โรคเกลื้อน (Tinea vesicolor)


3,553 ผู้ชม


  • เกลื้อน( Piryriasis vesicolor or Tinea vesicolor) เป็นภาวะการติดเชื้อราที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง คือ Stratum corneum โดยที่ผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการและมักเ
ป็นเรื้อรัง โดยเชื้อราที่พบ คือ Malassezia furfur ( Pityrosporum ovale)
  • ปกติเชื้อราประเภทนี้ พบได้ทั่วไปตามรูขุมขนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก บริเวณ หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอ ใบหน้า บางครั้งอาจพบที่รักแร้ หรือ โคนขาได้
  • ปัจจัยที่ชักนำให้เกิดโรคเกลื้อน ซึ่งจะทำให้เชื้อรากลุ่มนี้เจริญเติบโตจากเชื้อยีสต์ เป็นสายหรือเป็นแท่งที่เรียกว่า hyphae ซึ่งทำให้เกิดโรคเกลื้อน ได้แก่ 
        1. ภาวะผิวมัน 
        2. ภาวะเหงื่อออกมาก 
        3. ใส่เสื้อผ้าอับชื้นหรืออับเหงื่อเป็นเวลานานๆ 
        4. ภาวะอากาศมีความชื้นสูง เช่น ในหน้าร้อน หรือหน้าฝน 
        5. การรับประทานยาหรือทายากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง 
        6. ภาวะทุพโภชนาการ ขาดอาหาร
  • โรคเกลื้อน พบได้บ่อยในวัยหนุ่มสาว ทั้งเพศชายและหญิง แต่ก็อาจพบในทารกจนถึงวัยสูงอายุได้ โดยอาการทางคลินิก จะมีลักษณะเป็นดวงเล็กๆ สีน้ำตาล สีขาว หรือ แดง มีขอบเขตชัดเจน ผิวมีขุยละเอียด ต่อมาอาจจะเป็นปื้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างเป็นวงกลมๆ หลายวง หรือรูปร่างไม่แน่นอน อาจคัน หรือไม่คันก็ได้ ( ดังแสดงในภาพ)
  • เกลื้อน มักไม่ค่อยพบที่ใบหน้า เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ล้างหน้าบ่อยๆ และซับให้แห้ง ถ้าพบรอยด่างที่ใบหน้า ให้นึกถึงอย่างอื่นก่อน เช่น โรครอยด่างจากแดด( P. alba) หรือ โรคด่างขาว( vitilligo) มากกว่าจะเป็นโรคเกลื้อน
  • ถ้าจะยืนยันการเป็นเกลื้อนจริงหรือไม่ ควรขูดเอาขุยบริเวณรอยโรค ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ด้วยน้ำยา KOH จะพบลักษณะยีสต์เซลล์ รูปร่างกลมหรือรี หรือสายใยเป็นท่อนๆ ( fragmented hyphae) ของเชื้อราชัดเจน
  • แนวทางการป้องกันและรักษา 
        1. หลีกเลี่ยงภาวะหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อนดังกล่าวข้างต้น 
        2. การใช้ครีมทาภายนอก ฆ่าเชื้อรา ได้แก่ 
         2.1 กลุ่ม Imidazole derivatives เช่น Tonaf,Canesten cream,Cotrimazole ทาบริเวณที่เป็น ครีมจะใช้ได้ผลดีกรณีที่เป็นไม่มาก แต่ราคาค่อนข้างแพง 
         2.2 Selenium sulfide หรือ Selsun ใช้ฟอกตัว ถ้าเป็นมาก โดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออก โดยทาทั่วตัวประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรระวังอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแสบได้ ถ้าทิ้งไว้นานเกินไป และควรป้องกันการเกิดซ้ำ โดยทายาเดือนละ 1 ครั้ง 
         2.3 กลุ่มยาลอกขุย( Keratolytic agents) ได้แก่ Whitfield's ointment,ขี้ผึ้งเบอร์ 28 โดยจะทำให้ผิวหนังลอกออก แล้วเชื้อราหลุดออกไป มีข้อดีคือ ราคาถูก แต่ก็ทำให้เกิดรอยคล้ำดำ จากการอักเสบได้ ( Post-inflammatory hyperpigmentation) 
        3. ยารับประทานฆ่าเชื้อรา มักใช้ใน กรณีที่เป็นมาก หรือ มีบริเวณกว้าง การทาครีมอาจจะไม่ทั่วถึง เช่น ภาวะโรคเกลื้อนทั่วไปที่หลัง และลำตัว 
         3.1 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Ketoconazole (Nizoral) 200 มก. วันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 10-14 วัน และป้องกันการเกิดซ้ำ ด้วยการรับประทานยา เดือนละ 1 ครั้งในขนาด 400 มก. หรือ 200 มก.ติดต่อกัน 3 วันต่อเดือน 
         3.2 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Itraconazole (Spiral=100 Mg./แคบซูล) การรักษาแนะนำให้รับประทาน ขนาด 200 มก.ต่อวัน เป็นเวลานาน 5 วัน 
         3.3 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Griseofulvin (Fulvin) ,Terbinafine (Lamisil) ได้ผลไม่ค่อยดีนักในการรักษาโรคเกลื้อน 
    เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่โดย นพ.จรัสพล รินทระ .......................6 July,2005

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=8&sdata=&col_id=74

อัพเดทล่าสุด