเต็มเซลล์” แบ่งเป็น 2 ประเภทตามแหล่งกำเนิด คือ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic stem cell) และสเต็มเซลล์ร่างกาย (adult stem cell) 
    (1) เซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic stem cell) 
    เมื่อมนุษย์เริ่มถือกำเนิดในครรภ์มารดา …สเปิร์มเข้าปฏิสนธิกับไข่ พัฒนาไปเป็นตัวอ่อน (Embryo) และเจริญเป็นมุนษย์ที่สมบูรณ์ได้นั้น ล้วนเริ่มต้นจากเซลล์ที่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนจากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด และแบ่งต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้กลุ่มเซลล์ในระยะที่เราถือว่าเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนระยะ 5-7 วัน ที่มีกลุ่มเซลล์ประมาณ 150 เซลล์ เราเรียกว่าระยะบลาสโตซิสต์(Blastocyst) ภายในเซลล์บลาสโตซิสต์นี้ มีกลุ่มเซลล์เรียกว่า มวลเซลล์ชั้นใน (Inner cell mass) ...มวลเซลล์นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นสเต็มเซลล์
  • ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกสเต็มเซลล์ที่ได้จากครรภ์มารดาว่า “สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic stem cell, ES cell) สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมีศักยภาพพัฒนาไปเป็นเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้เกือบทุกชนิด [ยกเว้นรก (Placenta)] ไม่ว่าเซลล์ผิวหนัง เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ในระบบเลือด เซลล์ประสาท เซลล์สมอง ฯลฯ โดยครอบคลุมเซลล์เนื้อเยื่อ 3 ประเภทได้แก่ 
    1) Endoderm เช่น ตับ ไต ต่อมไธรอยด์ 
    2) Mesoderm เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เลือด 
    และ 3) Extoderm เช่น ผิวหนัง ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร 
    เราเรียกการพัฒนาของสเต็มเซลล์เช่นนี้ว่า Pluripotent stem cell 
    ทว่าการนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมาใช้ในการศึกษาวิจัย ก่อให้เกิด “ประเด็นร้อน” เพราะทำให้หลายฝ่าย ทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักการเมือง นักการศาสนา และบุคคลทั่วไป ถกเถียงกันในแง่ของศีลธรรมและจริยธรรม ฝ่ายค้านบอกว่า การนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมาใช้ทดลองนั้น ถือเป็นการฆ่าตัดตอนตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นมนุษย์, ตัวอ่อนระยะ 5-7 วัน ที่นำสเต็มเซลล์มาใช้ประโยชน์ ถือว่ามีชีวิต ส่วนฝ่ายสนับสนุนแย้งว่า ตามคลินิกผู้มีบุตรยากหลายแห่ง มีตัวอ่อนเหลือใช้จำนวนมากแช่แข็งอยู่ ตัวอ่อนที่จะใช้ศึกษาสเตมเซลล์ไม่มีแม้กระทั่งเซลล์ประสาทที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือความรู้สึกใดๆ หากนำมาใช้เพื่อการวิจัยทางการแพทย์จะมีประโยชน์มหาศาล ปัจจุบัน ประเด็นด้านศีลธรรมและจริยธรรม ยังเป็นประเด็นร้อนที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหาข้อสรุปได้ 
    (2) สเต็มเซลล์ร่างกาย (Adult stem cell หรือ Somatic stem cell หรือ Mature stem cell) 
    แหล่งของสเต็มเซลล์อีกแหล่งหนึ่งได้มาจาก 
    1) เนื้อเยื่อและอวัยวะหลายชนิดที่พัฒนาจนสมบูรณ์ในร่างกาย (Mature body tissue) 
    2) เลือดจากรกและสายสะดือ (Placenta & Umbilical cord) ของทารกแรกเกิด และ 
    3) ไขกระดูก (Bone Marrow) ของทั้งเด็กและผู้ใหญ่
