กวาวเครือ สมุนไพรไทย สรรพคุณและโทษต่อร่างกาย


1,544 ผู้ชม


  • ปัจจุบันคนไทยได้เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยมีวิธีการจัดการกับปัญหาเจ็บป่วยด้วยการกลับคืนส
ู่ธรรมชาติมากขึ้น โดยเกิดกระแสความนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุดและผ่านขบวนการแปรรูปให้น้อยที่สุด ใช้สารเคมีให้น้อยลง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากสารธรรมชาติ (Natural extracts) ดังกล่าวจำต้องหันกลับไปศึกษาการใช้สมุนไพรร่วมด้วย
  • กวาวเครือ เป็นสมุนไพรที่เป็นที่รู้จักและมีการใช้กันมานานแล้วในฐานะของสมุนไพรอายุวัฒนะ ในตำรับยาโบราณที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ทำให้ ผิวพรรณมีน้ำมีนวลและผิวหนังเต่งตึง ซึ่งความสวยงามที่ได้เป็นผลพลอยได้เท่านั้น และได้เป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลองมาทำความรู้จักกับสมุนไพร'กวาวเครือ และพืชอื่นในสกุลใกล้เคียง'
  • กวาวเครือ เป็นพืชในวงศ์ Leguminosae-Papilionoideae tribe Phaseoleae โดยจัดอยู่ในวาไรตี้หนึ่งของ P.candollei Grah(เครือเขาปู้) เป็นพืชไม้เลื้อย ผลัดใบ ลำต้นเกลี้ยง ยาวประมาณ 5 เมตร หัวใต้ดินมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลมและคอดยาวเป็นตอนๆ ต่อเนื่องกัน เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบตามป่าเบญจพรรณซึ่งเป็นป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย กราวเครือกระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างสูง ทำให้ลักษณะใบแตกต่างกันหลายๆแบบ ในแต่ละพื้นที่ แบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ และกราวเครือมอ โดยเรียงลำดับ จากความแรงอ่อนสุดไปมากสุด
  • สำหรับการที่ยาสมุนไพรจากหัวกวาวเครือ มีคุณสมบัติทางยา อาจเนื่องจากว่า ได้มีการค้นพบว่ามีสารเคมีที่สามารถออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) หลายชนิด คือ Miroestrol,puerarin,mirificin,diadzin,Beta-sitosterol,coumestrol,genistein และสารเคมีอื่นๆ ที่ไม่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนดังนั้นในทัศนะของแพทย์พื้นบ้านทางเหนือ จึงเชื่อว่าถ้ารับประทานเข้าไปในขนาดและวิธีที่เหมาะสม จะมีประโยชน์โดยสรุปดังนี้ 
        1. เป็นยาอายุวัฒนะใช้ได้ทั้งเพศชายและหญิงในผู้สูงอายุ ทำให้เจริญอาหาร นอนหลับได้ดี 
        2. ทำให้ผิวหนังที่เหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล ลดรอยย่น ตีนกา 
        3. ช่วยเสริมให้หน้าอกโตได้ ทำให้คัดหน้าอก 
        4. ช่วยให้ประจำเดือนกลับมามีได้ใหม่ ในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน 
        5. ช่วยให้ช่องคลอดไม่แห้ง มีน้ำหล่อลื่น 
        6. เสริมพละกำลัง ไม่อ่อนเพลียง่าย 
        7. หูตาที่ฝ้าฟางกลับดีขึ้น ทำให้อ่านหนังสือได้ชัดขึ้น 
        8. ความจำดีขึ้น 
        9. ลดกำหนัดได้ 
        10. ช่วยให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และทำให้เพิ่มเส้นผมได้ 
    แต่จากการรวบรวมข้อมูลการรับประทานกวาวเครือ ของยุทธนา สมิตะสิริ(2541) พบว่าเมื่อหยุดใช้กวาวเครือ อาการต่างๆ จะกลับมาเหมือนเดิม