  • สเต็มเซลล์ร่างกายมีศักยภาพเปลี่ยนไปเป็นเซลล์อื่นได้จำกัดเพียงไม่กี่ชนิด สเต็มเซลล์ร่างกายในระบบหรือเนื้อเยื่อหนึ่งมีความจำเพาะในการพัฒนาเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อนั้นๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่น สเต็มเซลล์ในระบบเลือดเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่นำพาออกซิเจน เม็ดเลือดขาวที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรค และเกล็ดเลือดที่แข็งตัวผสานปิดรอยแผล มักไม่เปลี่ยนไปเป็นเซลล์ประสาทในสมอง สเต็มเซลล์ในตับก็จะสร้างเซลล์ตับ เป็นต้น เราเรียกการพัฒนาสเต็มเซลล์ร่างกายเช่นนี้ว่า Multipotent stem cell
  • สรุปกันก็คือว่า Stem Cell สร้างความน่าอัศจรรย์ใจและแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวงการแพทย์ ด้วยคุณสมบัติดังนี้ 
    1.สามารถแบ่งตัวของตัวเองได้ตลอด 
    2.สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ เช่นเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเป็นเซลล์อื่นๆได้
    3.ยังเป็นตัวของตัวเอง คือมีค้างของตัวเองเสมอ ยังคงมีความเป็น Stem Cell อยู่นั่นเอง ด้วยคุณสมบัติสามประการที่กล่าวมา เมื่อ Stem Cell เข้าสู่ร่างกาย ก็จะวิ่งเข้าส่วนที่ร่างกายต้องการ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่าHomingเพราะเมื่อร่างกายมีบาดแผลจะมีการหลั่งสารบางอย่างออกมา ซึ่งสารตัวนี้เป็นตัวดึงดูดให้วิ่งเข้าไปสร้างหรือซ่อมแซม
  • ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย Stem Cell เองก็มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยเช่นกัน 
    1.ระยะเวลาการรักษาต้องใช้เวลาพอประมาณ เช่นถ้าคนไข้ถึงจุดวิกฤตเต็มที แต่ต้องปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งร่างกายต้องใช้ระยะเวลาสักพัก ก็อาจไม่ทันการณ์ 
    2.ช่วงที่ทำการรักษาโรคอย่างหนึ่งอยู่ ต้องพยายามรักษาร่างกายไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน ไม่เช่นนั้น Stem Cellก็จะวิ่งไปรักษาที่อื่นด้วยเช่นกัน 
    3. Stem Cell มีหลายแหล่ง แต่ละแหล่งก็มีชนิดของ Stem Cellที่แตกต่างกันออกไป การนำไปใช้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของ Stem Cellที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ 
    4.ถ้าเป็นการขอรับบริจาคจากบุคคลอื่นที่มิใช่ญาติ มีโอกาสที่ร่างกายจะรับแค่1ต่อ50,000ถ้าเป็นพ่อ แม่ ลูก มีโอกาส1ต่อ2 ถ้าเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน มีโอกาส1 ต่อ 4 
    5.ผู้ที่นำมารักษาต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ
  • สำหรับประเทศไทย ความคืบหน้าล่าสุดนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และม.มหิดล จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิดขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ โดยโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลา 3 ปี ดำเนินการในปี 2549-2551 ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท
    งานวิจัยระยะแรก จะมุ่งเน้นการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตา สำหรับรักษาผู้ป่วยกลุ่มที่มีการทำลายเซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตา และเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการประยุกต์ไปสู่การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดชนิดอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ ในการรักษาโรคต่างๆได้มากกว่า 70 ชนิด รวมทั้งพัฒนาการจัดตั้งธนาคารเลือดสายสะดือทารกแรกเกิดในประเทศไทย ที่สามารถนำเลือดสายสะดือทารกมาใช้ได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ 
    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการเชื่อมต่อระหว่างนักวิจัยและผู้ป่วย ผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการและโรงพยาบาล โดยการนำเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งคุณภาพชีวิตและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพราะการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดตลอดเวลา 30 ปี ได้ถึง 10 เท่า
  • ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการวิจัย สเต็มเซลล์ ในส่วนเซลล์เต็มวัย (Adult stem cell) อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะส่วนที่ได้จากไขกระดูกและสายสะดือเด็กหลังคลอด ซึ่งสามารถนำมารักษาโรคต่างๆ อาทิ มะเร็งเม็ดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ปัจจุบันได้มีการรักษาไปแล้วประมาณ 1,000 ราย แต่การนำ สเต็มเซลล์มารักษา ค่อนข้างมีข้อจำกัดในส่วนของหมู่เลือดเม็ดโลหิตขาว และเนื้อเยื่อจะต้องตรงกับผู้ป่วย ในส่วนที่ผู้ป่วยไม่สามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดของตนเองมารักษาได้ ดังนั้น สภากาชาดไทยจึงได้จัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อขอรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป หรือต้องสละชีวิตเพื่อชีวิต และในปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่ง สามารถให้บริการเก็บ สเต็มเซลล์ ให้กับผู้คลอดได้ ซึ่งก็คือเพื่อทารกเกิดใหม่ในอนาคตนั่นเอง โดยการเก็บเลือดจากสายสะดือประมาณ 120 ซีซีทางฝั่งมารดา วิธีนี้มีข้อจำกัดที่ต้องผ่าตัดคลอดเท่านั้น ส่วนธนาคารที่เก็บ สเต็มเซลล์ คงใช้ของต่างประเทศในช่วงแรกเพราะได้รับการรับรองแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายตกอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นบาท อย่างไรก็ตามหากธนาคาร สเต็มเซลล์ ภายในประเทศพัฒนาขึ้น ได้รับการรับรอง ก็คงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ 
    แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ปัจจุบัน ในประเทศไทย ทางอย. ยังไม่มีการอนุญาตให้การฉีด Stem cell ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงมี บุคคลบางกลุ่มที่อาศัยคำว่าสเต็มเซลล์นี้ในการหากิน โดยมิได้มีความรู้และไม่ได้คิดถึงเงินทองที่ผู้ป่วยอาจต้องเสียไปซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก ดังนั้นขอแบ่งกลุ่มคนที่ใช้สเต็มเซลล์ออกเป็นกลุ่มๆดังนี้ 
    > 1. บุคคลที่นำไปใช้โดยไม่รู้จริง ไม่มีความรู้ หรือกลุ่มที่หลอกลวง ว่านี่คือสเต็มเซลล์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มบุคคลที่น่ากลัวที่สุด เพราะคนไข้ที่หลงไปรักษาไม่ว่าจะทั้งในและต่างประเทศ แต่ผลที่ได้รับกลับมาคือ ไม่เกิดผลในเชิงบวกเลย มีแต่เสียเงินเท่านั้น และอาจเกิดปัญหาจากการรักษาตามมาได้ และกลุ่มบุคคลนี้เองที่จะทำให้เทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ได้รับความเสียหายจากการเข้าใจผิดของผู้ที่ทำการรักษาแล้วไม่ได้ผล 