  • ตามรายงานของวารสารสยามสมาคม(Kerr,1932) และตำรายาหัวกวาวเครือ (ของหลวงอนุสารสุนทร,2474) ได้กล่าวเน้นให้ความสำคัญในการบริโภคคือ ต้องรู้จักต้นกวาวเครืออย่างดี เพราะถ้าไม่รู้จักดีพอ การเอาเถา ต้น หัว ใบ ของต้นไม้ชนิดอื่นที่คล้ายแล้วไปทำเป็นยาอายุวัฒนะแล้ว นอกจากจะไม่ได้ ประโยชน์แล้ว อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือการรับประทานหัวกวาวเครือเกินขนาดก็เกิดโทษได้ โดยพบว่าในกวาวเครือ สารพิษที่พบก็คือ Butanin แล้วยังพบว่าในกราวเครือ อาจมีส่วนผสมของโลหะปรอท 4.0 มก.ต่อกรัม ,Litium 94.0 มก.ต่อกรัม,Sodium 10.0 มก.ต่อกรัม,Calcium 29.0 มก.ต่อกรัม ดังนั้นในทัศนะของแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ จึงต้องนำสมุนไพรอื่นร่วมในการทำยา เรียก ' ตัวคุม'
  • พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ นายกสมาคมแพทย์แผนไทย ได้กล่าวสรุปว่า ไม่ควรรับประทานมากหรือต่อเนื่องนานเกินไป เพราะอาจมีอาการเต้านมโต เป็นก้อน ถึงก่อให้เกิดมะเร็งในผู้หญิงได้ หรือทำให้เยื่อหุ้มอัณฑะหนา ถึงก่อมะเร็งในผู้ชาย นอกจากนี้ยังได้สรุปปัญหาการบริโภคในระดับปัจเจกชนมีดังนี้ 
        1. บริโภคกวาวเครือผิดประเภท เช่น ใช้พืชหัวอื่นที่คล้ายกราวเครือ ทำให้มีพิษต่อร่างกายถึงชีวิต 
        2. บริโภคกวาวเครือผิดขนาด หลายระยะเวลา มากเกินไป หรือ นานเกินไป 
        3. บริโภคกวาวเครือผิดวิธี ซึ่งตำรายาระบุไว้หลายวิธี ซึ่งมีผลต่อความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ 
        4. บริโภคกวาวเครือผิดวัตถุประสงค์ เดิมมิได้รับประทานเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ แต่ต้องการผลข้างเคียงอย่างอื่น
  • ปัจจุบัน ได้มีนักวิจัยหลายๆ กลุ่ม พยายามที่จะพัฒนานำสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิงจากหัวกวาวเครือมาใช้ในแวดวง ความสวยงาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่สรุปและยอมรับในมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอย่างเพียงพอ ได้มีการประชุมเชิงสัมนาเรื่องกวาวเครือ กับผลงานการวิจัย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเพียงว่า ผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือมีความเป็นฮอร์โมนสูง จึงเหมาะเพียงสำหรับผู้หญิงวัยทอง เพราะจะไปช่วยเพิ่มความสมดุลย์ของฮอร์โมนเพศในร่างกาย แต่อย่างไร ก่อนหรือหลังใช้ ต้องพิจารณาผลการทดสอบความเป็นพิษก่อนเสมอ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่โดย นพ.จรัสพล รินทระ ...ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด...4 August,2005 
    เอกสารอ้างอิง; คู่มือการตรวจสอบ กวาวเครือ และทองเครือ ของฝ่ายพันธุ์พืช กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการการเกษตร 
    เอกสารอ้างอิง; เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ 2541 ปัญหาการใช้กวาวเครือในประเทศไทย,เอกสารประกอบการสัมมนา ของสถาบันแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=1&sdata=&col_id=170

อัพเดทล่าสุด