    > 2. บุคคลที่เน้นการทำทัวร์คนไข้ส่งไปรักษายังต่างประเทศ คนกลุ่มนี้มีทั้งที่มีความรู้ด้านสเต็มเซลล์และบางคนก็ไม่ได้มีความรู้จริง ในต่างประเทศที่มีการใช้เซลล์จากสัตว์ไปรักษาคน (Xenograft) บางที่ก็อาจเป็นการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของคนก็มี ข้อนี้ต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าหลายๆประเทศในยุโรปรวมถึงจีน รัสเซีย และยูเครน ประเทศเหล่านี้มีการใช้เซลล์มารักษาผู้ป่วยมานานแล้ว ผลการรักษาก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลประเทศนั้นๆ หมอในไทยหลายคนก็เห็นโอกาสในการส่งคนไข้จากไทยไปรักษายังประเทศนั้นๆ ซึ่งบางรายก็ได้ผลดี บางรายก็ไม่ได้ผล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันนั้นๆว่าได้รับการรับรองหรือไม่ เพราะมีทั้งของจริงและของปลอมเช่นกัน บางบริษัทก็ถูกหน่วยงานสืบสวนสอบสวนของประเทศตามจับอยู่ข้อหาหลอกลวงก็มี 
    > 3. บุคคลที่มีความรู้ด้านเซลล์บำบัด และ/หรือ สเต็มเซลล์บำบัดในประเทศไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ในไทยหลายท่านที่ได้ศึกษาเรื่องนี้จากทั้งในและต่างประเทศ บุคคลเหล่านี้มีความรู้จริง แต่ในเชิงธุรกิจการแพทย์นั้นก็คงแล้วแต่ว่าใครจะใช้โอกาสและความรู้นี้ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมและส่วนตัวมากน้อยเพียงไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ เครื่องมือที่ใช้ในการทำสเต็มเซลล์นั้นมีราคาที่แพงมหาศาลจริงๆ 
    > 4. บุคคลที่ทำการทดลองด้านสเต็มเซลล์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักวิจัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ที่มาทำการทดลองวิจัยด้านนี้ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็มีหลายกลุ่มหลายสถาบัน มีทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลการทดลองในเชิงบวก และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้รักษาได้จริงในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งนี้ก็คงต้องเก็บตัวเลขข้อมูลให้ได้มากเพียงพอเพื่อนำไปใช้จริง จากกลุ่มต่างๆที่ผมได้สรุปกว้างๆออกมานี้ปัญหาหลักใหญ่จริงๆน่าจะอยู่ในกลุ่มที่ 1 มากที่สุดเพราะนอกจากจะไม่ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆแล้วยังส่งผลเสียต่อการพัฒนาสเต็มเซลล์อีกด้วย รองลงมาคือปัญหาของกลุ่มที่ 2 อันนี้เป็นปัญหาที่พูดยาก เพราะยังมีบุคลลในประเทศไทยหลายกลุ่มที่ส่งคนไข้ไปรักษายังต่างประเทศ โดยบางครั้งอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทต่างประเทศเหล่านี้มีความรู้ในการใช้สเต็มเซลล์จริงหรือไม่ อันนี้ก็คงต้องให้ผู้ป่วยใช้วิจารณญาณให้รอบคอบก่อนไปรักษา สำหรับปัญหาของกลุ่ม 3 ก็คงเป็นพวกที่เน้นแต่ธุรกิจ รู้ทั้งรู้ว่าโรคบางโรคไม่สามารถรักษาได้ด้วยสเต็มเซลล์แต่ก็ยังอ้างทำนองว่ารักษาได้ทุกโรค ส่วนกลุ่มที่ 4 นั้น ผมเชื่อว่าเป็นบุคคลที่ต้องการเห็นการพัฒนาด้านสเต็มเซลล์เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นในแง่ของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงไม่น่ามีปัญหาใดๆ 
    เรียบเรียงและค้นคว้า โดย นพ.จรัสพล รินทระ...................28 November,2008 
    เอกสารอ้างอิง 
    1. Stem Cell Information : https://stemcells.nih.gov/info/basics/basics2.asp 
    2. Regenerative Medicine:https://stemcells.nih.gov/info/scireport/2006report.htm 
    3. Stem Cell Research Basics: Introduction:https://www.kumc.edu/stemcell/intro.html 
    4. Stem Cell Research Basics: Introduction:https://www.kumc.edu/stemcell/intro.html 
    “Stem Cell For Life ” การให้ สัมภาษณ์ของ น.สพ. ศุภเสกข์ ศรจิตติ ถึงที่มาของธนาคาร Stem Cell และบทบาทสำคัญในการรักษาโรค

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=2&sdata=&col_id=336

อัพเดทล่าสุด